คุณเคยมีคำถามคาใจไหมว่า ทำไมแปรงฟันทุกวัน แต่ก็ยังมีอาการเหล่านี้
- มีคราบเศษอาหารติดฟัน(ขี้ฟัน)ฟันผุ
- มีหินปูน เหงือกอักเสบ
ไปพบทันตแพทย์ทีไร หมอก็บอกว่ายังแปรงฟันไม่ดี ก็เราแปรงวันละ 2 รอบ เช้า-เย็น แล้วนะ บางที 4 ครั้ง หลังอาหาร เช้า-กลางวัน-เย็น-ก่อนนอน เหมือนกินยาเลย มันต้องมีอะไรที่เราพลาดไปแน่ๆเลย… ใครรู้คำตอบ ช่วยบอกที
การทำฟันให้สะอาดนั้น ควรจะเริ่มต้นที่ว่า ต้องประกอบด้วย 2 ส่วน คือ การแปรงฟัน และการใช้ไหมขัดฟัน
การแปรงฟัน
การแปรงฟันก็มีรายละเอียดบางอย่างที่ควรรู้ คือ
- ต้องมีระยะเวลาที่เหมาะสม คือ 2-3 นาที
- ไม่ควรแปรงฟันทันทีหลังทานอาหารเปรี้ยว เช่น น้ำส้ม เพราะหลังทานอาหารเปรี้ยวผิวฟันจะอ่อนแอชั่วคราว ถ้าแปรงทันทีฟันจะสึกง่าย ควรแปรงฟันหลังจาก 20-30 นาทีไปแล้วจะดีกว่า
- ถ้าไม่มีเวลามากนัก การแปรงฟันครั้งที่สำคัญที่สุดในแต่ละวันคือก่อนนอน เพราะช่วงตอนนอนปากจะปิด และน้ำลายจะไหลน้อยลง ถ้าช่องปากสกปรกเชื้อโรคก็จะเจริญเติบโตได้ดี ทำให้มีกลิ่นปากในตอนเช้า แต่ถ้าสะอาด ก็จะสะอาดนาน มีกลิ่นปากน้อย เพราะเราก็ไม่ได้กินอาหารตอนนอน ส่วนตอนเช้าถ้าเราแปรงแล้วไม่นานเราก็ต้องทานอาหาร ก็จะเริ่มสกปรกใหม่ เหมือนถังขยะ ถ้าเปิดเรื่อยๆจะไม่เหม็นมาก แต่ถ้าปิดฝาแล้วเปิดตอนเช้า คงนึกภาพออกว่าเหม็นเน่าแค่ไหน เอ ถ้าอย่างนั้นแปรงหลังอาหารทุกมื้อเลยดีไหม คำตอบคือสามารถทำได้ ถ้าไม่มีปัญหาว่าแปรงมากเกินไปจนทำให้เหงือกร่น คอฟันสึก ซึ่งในเด็กเล็กส่วนใหญ่จะไม่มีปัญหานี้ จึงสามารถทำได้ในเด็กเล็ก
- แปรงฟันไม่ทั่วถึง บางทีเราแปรงฟันได้สะอาดมาก แต่ลืมบางบริเวณ เช่น ซี่สุดท้าย หรือด้านลิ้น
- แปรงฟันในแต่ละบริเวณไม่เท่ากัน เช่น แปรงด้านแก้ม (ด้านนอก) 3 ครั้ง แต่แปรงด้านลิ้น (ด้านใน) 1 ครั้ง
ค่าความเป็นกรด-ด่างของน้ำลาย
ถ้าน้ำลายค่อนไปทางกรด (pH 6.1-6.3) ฟันจะผุง่าย เพราะเชื้อโรคที่ทำให้ฟันผุเจริญเติบโตได้ดีในสภาวะกรด แต่ต้องมีคราบเศษอาหารที่ติดฟันเป็นอาหารให้มันด้วยนะ พอมีคราบเศษอาหารที่ติดฟันเป็นอาหารเชื้อโรคก็จะผลิตกรดออกมามากขึ้น ทำให้มีการละลายแคลเซียมออกจากผิวฟัน ทำให้ฟันนิ่ม และผุในที่สุด
