Mouse (마우스 2021) ซีรีส์เกาหลี 20 ตอนจบ ที่เพิ่งปิดฉากไปหมาด ๆ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ด้วยพล็อตที่กดดันคนดูอย่างหนักและไม่ลดละในการหักมุมชนิดที่เรียกว่าหักแล้วหักอีก ซับซ้อนจนเหวอตาแตก ทำคนดูหัวใจแหลกสลายสาหัสเมื่อรู้ว่าฆาตกรตัวจริงคือใคร!?
Mouse ซีรีส์ล่าสุดของนักร้องนักแสดงหนุ่มมาดกวน อีซึงกิ จาก A Korean Odyssey (2017–2018), Vagabond (2019) แต่ Mouse คือผลงานชิ้นแรกตลอดชีวิตการแสดงของ อีซึงกิ ที่ผ่านมา 17 ปีที่ได้เรต-R ด้วยฉากความรุนแรงและฆาตกรรม ซึ่งทำให้ซีรีส์นี้นอกจากจะสมจริงแล้วยังเพิ่มแรงกดดันให้คนดูลุ้นระทึกทุกนาที
เมื่อ 20 ปีก่อน เกิดเหตุฆาตกรรมโดยฆาตกรต่อเนื่องที่ถูกระบุว่าเป็นไซโคพาธ 20 ปีต่อมาในปัจจุบันกลับเกิดเหตุซ้ำรอยอีก ทั้งที่ฆาตกรเมื่อ 20 ปีก่อนถูกจับตัวได้แล้ว หรือนี่จะเป็นฆาตกรเลียนแบบ ที่ทำให้ตำรวจสายตรวจมือใหม่ จองบารึม (อีซึงกิ 이승기) จับผลัดจับผลูมาร่วมสืบคดีกับรุ่นพี่ตำรวจสายสืบ โกมูจี (อีฮีจุน 이희준 จาก Mistress-2018, The Legend of the Blue Sea-2016)
ไซโคพาธ คืออะไร?
เว็บไซต์ของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุขของไทย ระบุว่า ไซโคพาธ (psychopaths) เป็นบุคคลที่มีอาการของโรคบุคลิกภาพผิดปกติแบบต่อต้านสังคม (Antisocial Personality Disorder) โดยมีลักษณะ ขาดความเห็นใจผู้อื่น, ขาดความสำนึกผิด, ความรู้สึกด้านชาไม่เกรงกลัว, ขาดความยับยั้งชั่งใจ และ เอาตัวเองเป็นจุดศูนย์กลาง
นอกจากนี้ยังมีผู้ป่วยอีกกลุ่มหนึ่งที่ใกล้เคียงกับ ไซโคพาธ แต่จัดอยู่ในกลุ่มที่เรียกว่า โซซิโอพาธ (Sociopaths) เดิมทีนักจิตวิทยาหลายคนบอกว่า 2 คำนี้มีความหมายเหมือนกัน เนื่องจากคำว่า Psychopaths เป็นศัพท์ดั้งเดิมตั้งแต่ยุค30s ส่วน Sociopaths เป็นศัพท์บัญญัติใหม่ ใช้ในตำราใหม่ แต่ยังคงเป็นโรคเดียวกัน คือ ความไม่รู้สึกรู้สาอาทรใคร และโดดเดี่ยว แต่เพราะ โซซิโอพาธ ฟังดูสวยกว่า เพราะให้ความรู้สึกถึงพวกต่อต้านสังคม ขณะที่คำว่า ไซโคพาธ แปลตรงตัวว่า โรคจิต
