การตรวจปัสสาวะเป็นการตรวจขั้นพื้นฐานที่จำเป็นและง่ายที่สุดในการประเมินหน้าที่ของไตอย่างคร่าว ๆ การเก็บปัสสาวะเพื่อส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ มีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจสารในปัสสาวะหรือเพาะเชื้อ วิธีเก็บปัสสาวะจะต้องเก็บอย่างถูกต้อง เก็บใน ภาชนะที่เหมาะสม (แห้งและสะอาด) อาจเป็นขวดแก้วหรือขวดพลาสติก มีช่วงเวลาในการเก็บและใช้สารรักษาสภาพที่เหมาะสม ซึ่งถือว่ามีความสำคัญต่อการส่งตรวจอย่างมาก เวลาที่เหมาะสมสำหรับการเก็บปัสสาวะ คือ เวลาหลังตื่นนอนตอนเช้าซึ่ง เป็นเวลาเก็บปัสสาวะครั้งแรกก่อนรับประทานอาหารและเครื่องดื่ม (เพราะปัสสาวะมีความเข้มข้นสูง) การเก็บปัสสาวะที่ถูกวิธี มีดังนี้
- วิธีเก็บปัสสาวะ นิยมเก็บช่วงกลาง ๆ (Midstream urine ) ของการถ่ายปัสสาวะโดยให้ผู้ป่วยทำความสะอาดบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ภายนอกก่อนหรือบอกให้ผู้ป่วยล้างก้นด้วยน้ำและสบู่แล้วใช้กระดาษซับให้แห้ง ผู้ชายให้ร่นหนังหุ้มปลายองคชาต (Prepuce) ขึ้น ส่วนผู้หญิงให้ใช้นิ้วมือแยกหรือแหวกแคมทั้งสองข้างให้แยกจากกันระหว่างถ่ายปัสสาวะ แล้วถ่ายปัสสาวะในช่วงแรกทิ้งเล็กน้อย จึงเริ่มเก็บปัสสาวะในช่วงกลางโดยไม่หยุดถ่ายลงในภาชนะ แล้วถ่ายปัสสาวะในช่วงสุดท้ายทิ้งไปไม่ควรตั้งปัสสาวะทิ้งไว้นานกว่าครึ่งชั่วโมงเพราะจะมีแบคทีเรียเพิ่มขึ้น และ pH จะกลายเป็นด่าง คาส (Cast) และเซลล์อาจสลายตัวได้ทำให้ตรวจไม่พบ
- ภาชนะที่ใช้เก็บปัสสาวะ เป็นภาชนะที่แห้งสะอาด ปราศจากสิ่งปนเปื้อนต่าง ๆ มีปากกว้างและมีฝาปิดมิดชิด ควรเป็นชนิดที่ใช้แล้วทิ้งเป็นภาชนะที่ใส ไม่มีสีเพื่อดูสีและความขุ่นของปัสสาวะได้สะดวกแต่ถ้ามีการตรวจสารบางชนิดที่สลายตัวเมื่อถูกแสง เช่น น้ำดียูโรบิลิโนเจน พอร์ไฟริน ควรใช้ขวดสีน้ำตาลเพื่อป้องกันแสง ส่วนขนาดของภาชนะที่ใช้ในการเก็บปัสสาวะขึ้นอยู่กับปริมาณของปัสสาวะหากเป็นการเก็บปัสสาวะครั้งเดียวใช้ภาชนะที่มีความจุประมาณ 50 – 100 มิลลิลิตร หากเป็นการเก็บปัสสาวะ 24 ชั่วโมง ใช้ภาชนะที่มีความจุประมาณ 1 แกลลอน
- ภาชนะที่ใช้เก็บปัสสาวะเพื่อการเพาะเชื้อแบคทีเรียจะต้องเป็นภาชนะที่ผ่านการฆ่าเชื้อมีฝาปิดมิดชิดและต้องไม่มียาฆ่าเชื้อ ขนาดความจุไม่น้อยกว่า 20 มิลลิลิตร
[Total: 4 Average: 4]