ถ้าน้ำลายค่อนไปทางด่าง (pH 7-7.3) จะมีหินปูนง่าย เพราะในสภาวะด่างแคลเซียมในน้ำลาย ซึ่งปกติจะเข้าไปในผิวฟันทำให้ฟันแข็งแรง ก็จะตกตะกอนที่ขี้ฟัน กลายเป็นหินปูนแทน คนส่วนใหญ่มีหินปูนที่ฟันหน้าล่างมากที่สุด เพราะรูเปิดของท่อน้ำลายที่อยู่ใต้ลิ้น พุ่งตรงมาที่บริเวณนี้ จึงมักเกิดการตกตะกอนได้ง่ายในบริเวณนี้ก่อน หลังจากนั้นความเข้มข้นของแคลเซียมลดลง การตกตะกอนก็น้อยลง ยิ่งไม่ได้ใช้งานฟันหน้า (ฟันหน้าใช้ฉีก ตัดอาหาร) ก็ยิ่งมีหินปูนมากกว่าใช้งาน เนื่องจากการเคี้ยวข้าว(การใช้งาน)เป็นการทำความสะอาดฟันตามธรรมชาติอีกวิธีหนึ่ง (ถ้าใครเคยมีแผลในปาก ทำให้เคี้ยวข้างนั้นไม่ได้ จะรู้เลยว่าข้างที่ไม่ได้ใช้งานจะรู้สึกสกปรกกว่าข้างที่ใช้งานปกติ)
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ถ้าเราทำความสะอาดฟันได้ดี ไม่มีคราบเศษอาหารที่ติดฟันไม่ว่า pH ในปากจะเป็นเท่าใดก็ไม่มีปัญหาจ้า
การกินจุบจิบ
ทุกครั้งที่กินอาหาร ค่า pH จะลดลงเป็นกรด ทำให้มีการละลายของแคลเซียมออกจากผิวฟัน (Decalcification) แล้ว pH ก็จะค่อยๆเพิ่มจนถึงระดับปกติภายใน 1 ชั่วโมง แล้วแคลเซียมจากน้ำลายก็จะกลับเข้าไปสะสมที่ผิวฟัน (Recalcification) ตราบใดที่กระบวนการนี้สมดุล คือ ละลาย เท่ากับ สะสม ก็จะไม่มีปัญหา แต่ถ้าเสียสมดุล คือ ละลาย มากกว่า สะสม เป็นระยะเวลานานก็จะเกิดฟันผุ ดังนั้นถ้าใน 1 วัน เรากินอาหาร 3 มื้อ ก็จะเกิดเหตุการณ์นี้ 3 ครั้ง ถ้ากินจุบจิบ pH ยังไม่ทันจะเข้าสู่ระดับปกติ ก็กินอีก pH ก็ลดลง พอ pH เพิ่มจะเข้าสู่ระดับปกติ ก็กินอีก ทำให้ในปากมีสภาวะเป็นกรดตลอดเวลา ฟันก็จะผุได้ง่าย ดังนั้นถ้าชอบกินขนมก็กินหลังกินข้าวทันทีให้จบเป็นมื้อๆไปจะดีกว่านะจ๊ะ
แปรงสีฟันหมดประสิทธิภาพ
- โดยเฉลี่ยควรเปลี่ยนแปรงทุก 3 เดือน ถึงแม้ว่าแปรงจะยังไม่บาน เพราะช่วงแรกขนแปรงจะมีความยืดหยุ่น (สปริงตัว) ได้ดี แต่พอนานไป จะเริ่มไม่มีความยืนหยุ่น ประสิทธิภาพการทำความสะอาดจะลดลง ถ้าเป็นคนช่างสังเกต จะรู้สึกได้เลยว่าแปรงฟันเหมือนเดิม แต่รู้สึกว่าไม่สะอาด ถ้าตรวจสอบดู อาจจะพบว่าแปรงสีฟันนี้ใช้มาเกิน 3 เดือนแล้วค่ะๆ
- ไม่ควรเก็บแปรงในภาชนะปิด เพราะว่าความชื้นทำให้แบคทีเรียที่ขนแปรงเจริญได้ดีกว่า เก็บแปรงในที่ภาชนะเปิด มีอากาศถ่ายเทได้ดี
- ไม่แปรงสวนทางกับเหงือก เพราะทำให้เหงือกร่น
- อย่าลืมแปรงลิ้น ช่วยลดการสะสมของแบคทีเรียที่ลิ้น และช่วยลดกลิ่นปากได้เป็นอย่างดี
- แปรงให้ครบทุกด้านของฟัน ด้านหน้า ด้านใน และด้านบดเคี้ยว ความข้นหนืดของน้ำลาย ปริมาณน้ำลาย ผลข้างเคียงของยาบางตัวจะทำให้น้ำลายน้อยลง การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน
วิธีการแปรงฟัน
ก่อนที่จะพูดเรื่องวิธีการแปรงฟัน ขออธิบายลักษณะของเหงือกและฟันก่อน เหงือกแบ่งเป็น 2 ประเภท (Biotype) คือ
