การผ่าตัดประสาทหูเทียม (Cochlear Implant Surgery)

การผ่าตัดประสาทหูเทียม คือ วิธีการที่เหมาะสำหรับผู้ที่สูญเสียการได้ยินในระดับรุนแรงถึงหูหนวก และไม่ได้รับประโยชน์จากเครื่องช่วยฟัง ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการแพทย์จะพิจารณาให้ประสาทหูเทียมเป็นวิธีแก้ปัญหาการได้ยินในระยะยาว มีขั้นตอนและกระบวนการดังนี้ คือ ขั้นตอนการเตรียมการก่อนผ่าตัด การเตรียมตัวผ่าตัด และการดูแลและฟื้นฟูหลังผ่าตัด

ประสาทหูเทียม (Cochlear Implant) คือ

อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีเทคโนโลยีเพื่อผู้สูญเสียการได้ยินระดับรุนแรงทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ที่ไม่สามารถได้รับประโยชน์จากการใช้เครื่องช่วยฟังได้ ประกอบด้วยอุปกรณ์ขดลวดนำกระแสไฟฟ้าที่ผ่าตัดฝังไว้บนกระดูกหลังใบหู ส่วนของเส้นขดลวดนำกระแสไฟฟ้า จะได้รับการผ่าตัดสอดเข้าไปในหูชั้นใน โดยทำงานร่วมกับอุปกรณ์ส่วนที่อยู่ภายนอกร่างกาย ซึ่งจะทำหน้าที่เปลี่ยนเสียงต่างๆ ให้เป็นกระแสไฟฟ้าขนาดย่อย (Electrical Impulse) ส่งกระแสไฟฟ้าขนาดย่อยนี้ผ่านผิวหนังเข้าสู่ระบบการได้ยิน ผ่านทางอุปกรณ์ส่วนที่ผ่าตัดฝังไว้บนกระดูก หลังใบหู และวิ่งไปตามขดลวดนำกระแสไฟฟ้า ไปกระตุ้นเส้นประสาทการได้ยิน เกิดเป็นกระแสประสาทการได้ยิน วิ่งตามเส้นประสาทการได้ยินไปจนถึงสมอง ส่วนที่รับและแปลความหมายของเสียง ทำให้ผู้ใช้เครื่องประสาทหูเทียม สามารถได้ยินเสียงได้    เมื่อคนสูญเสียการได้ยินในระดับรุนแรงถึงหูหนวกไม่ได้รับประโยชน์จากเครื่องช่วยฟัง ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์จะพิจารณาให้ประสาทหูเทียมเป็นทางแก้ปัญหาในระยะยาวที่มีประสิทธิภาพมากกว่า 

ประสาทหูเทียมจะจำลองลักษณะการได้ยินตามธรรมชาติของหูชั้นในผ่านเครื่องกระตุ้นไฟฟ้า โดยแบ่งระบบออกเป็นสองส่วนด้วยกันคือเครื่องแปลงสัญญาณเสียงภายนอกและประสาทหูเทียมที่ฝังไว้ใต้ผิวหนัง

ส่วนประกอบ และการทำงานของเครื่องประสาทหูเทียมแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่อยู่ภายนอกร่างกาย และส่วนที่อยู่ภายในร่างกาย

ส่วนที่อยู่ภายนอกร่างกาย (External Components) ประกอบด้วย


1 เครื่องแปลงสัญญาณ (Speech Processor) ทำหน้าที่ประมวลเสียงต่างๆ รวมทั้งเสียงพูดที่รับมาจากไมโครโฟนแล้วแปลงสัญญาณนั้นให้เป็นกระแสประสาท (Electrical Impulse) ส่งไปยังตัวส่งกระแสไฟฟ้า

ตัวส่งกระแสไฟฟ้า (External Transmitter) เป็นขดลวด และแม่เหล็กทำหน้าที่ในการรับกระแสไฟฟ้าจากเครื่องแปลงสัญญาณ และส่งกระแสไฟฟ้านั้นไปยังอุปกรณ์ส่วนที่อยู่ภายในร่างกาย ผ่านระบบแม่เหล็กที่อยู่บริเวณตัวรับกระแสไฟฟ้า (Internal Receiver) บริเวณกระดูกหลังใบหู

ส่วนที่อยู่ภายในร่างกาย (Internal Components) ประกอบด้วย

ตัวรับกระแสไฟฟ้า (Internal Receiver) มีลักษณะเป็นขดลวดที่หุ้มด้วยซิลิโคน และแม่เหล็กซึ่งจะดูดติดกับตัวส่งกระแสไฟฟ้าที่เกาะติดบนผิวหนังหลังใบหู ทำหน้าที่รับกระแสไฟฟ้าจากตัวส่งกระแสไฟฟ้าส่งไปยังขดลวดนำกระแสไฟฟ้า (Electrode) มีลักษณะเป็นเส้นลวดมัดเล็กๆ หลายมัด สอดเข้าไปในหูชั้นใน (Cochlear) ทำหน้าที่เปลี่ยนเสียงต่างๆ ที่เข้ามาให้เป็นกระแสไฟฟ้าขนาดย่อย (Electrical Impulse) เข้าไปกระตุ้นเส้นประสาทการ ได้ยิน เกิดเป็นกระแสประสาท วิ่งตามเส้นประสาทการได้ยิน