แต่หากค้นลึกลงไปจริงๆ แล้วทั้ง 2 มีความแตกต่างกันไม่น้อย เพราะโซซิโอพาธ จะเข้าสังคมไม่ได้ ไม่ชอบเข้าสังคมอย่างชัดเจน อยู่ร่วมกับคนอื่นยาก ขี้เบื่อ อยู่ที่ไหนนานไม่ได้ ขณะที่ไซโคพาธ แม้จะไม่ชอบอยู่ร่วมกับคนอื่น แต่พวกเขาสามารถเสแสร้งเพื่อปรับตัวให้เข้ากับสังคมได้ และหากผู้ป่วย 2 แบบนี้ต้องการจะฆาตกรรมใคร โซซิโอพาธ จะกระทำความรุนแรงโดยเฉียบพลัน คือ ไม่ได้วางแผนล่วงหน้าเอาไว้ก่อน แต่ก่อเหตุรุนแรงตามอารมณ์ที่พุ่งพล่าน ขณะที่พวกไซโคพาธ จะวางแผนระยะยาวอย่างมีเหตุมีผลเป็นรูปธรรม และอย่างต่อเนื่อง
นั่นเองบุคลิกแบบไซโคพาธจึงชวนหลงใหล เพราะพวกเขามีเสน่ห์ มีความซับซ้อน รู้จักหว่านล้อมคน ทำให้ในปัจจุบันมักจะหยิบบุคลิกเหล่านี้มาเป็นตัวละครในซีรีส์หลายต่อหลายเรื่อง อาทิ Dexter (2006-2013) หนุ่มนักตรวจการกระจายเลือดในที่เกิดเหตุ เขามีอีกด้านเป็นฆาตกรต่อเนื่องที่มุ่งฆ่าแต่ฆาตกรเท่านั้น, Hannibal (2013-2015)
ดร.เล็คเตอร์คุณหมอรสนิยมวิไลแต่เป็นไซโคพาธ ต้องการหาคู่แท้ที่เขาคิดว่าน่าจะปั้นได้คือ วิลล์ แกร์ม นักวิเคราะห์อาชญากรรมผู้มีอาการอัจฉริยะแบบแอสเพอร์เกอร์, Hello Monster (2015) ซีรีส์เกาหลีเมื่อพี่ น้องชาย ชายที่คนน้องมีอาการไซโคพาธ และถูกไซโคพาธอีกรายเก็บไปชุบเลี้ยง ก่อนที่พี่ชายจะพยายามทุกทางให้เขากลับมาเป็นมนุษย์ปกติ, Killing Eve (2018-ปัจจุบัน) เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยหญิงชาวเอเชียน จู่ๆ ได้รับมอบหมายภารกิจไล่ล่าไซโคพาธหญิงนักฆ่ามือฉมัง แต่ความพลิกผันคือความผูกพันของพวกเธอทั้งคู่ที่คนดูเดาไม่ออกว่าแค้นหรือรัก, Flower of Evil (2020) ไซโคพาธหนุ่มผู้พยายามปรับตัวเข้าสังคมด้วยการมีลูกมีเมีย ทว่าเมียของเขาเป็นตำรวจหญิงช่างสังเกต
ยีนไซโคพาธมีอยู่จริง!!
ใน Mouse มีการพูดถึง แดเนียล ลี (โจแจยุน 조재윤) นักวิทยาศาสตร์ชาวเกาหลีผู้เข้าชิงรางวัลโนเบลและพบว่า ไซโคพาธ สืบทอดทางพันธุกรรมได้ ฟังดูเหลือเชื่อ แต่ความเชื่อนี้เป็นจริง เพียงแต่ผู้ค้นพบสิ่งนี้ไม่ใช่คนเกาหลี แต่เป็น จิม เฟลลอน นักประสาทชีววิทยา (neurobiologist) ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนีย ให้ข้อมูลกับสำนักข่าว BBC ว่า ไซโคพาธ มีจำนวนสูงถึงในทุกๆ 100 คน จะมีไซโคพาธแฝงตัวอยู่ 1 คน พวกเขามีสมองส่วนที่เรียกว่า อมิกดาลา (amygdala – มีลักษณะคล้ายเมล็ดอัลมอนด์ อยู่กึ่งกลางใกล้ฐานสมองเชื่อมโยงกับความรู้สึกกลัว) เล็กกว่าคนทั่วไป