- เหงือกหนา (Thick biotype) ส่วนใหญ่จะเห็นฟันเป็นรูปสี่เหลี่ยม สั้นๆ
- เหงือกบาง (Thin biotype) ส่วนใหญ่จะเห็นฟันเป็นรูปสามเหลี่ยม ยาวๆ เหงือกประเภทนี้จะร่นง่าย พอเหงือกร่น รากฟันก็จะโผล่ รากฟันเป็นส่วนที่ไม่ค่อยแข็งแรง ก็จะสึกได้จากการแปรงฟัน
วิธีแปรงฟันมีหลายวิธีมาก แต่ละวิธีก็มีข้อดีของตนเอง เช่น
การแปรงถูไปมา (Scrub technique)
การแปรงวิธีนี้เป็นที่นิยมในคนทั่วไป สาเหตุเป็นเพราะเป็นวิธีที่แนะนำในเด็กเล็ก เนื่องจากฟันน้ำนมจะสั้น ทักษะการใช้มือในเด็กเล็กก็ยังไม่มาก สามารถแปรงด้วยวิธีนี้ได้ดี (แนะนำให้ใช้ในผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 9 ปี และใช้เวลาอย่างน้อย 2 นาที) แต่ปัญหาคือ เราก็มักจะติดนิสัยการแปรงฟันวิธีนี้จนโตเป็นผู้ใหญ่ อ้าว แล้วมันไม่ดีอย่างไรล่ะ ก็ฟันผู้ใหญ่เป็นฟันแท้ ขนาดและรูปร่างก็จะแตกต่างกับฟันน้ำนม การแปรงฟันด้วยวิธีนี้ อาจเป็นสาเหตุให้เหงือกร่น คอฟันสึกได้ โดยเฉพาะคนที่มีเหงือกบาง ดังนั้นถ้าเป็นฟันแท้ แล้วเริ่มมีลักษณะเหงือกร่นคอฟันสึก ก็ควรเปลี่ยนวิธีแปรงฟันได้แล้วค่ะ
แปรงปัดขึ้นลง
แต่เป็นการแปรงหนีเหงือกนะ คือ ฟันบนปัดลง ฟันล่างปัดขึ้น วิธีนี้เป็นวิธีที่สอนในโรงเรียนประถมศึกษา เป็นการฝึกทักษะเบื้องต้นก่อนเปลี่ยนเป็นวิธีอื่นต่อไป
Bass’ technique
จะคล้ายการแปรงแบบถูไปมา แต่ถูสั้นกว่า (Short stroke) เอียงขนแปรงทำมุม 45 องศา วางเริ่มจากขอบเหงือก ถูด้วยจังหวะสั้นๆ เหมือนนวดเหงือก แนะนำให้ใช้ในผู้ที่มีอายุ 10-15 ปี ใช้เวลาอย่างน้อย 3 นาที
การแปรงแบบขยับบิด (Modified Bass’ technique)
จะคล้ายแบบ Bass’ technique ผสมกับแบบปัดขึ้นลง คือ เอียงขนแปรงทำมุม 45 องศา วางเริ่มจากขอบเหงือก ถูด้วยจังหวะสั้นๆ เหมือนนวดเหงือก แล้วบิดข้อมือปัดหนีเหงือกไปทางปลายฟัน ทันตแพทย์นิยมสอนวิธีนี้ เนื่องจากการแปรงเบาๆจะไม่ทำให้คอฟันสึก-เหงือกร่น แล้วยังกำจัดคราบเศษอาหารได้ด้วย แต่ถ้าใช้แรงในการแปรงฟันมากเกินไปจะทำให้ฟันสะอาด แต่ก็ทำให้คอฟันสึก-เหงือกร่นได้ (ในทางกลับกันถ้ากลัวคอฟันสึก-เหงือกร่น ไม่กล้าแปรง ก็จะมีขี้ฟันทำให้เหงือกอักเสบ-ร่นได้ หรืออาจทำให้ผิวฟันนิ่ม-ผุได้)
Roll technique