ไปจนถึงสมองส่วนรับและแปลความหมายของเสียง ทำให้ผู้ใช้เครื่องประสาทหูเทียมสามารถได้ยินเสียงได้

ส่วนประกอบและการทำงานของเครื่องประสาทหูเทียมแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่อยู่ภายนอกร่างกาย และส่วนที่อยู่ภายในร่างกาย

ขั้นตอนการเตรียมการก่อนผ่าตัด

ผู้ป่วยที่ผ่าตัดประสาทหูเทียมต้องได้รับการประเมินก่อนผ่าตัด โดยกระบวนการประเมินความเหมาะสม และความพร้อมของร่างกาย เพื่อให้แน่ใจว่าประสาทหูเทียมคือคำตอบที่เหมาะสมที่สุดสำหรับตัวผู้ป่วยเอง

  • การทดสอบการได้ยิน เช่น ระดับการได้ยิน ความเข้าใจภาษา การทำงานของระบบประสาทการได้ยิน
  • การทดสอบด้านการแพทย์ การตรวจร่างกายและทำ MRI เพื่อตรวจสุขภาพโดยทั่วไป ได้แก่ การซักประวัติผู้ป่วย สาเหตุของการสูญเสียการได้ยิน การตรวจความผิดปกติของชั้นหู การประเมินโครงสร้างภายในของหู รวมถึงการตรวจเลือด ปัสสาวะ ปอด หัวใจ เพื่อตรวจดูความสมบูรณ์ของร่างกายก่อนผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมด้วยการดมยาสลบ
  • การทดสอบด้านจิตวิทยา เพื่อรับรองความสามารถในการรับมือกับการผ่าตัด และมีส่วนร่วมในการติดตามผล ดูแลและรักษาฟื้นฟูสมรรถภาพภายหลังการผ่าตัด

ขั้นตอนการเตรียมตัวการผ่าตัดประสาทหูเทียม

กระบวนการผ่าตัดประสาทหูเทียม ใช้เวลาผ่าตัดประมาณ 1 – 3 ชั่วโมง สำหรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นนั้นพบน้อยมาก ศัลยแพทย์จะเป็นคนปรึกษาเรื่องความเสี่ยงกับตัวผู้ป่วยเอง

  • ผู้ป่วยควรงดน้ำ อาหารทุกชนิด ก่อนเวลาผ่าตัดประมาณ 6 – 8 ชั่วโมง
  • ผู้ป่วยที่ดื่มสุราหรือสูบบุหรี่เป็นประจำ ควรงดเว้นก่อนอย่างน้อย 2 สัปดาห์ หรือ 1 เดือน หรือตามคำสั่งของแพทย์ (เพื่อป้องกันผู้ป่วยที่ต้องใช้วิธีดมยาสลบ อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากปอดทำงานหนัก ส่งผลให้ปอดอักเสบจากการสูดสำลัก หรือไอมากหลังผ่าตัดได้)
  • ผู้ป่วยควรงดใช้ยา 1 สัปดาห์ ก่อนผ่าตัด (แอสไพริน หรือยาต้านการอักเสบอื่น ๆ) หากเป็นยารักษาโรคประจำตัว ควรปรึกษาแพทย์
  • การผ่าตัดใช้วิธีการดมยาสลบ โดยวิสัญญีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

ขั้นตอนการดูแลและฟื้นฟูหลังผ่าตัด

  • เมื่อผ่าตัดเสร็จ แพทย์จะให้ผู้ป่วยอยู่พักฟื้นเพื่อสังเกตอาการประมาณ 1 – 2 ชั่วโมง จากนั้นจะย้ายผู้ป่วยไปพักฟื้นต่อที่หอผู้ป่วย
  • ผู้ป่วยใช้เวลาในการพักฟื้นที่โรงพยาบาลประมาณ 3 – 4 วัน
  • แพทย์จะให้ยาแก้ปวด เมื่อผู้ป่วยรู้สึกเจ็บปวดหลังการผ่าตัด
  • ผู้ป่วยจะถูกสั่งงดน้ำ และอาหารทุกชนิด เป็นเวลา 24 ชั่วโมง หลังการผ่าตัด

     เมื่อการผ่าตัดเสร็จสิ้นประมาณ 4 สัปดาห์ นักแก้ไขการได้ยินจะทำการเปิดเครื่องประสาทหูเทียม และติดตั้งโปรแกรมในอุปกรณ์ให้เหมาะสมกับระดับการได้ยิน และปรับการตั้งค่าการติดตามผลในครั้งต่อๆ ไป นักแก้ไขการได้ยินจะทำการติดตามผลเป็นประจำทุกปี ปีละ 1 หรือ 2 ครั้ง

     ผลสําเร็จและการฟื้นฟูหลังการผ่าตัด การได้ยินในผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียม จะไม่เหมือนการได้ยินปกติ ผู้ป่วยต้องใช้เวลาในการเรียนรู้และฝึกฝนจึงจะสามารถฟัง แปลผล และสื่อสารได้ จึงมีความจําเป็นที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากครอบครัว และบุคลากรหลายด้าน ซึ่งประกอบด้วยแพทย์ นักแก้ไขการพูด ครูการศึกษาพิเศษ หรือ ครูที่โรงเรียน เพื่อน ที่ต้องเอาใจใส่ พูดคุยกระตุ้นเพื่อให้ได้ฝึกฟังและพูดตลอดเวลา

[Total: 1 Average: 5]