ภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy)

ภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) คือ การรักษาโรคมะเร็งด้วยการกระตุ้นการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายต่อสิ่งแปลกปลอมเพื่อให้เซลล์ภูมิคุ้มกันนี้ช่วยกำจัดเซลล์มะเร็ง

ภูมิคุ้มกันบำบัดรักษามะเร็งได้อย่างไร ?

ในการรักษามะเร็งนั้นมีหลากหลายวิธีตั้งแต่การ ผ่าตัด เคมีบำบัด ฉายแสง และไฮไลท์ของเราในบทความนี้ คือ การรักษามะเร็งด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด – Immunotherapy 

วิธีการนี้รักษามะเร็งโดยเข้าไปเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเม็ดเลือดขาวเพื่อให้สามารถจับ สังเกต และทำลายสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกาย ซึ่งอาจพัฒนาไปเป็นมะเร็งได้ เพื่อช่วยให้ร่างกายของผู้ป่วยต่อสู้กับเซลล์มะเร็งได้ดีขึ้น

ปัจจุบันได้มีการนำวิธีทางภูมิคุ้มกันบำบัดมาใช้รักษาโรคมะเร็งบางชนิด ได้แก่ มะเร็งผิวหนังเมลาโนมาระยะลุกลาม, มะเร็งปอดบางชนิด, มะเร็งไตที่ดื้อต่อการรักษาด้วยวิธีอื่น, มะเร็งศีรษะและลำคอที่ดื้อต่อเคมีบำบัด, มะเร็งในกระเพาะปัสสาวะดื้อต่อเคมีบำบัด และมะเร็งต่อมน้ำเหลือง

แม้จะขึ้นชื่อว่าเป็นการบำบัดโดยระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย แต่ก็สามารถเกิดผลข้างเคียงที่แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับตัวบุคคล เช่น ปวด ปวม แดง แสบ คัน หรือเป็นผื่นขึ้นบริเวณผิวหนังที่สัมผัสกับเข็ม หรือในบางเคสอาจมีอาการคล้ายเป็นไข้ร่วมอยู่ด้วย เช่น หนาวสั่น อ่อนเพลีย วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดตามกล้ามเนื้อและข้อต่อ กล้ามเนื้ออ่อนล้า ส่วนผลข้างเคียงที่อาจพบได้เป็นส่วนน้อย คือ อาการไซนัสอักเสบ หัวใจเต้นผิดจังหวะ บวมน้ำ น้ำหนักขึ้น ท้องเสีย และความเสี่ยงจากการอักเสบอื่นๆ

ชนิดและการทำงานภูมิคุ้มกันบำบัดรักษามะเร็ง

ภูมิคุ้มกันบำบัดมีหลากหลายวิธีในการนำสารกระตุ้นเข้าสู่ร่างกายเพื่อรักษามะเร็งชนิดต่าง ๆ ซึ่งแต่ละชนิดก็จะมีการทำงานกับกลไกร่างกายเพื่อทำการรักษาที่แตกต่างกันออกไป โดยภูมิคุ้มกันบำบัดจะแบ่งได้ 5 ชนิด ดังนี้

  1. ภูมิคุ้มกันบำบัดแบบโมโนโคลนอลแอนติบอดี (Monoclonal Antibody)  คือ
    • การให้ยาสารภูมิต้านทานหรือแอนติบอดีที่มีความจำเพาะกับเซลล์มะเร็ง
    • การทำงานของยาเข้าไปควบคุมการเจริญเติบโตหรือควบคุมการสังเคราะห์โปรตีนในเซลล์มะเร็งได้
  2. ภูมิคุ้มกันบำบัดแบบไม่จำเพาะ (Non-specific Immunotherapy)  คือ
    • การให้ยาสารภูมิต้านทานหรือแอนติบอดีที่ไม่จำเพาะ มักใช้พร้อมกับหรือหลังการรักษาด้วยวิธีการอื่น ๆ เช่น การใช้ยาเคมีบำบัดหรือรังสีรักษา
    • การทำงานของยาเข้าไปเพิ่มประสิทธิภาพของระบบภูมิคุ้มกันหรือภูมิต้านทานของร่งกายในการทำลายเซลล์มะเร็ง
  3. ภูมิคุ้มกันบำบัดแบบใช้ไวรัสรักษามะเร็ง (Oncolytic Virus Therapy) คือ
    • การฉีดไวรัสเข้าสู่เนื้องอกหรือเซลล์มะเร็ง
    • การทำงานของไวรัสที่ฉีดเข้าไปจะได้รับการตัดต่อพันธุกรรมให้มีคุณสมบัติจำเพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็งเพื่อไปทำลายเซลล์มะเร็ง โดยไวรัสจะทำการแบ่งตัวภายในเซลล์เนื้องอกหรือในเซลล์มะเร็งจนส่งผลให้เซลล์มะเร็งตาย หลังจากนั้นตัวเซลล์ที่ตายจะปล่อยแอนติเจนหรือสิ่งที่ร่างกายระบุว่าเป็นสิ่งแปลกปลอมออกมา ทำให้ร่างกายสร้างสารภูมิต้านทานหรือแอนติบอดีที่มีผลเจาะจงกับเซลล์มะเร็งดังกล่าวได้
  4. ภูมิคุ้มกันบำบัดรักษาโดยใช้ที-เซลล์บำบัด (T-cell Therapy) คือ
    • การฉีดทีเซลล์ (T-cell Therapy) ที่ผ่านกระบวนการการดัดแปลงให้มีความจำเพาะกับตัวรับ (Receptor) ในเซลล์มะเร็งกลับเข้าสู่ร่างกายจาก
    • การทำงานของการนำเซลล์ในเลือดของร่างกายมาดัดแปลง เพื่อให้ T-cell ทำลายเซลล์มะเร็ง
  5. ภูมิคุ้มกันบำบัดแบบใช้วัคซีนโรคมะเร็ง (Cancer Vaccines) คือ
    • การฉีดวัคซีนกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย
    • การทำงานของวัคซีนที่ฉีดกระตุ้น คือ ช่วยทำให้ร่างกายให้สามารถจดจำเซลล์มะเร็งและสามารถทำลายโปรตีนที่มีความเกี่ยวข้องกับเซลล์มะเร็งได้ ปัจจุบันมีการนำมาใช้เพื่อป้องกันการเกิดมะเร็งหลากหลายชนิด เช่น มะเร็งตับ มะเร็งปากมดลูก
[Total: 0 Average: 0]