การทำ PRP (Pan Retina Photocoagulation) เป็นการยิงแสงเลเซอร์ไปที่ผิวจอประสาทตา เพื่อให้เกิดแผลเป็นและหยุดการงอกของเส้นเลือดใหม่ เป็นทางเลือกหนึ่งในการรักษาภาวะเส้นเลือดในตาแตกหรืออุดตัน เช่น ในกลุ่มผู้ป่วยเบาหวานที่มีภาวะแทรกซ้อนเบาหวานขึ้นตา เป็นต้น
วัตถุประสงค์ในการทำ PRP
- เพื่อรักษาโรคในกลุ่มของจอประสาทตาฉีกขาด ( มักพบในกลุ่มคนที่มีสายตาสั้น )
- เพื่อรักษากลุ่มเส้นเลือด แตก/ อุดตัน/ งอกในจอประสาทตา ( โรคที่เกิดจากตัวเส้นเลือดแตกหรืออุดตัน ซึ่งมาจากภาวะความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น SLE )
(กรณีที่เกิดความเสี่ยงหรือพบรอยโรคแล้ว คนไข้จำเป็นต้องรักษาด้วยการยิงเลเซอร์)
หากไม่รักษา อาจเกิดความเสี่ยงรุนแรงถึงตาบอด
- กรณีจอประสาทตาฉีกขาด หากไม่รักษา จอประสาทตาจะฉีกขาดเป็นรูใหญ่ หรือมีน้ำวุ้นลูกตาซึมเข้าไปในจอประสาทตาทางรูที่ฉีกขาด ทำให้จอประสาทตาหลุดลอกมากจนเป็นสาเหตุของการสูญเสียการมองเห็น
- กรณีมีเส้นเลือดงอกแตกหรืออุดตัน หากไม่รักษาอาจเกิดภาวะเลือกออกในตา(เส้นเลือดแตก) ภาวะต้อหินรุนแรง (เส้นเลือดอุดตัน) จนเป็นสาเหตุของการสูญเสียการมองเห็น
วิธีการทำ PRP
- หยอดยาขยายรูม่านตา ประมาณ 30 -60 นาที เพื่อเตรียมม่านตาก่อนทำเลเซอร์
- หยอดยาชา
- นั่งหน้าเครื่องเลเซอร์ วางคางลงบนตำแหน่งที่พักคาง แพทย์วางเลนส์บนผิวกระจกตา ( ผู้ป่วยเบิกตาให้กว้างและค้างไว้ )
- แพทย์ยิงแสงเลเซอร์ผ่านไปบนเลนส์ ใช้เวลาประมาณ 10-20 นาที ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค(อาจมีอาการเจ็บเล็กน้อยในบางราย ขึ้นกับผิวจอประสาทตาในแต่ละคนและแต่ละโรคที่เป็น)
การปฏิบัติตัวของผู้ป่วย
ก่อนทำ
- ไม่ต้องงดยากลุ่มที่ทำให้เลือดออกง่าย เช่น ยาละลายลิ่มเลือด ยาแก้ปวดกลุ่ม NSAID ยาหรืออาหารเสริมที่มี Omega3 วิตามินอี ยาสมุนไพร ( โสม, เห็ดหลินจือ )
- งดการขับรถมา เนื่องจากหลังทำตาจะมัว(จากฤทธิ์ของยาขยายม่านตา) ควรมีเพื่อนมาด้วย เพื่อความปลอดภัยในการเดินทางกลับ
หลังทำ
- งดเล่นกีฬาที่อาจเกิดความรุนแรงหรือกระทบกระเทือนดวงตาเป็นเวลา 1 เดือน
- มาพบแพทย์ตามนัดต่อเนื่องเพื่อติดตามอาการหลังยิงเลเซอร์อย่างใกล้ชิด ( ป้องกันมีรอยโรคเพิ่มจากโรคที่เป็นสาเหตุเดิม )
- ใช้ชีวิต ประกอบกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ โดนน้ำได้ ทานอาหารได้ตามปกติ
อาการข้างเคียงที่อาจพบได้
- ปวดตาตุ๊บ ๆ (มีโอกาสพบได้เล็กน้อย)
- มีอาการตามัวเท่าก่อนยิงเลเซอร์ หรือดีขึ้นภายหลังหลายเดือน ขึ้นกับโรคที่เป็นในแต่ละคน ซึ่งการรักษาต้องใช้เวลาและทำหลายครั้ง( อย่างน้อยทำเพื่อป้องกันการสูญเสียการมองเห็นถาวร และลดปัญหาการเกิดภาวะต้อหินรุนแรง)
[Total: 0 Average: 0]