ตลอด 35 ปี ของศาสตราจารย์เฟลลอนศึกษาด้านพฤติกรรม โดยอิงกับพันธุกรรมที่ผ่านสื่อประสาท เช่น โดปามีน เขาขึ้นพูดในเท็ดทอล์ค ในปี 2009 ว่า “ด้วยเหตุผลสักอย่างผมสนใจเรื่องอื่นเมื่อไม่นานนี้เอง เมื่อเพื่อนร่วมงานขอให้ผมวิเคราะห์สมองจำนวนหนึ่งของฆาตกรโรคจิต(psychopathic killer)
…จากสมองบางส่วนที่ผมศึกษามา ผมไม่รู้หรอกว่าผมกำลังมองหาอะไร มันเป็นการทดสอบแบบอำพรางคือ ในบรรดาตัวอย่างเหล่านี้จะคละกับสมองของคนปกติเข้าไปด้วย ผมได้ข้อมูลตัวเลขมาจากสมองจำนวนราว 70 คน เราวิเคราะห์ตามทฤษฎีบนพื้นฐานของพันธุกรรม ความเสียหายของสมอง และการตอบสนองต่อภาวะแวดล้อม และตรงนี้เองเราได้ค้นพบวิธีที่สร้างฆาตกรโรคจิตขึ้นมา เรารู้ว่ามันอยู่จุดไหนของสมอง และอะไรคือตัวแปรสำคัญ
ในที่สุดเราก็พบว่ารูปแบบที่เหมือนกันของ ฆาตกรต่อเนื่อง คือมีความเสียหายที่ออร์บิทัล คอร์เท็กซ์ อันเป็นสมองส่วนหน้าที่อยู่เหนือลูกตา ส่วนออร์บิท ส่วนภายใน และบริเวณกลีบขมับ กุญแจคือพวกเขามียีนความรุนแรงตัวหลักเหมือนๆ กัน เรียกว่ายีน MAO-A
ไซโคพาธไม่จำเป็นต้องฆ่าคนเสมอไป
ใน Mouse พยายามเหลือเกินในการสร้างความเชื่อว่า ไซโคพาธ รักใครไม่เป็น และพวกเขาคือฆาตกรต่อเนื่อง อันเป็นความเข้าใจผิดอย่างใหญ่โต เพราะ ไซโคพาธ ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะต้องเติบโตมาเป็นฆาตกรต่อเนื่องเสมอไป และอาจมีอีกมากที่ไม่เคยฆ่าใครเลย และไซโคพาธหลายคนทั้งที่เป็นฆาตกรและไม่เคยฆ่าใคร มีลูกมีเมียและรักครอบครัวอย่างบริสุทธิ์ใจ
เว็บไซต์ด้านวิทยาการและการแพทย์ เดอะ คอนเวอร์เซชั่น ในปี 2016 ได้เล่าถึงวีรบุรุษสงครามชาวออสเตรเลียในช่วงปี 1917 ทอม สคีย์ฮิลล์ ผู้ได้รับการยกย่องในนาม “กวีทหารตาบอด” เพราะในระหว่างการรบช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่เมืองกัลลิโปลี เขาเป็นผู้ส่งสัญญาณธงในจุดที่อันตรายที่สุด ก่อนจะถูกย้ายออกไปจากดงกระสุนหลังจากพบว่าสะเก็ดกระสุนทำให้เขาตาบอด
ภายหลังสงครามเขาเขียนหนังสือกวีนิพนธ์ขายดีที่เล่าประสบการณ์ต่อสู้ของเขา และเขาท่องไปทุกที่ตั้งแต่ออสเตรเลียยันสหรัฐโดยอ่านบทกวีของตนจนผู้คนต่างซาบซึ้ง แม้แต่ประธานาธิบดีธีโอดอร์ รูสเวลด์ ยังเคยบอกว่า “ผมรู้สึกภูมิใจอย่างยิ่งที่ได้ยืนบนเวทีคู่กับทอม” แล้วอาการตาบอดของเขาก็ค่อยๆ หายสนิทหลังจากผ่านการรักษาในอเมริกา
One thought on “ไซโคพาธ: กับความผิดๆ จากซีรีย์เกาหลี Mouse”