เริ่มจากเอียงขนแปรงทำมุม 45 องศา วางเริ่มจากขอบเหงือกแล้วหมุนวนเป็นวงกลม เปลี่ยนซี่ไปเรื่อยๆ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นบางวิธีอาจจะดี แต่อาจจะไม่เหมาะกับเราก็ได้ ดังนั้นถ้าแปรงวิธีไหนแล้วไม่มีปัญหาฟันผุ-มีเศษอาหารติดฟัน เหงือกอักเสบ-มีหินปูน ก็ใช้ได้แล้ว อ้อ แต่ถ้าพยายามถึงที่สุดแล้วยังมีปัญหาอยู่ ลองปรึกษาทันตแพทย์เพิ่มได้นะคะ เพราะหมอจะเห็นปัญหาในช่องปากอย่างชัดเจนว่า บริเวณใดมีเศษอาหารติด ทำความสะอาดฟันได้ไม่ดี และสามารถจะให้คำแนะนำเพิ่มเติมได้
การใช้ไหมขัดฟัน
การใช้ไหมขัดฟัน จะช่วยทำความสะอาดซอกฟัน ซึ่งการแปรงฟันเพียงอย่างเดียวไม่สามารถทำความสะอาดซอกฟันได้เพียงพอ แปรงฟันอย่างเดียวทำความสะอาดฟันได้แค่ประมาณ 60% บางคนบอกว่าทุ่มเทให้กับการแปรงฟันมาก ทำทุกวิถีทางแล้ว แต่ก็ยังมีปัญหา แต่อันที่จริงแล้ว ลืมใช้ไหมขัดฟัน เหมือนกับว่าเกาไม่ถูกที่คัน ปัญหาจึงยังมีต่อไป
วิธีการใช้ไหมขัดฟัน ก็มี 2 แบบ คือ
แบบเส้น
ดึงไหมขัดฟันให้ยาวประมาณ 12-20 นิ้ว แรกๆใช้ยาวหน่อย แต่ถ้าชำนาญแล้วก็อาจใช้สั้นลง ลองค่อยๆปรับได้ ใช้นิ้วกลางพันไหมขัดฟัน โดยให้พันทบไขว้ปลาย เพื่อที่จะได้ไม่ลื่นหลุดง่าย นิ้วโป้งกับนิ้วชี้จับเพื่อบังคับทิศทาง โดยระยะระหว่างนิ้วโป้งกับนิ้วชี้ไม่เกิน 1 นิ้ว การใช้ไหมขัดฟัน จะลงไปทำความสะอาดในร่องเหงือกได้ โดยโอบโค้งรอบฟัน (C-shape) ให้มากที่สุด ไม่ดึงเป็นเส้นตรง แล้วขยับเหมือนเลื่อย (saw motion) ดึงมาทางปลายฟัน 1 ซอกฟัน มี 2 ซี่ ถ้าเป็นซี่ที่ไม่มีฟันชิดกัน เช่น ซี่สุดท้าย ก็ต้องใช้ไหมขัดฟันทำความสะอาดในร่องเหงือกด้วย หากไหมเริ่มแตก ก็ให้เปลี่ยนบริเวณ สามารถใช้ไหมขัดฟันได้ตลอดทั้งเส้น
แบบวงกลม
ใช้ไหมขัดฟันยาวประมาณ 12 นิ้ว ผูกปมตรงปลายให้เป็นวงกลม ถ้ายาวเกินไป สามารถใช้นิ้วกลางพันเพื่อให้สั้นลงได้ ใช้นิ้วโป้งกับนิ้วชี้จับเพื่อบังคับทิศทางเหมือนแบบเส้นตรง
ควรพบทันตแพทย์ปีละ 1-2 ครั้ง ขึ้นอยู่กับความสามารถในการดูแลสุขภาพช่องปากของแต่ละคน เนื่องจากถ้าดูแลตัวเองไม่ค่อยดี ควรมาทุก 6 เดือน (กรณีปกติ) ทุก 3 เดือน (กรณีที่มีความเสี่ยงสูง) แต่ถ้าแปรงฟันและใช้ไหมขัดฟันได้ดี สามารถเลื่อนเวลาในการพบทันตแพทย์ออกไปได้เป็นทุก 1 ปี เนื่องจากถ้ามีจุดอ่อนที่เราทำได้ไม่ดี อาจมีฟันผุ ซึ่งถ้ามาทุกปี อาจจะเป็นฟันผุในระยะต้น มักจะแก้ไขได้ง่าย แต่ถ้านานๆมาที ยิ่งถ้ามาเมื่อปวดแล้วละก็ การรักษามักจะซับซ้อน ใช้เวลาในการรักษานาน ค่าใช้จ่ายก็จะสูงมากขึ้นตามไปด้วยค่ะ ควร X-ray เพื่อตรวจหาฟันผุซอกฟันทุก 1-2 ปี ขึ้นอยู่กับความเสี่ยงของปากนั้นๆ
One thought on “ฟันผุ: แปรงฟันทุกวันทำไมยังเสี่ยงและวิธีแปรงฟัน/ขัดฟัน (แบบละเอียด)”