น้ำเชื้อหรือน้ำอสุจิ (semen) ที่หลั่งออกมาจากอวัยวะเพศชาย ประกอบด้วย 2 ส่วนคือ
- ส่วนที่เป็นเซลล์ ได้แก่ ตัวอสุจิ (spermatozoa) เซลล์เยื่อบุ และเม็ดเลือดขาว
- ส่วนที่เป็นของเหลว (seminal fluid) ซึ่งจะมีสารต่างๆ เป็นส่วนประกอบเพื่อหล่อเลี้ยงตัวอสุจิ เช่น สังกะสี (zinc) ฟลาวีน (flavine) กรดซิตริค (citric acid) เป็นต้น
ในบางราย เช่น ชายที่เป็นหมันจะไม่มีการสร้างตัวอสุจิแต่ยังคงมี seminal fluid หรือน้ำกามอยู่ เรียกว่า (azoospermia) หรือมีตัวอสุจิแต่น้อยเรียกว่า (oligozoospermia) สำหรับคู่สมรสที่ไม่ได้คุมกำเนิดและมีเพศสัมพันธ์ตามปกติคือ 3-4 ครั้ง/สัปดาห์ภายใน 1 ปี หรือ 6 เดือนในรายที่ฝ่ายหญิงมีอายุมากกว่า 35 ปี แล้วไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ ถือว่ามีความเหมาะสมที่ฝ่ายชายจะมาตรวจวิเคราะห์น้ำเชื้อเพื่อหาสาเหตุการมีบุตรยากน้ำอสุจิที่ดีต้องเป็นอย่างไร? ตามหลักเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก (WHO, 2010) เกณฑ์ของการวิเคราะห์น้ำอสุจิที่ถือว่าปกติมีดังต่อไปนี้
- ปริมาตร : 1.5 – 5.0 มิลลิลิตร
- ความหนาแน่นของตัวอสุจิ : > 15 ล้านตัวต่อมิลลิลิตร
- จำนวนตัวอสุจิทั้งหมด : > 39 ล้านตัว
- การเคลื่อนไหวของตัวอสุจิ : > ร้อยละ 40
- รูปร่าง ลักษณะ : มีตัวอสุจิที่มีรูปร่างลักษณะปกติ มากกว่า ร้อยละ 14 เมื่อใช้ Strict criteria
น้ำอสุจิไม่ผ่านเกณฑ์จะท้องได้หรือไม่?
ท้องได้แต่อาจไม่ใช่วิธีธรรมชาติ เนื่องจากการตั้งครรภ์ด้วยการมีเพศสัมพันธ์ตามปกติต้องมีตัวอสุจิที่หลั่งไปที่ช่องคลอดอย่างน้อย 10-15 ล้านตัวจึงจะเพียงพอเข้าไปปฏิสนธิกับเซลล์ไข่บริเวณปีกมดลูกได้
น้ำอสุจิไม่ผ่านเกณฑ์จะต้องทำอย่างไร?
ภาวะมีบุตรยากที่มีสาเหตุจากฝ่ายชายปัจจุบันสูงถึงร้อยละ 20 ของสาเหตุทั้งหมด ปัจจัยสำคัญ ร้อยละ 85 ในกลุ่มนี้คือความผิดปกติทั้งในเรื่องของปริมาณ การเคลื่อนไหวและรูปร่างของตัวอสุจิ การมารับคำปรึกษา ตรวจร่างกายและการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม ทำให้สามารถทราบสาเหตุและเลือกเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ที่เหมาะสมเพื่อให้ตั้งครรภ์ได้สำเร็จ
มีเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์อะไรบ้างที่ช่วยรักษาสาเหตุจากฝ่ายชายที่มีความผิดปกติของอสุจิ?
วิธีการรักษาจะขึ้นอยู่กับสาเหตุของความผิดปกติยกตัวอย่างดังต่อไปนี้
- IVF; in vitro fertilization-การทำเด็กหลอดแก้ว
- ICSI; intracytoplasmic sperm injection-การปฏิสนธิด้วยวิธีการนำตัวอสุจิไปฉีดเข้าเซลล์ไข่โดยตรง
- SURGICAL SPERM RETRIEVAL (SSR)-การผ่าตัดเก็บอสุจิจากลูกอัณฑะหรือท่อนำอสุจิ
- PESA (Percutaneous epididymal sperm aspiration)
- TESE (Testicular sperm extraction)
มีคำแนะนำการปฏิบัติตัวสำหรับผู้ที่เตรียมพร้อมสำหรับมีบุตรอย่างไรบ้าง?
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ รวมทั้ง passive smoking (การอยู่ใกล้คนที่สูบบุหรี่เป็นเวลานานๆ)
- หลีกเลี่ยงภาวะที่มีผลเสียต่อการสร้างอสุจิ เช่น ความร้อน สารเคมี โดยไม่จำเป็น
- ในรายที่พบว่ามีการอักเสบติดเชื้อบริเวณอวัยวะเพศหรือระบบทางเดินปัสสาวะควรได้รับการตรวจรักษาจากแพทย์
- การใช้สาร antioxidant เช่น วิตามิน E, วิตามิน C, Zn และ Se อาจมีผลทำให้ sperm function ดีขึ้น
หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับภาวะมีบุตรยาก สามารถปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อวางแผนการดูแลรักษาและแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุดและมีประสิทธภาพ