การตรวจลานสายตา (Visual Field Test)

การทดสอบลานสายตา (Visual field test) คือ เพื่อดูว่าผู้มารับบริการทางสุขภาพนั้นมีปัญหาลานสายตาหรือไม่ มีอยู่หลายวิธี แต่การทดสอบในระดับคัดกรองแบบหนึ่งที่ผู้ให้บริการทางสุขภาพสามารถทำได้ง่ายๆ โดยไม่จำเป็นต้องมีเครื่องมือตรวจเป็นพิเศษ คือการทดสอบหันหน้าเข้าหากัน (Confrontation test หรือ Donder’s test [1] ) [หมายเหตุ คำว่า “Confrontation” หากแปลตรงตัวจะแปลว่า “การเผชิญหน้า” หรือ “การประจันหน้า” แต่ในภาษาไทยสองคำนี้มักใช้ในความหมายของผู้ที่เป็นอริกัน ในบทความนี้จึงเลือกใช้คำว่า “การหันหน้าเข้าหากัน” แทน อย่างไรก็ตาม หากแปลคำว่า “Confrontation test” แบบตรงตัวว่า “การทดสอบเผชิญหน้า” หรือ “การทดสอบประจันหน้า” ก็ไม่ถือว่าผิด]

การทดสอบหันหน้าเข้าหากัน (Confrontation test) นี้ เป็นการทดสอบเพื่อค้นหาปัญหาลานสายตาของผู้มารับบริการทางสุขภาพแบบคร่าวๆ ในระดับคัดกรอง (Screening test) แต่ก็เป็นประโยชน์พอสมควร เนื่องจากทำได้ง่าย รวดเร็ว ประหยัด และไม่ต้องใช้เครื่องมือพิเศษ ผู้ให้บริการทางสุขภาพสามารถใช้เป็นการตรวจคัดกรองเบื้องต้นได้ในหลายกรณี เช่น การตรวจผู้ป่วยข้างเตียง การตรวจในชุมชนในพื้นที่ชนบทห่างไกล การตรวจในห้องพยาบาลของสถานประกอบการ หรือการตรวจที่สถานบริการปฐมภูมิ (Primary care unit) ซึ่งไม่มีเครื่องมือตรวจพิเศษ การทดสอบนี้ถือว่าเป็นการตรวจคร่าวๆ เบื้องต้น เพื่อค้นหาภาวะลานสายตาผิดปกติในผู้มารับบริการรายที่สงสัย ก่อนที่จะส่งต่อไปพบจักษุแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยยืนยันต่อไป

สำหรับขั้นตอนในการทดสอบนั้น ในตำราและเอกสารวิชาการต่างๆ มีการระบุรายละเอียดวิธีการทดสอบไว้อย่างหลากหลาย [2-7] แต่ละวิธีมีความเหมือนกันในหลักการ แต่แตกต่างกันในรายละเอียด [2] โดยวิธีการหนึ่งที่ได้รับความนิยมในการนำมาใช้ในทางปฏิบัติค่อนข้างมาก ที่จะขอกล่าวถึงในที่นี้ คือการทดสอบด้วยการให้ผู้เข้ารับการตรวจนับนิ้ว (Finger counting) ซึ่งมีขั้นตอนดังนี้

ขั้นตอนการทดสอบหันหน้าเข้าหากันด้วยการให้ผู้เข้ารับการตรวจนับนิ้ว (Finger counting)

  • ผู้ทำการตรวจจะต้องเป็นผู้ที่ไม่มีประวัติความผิดปกติของลานสายตามาก่อน
  • พื้นที่ตรวจควรมีความสว่าง ฉากหลังของผู้ทำการตรวจ (Background) ควรเป็นผนังสีเรียบ ไม่มีสิ่งดึงดูดความสนใจ ไม่มีแหล่งกำเนิดแสงจ้า (Glare) เช่น โคมไฟ กระจก หน้าต่าง ที่ส่องหรือสะท้อนแสงเข้าตาผู้เข้ารับการตรวจโดยตรง [5]
  • ถ้าผู้เข้ารับการตรวจใส่แว่นให้ถอดแว่นออกก่อน ถ้าใส่เครื่องแต่งกายอื่นใดที่อาจบดบังลานสายตา เช่น หมวกปีกกว้าง ให้ถอดออกก่อน
  • เริ่มการตรวจ ให้ผู้ทำการตรวจกับผู้เข้ารับการตรวจนั่งหันหน้าตรงเข้าหากัน ในระดับความสูงที่ใกล้เคียงกัน โดยให้นั่งห่างกันประมาณ 2/3 เมตร (ประมาณ 66 เซนติเมตรหรือหนึ่งช่วงแขน) [6-7] [หมายเหตุบางตำราบอกให้นั่งห่างกันประมาณ 1 เมตร [2]]
  • เนื่องจากจะทำการตรวจตาทีละข้าง ให้ผู้เข้ารับการตรวจเอามือปิดตาข้างที่ไม่ได้ตรวจไว้ ส่วนผู้ทำการตรวจให้หลับตาข้างที่ตรงข้ามกัน (Opposing eye) [6] คือ ถ้าต้องการตรวจ ตาขวาของผู้เข้ารับการตรวจ ให้ผู้ทำการตรวจหลับตาขวาและ ลืมตาซ้าย ถ้าต้องการตรวจ ตาซ้ายของผู้เข้ารับการตรวจ ก็ให้ผู้ทำการตรวจหลับตาซ้ายและ ลืมตาขวา ถ้าทำถูกต้องตาข้างที่ลืมอยู่ของทั้งสองคนจะตรงกันพอดี
  • ตาของผู้เข้ารับการตรวจ ให้มองจ้องที่จมูกของผู้ทำการตรวจ ในลักษณะที่มองอยู่จุดเดียว ไม่กลอกตาไปมา (เรียกว่าทำ Fixation) [2, 4-5] [หมายเหตุ บางตำราบอกให้มองจ้องที่ตาของผู้ทำการตรวจ [5-7]]
  • ส่วนตาของผู้ทำการตรวจนั้น ให้มองไปที่ตาของผู้เข้ารับการตรวจ เพื่อดูว่าในระหว่างการตรวจ ผู้เข้ารับการตรวจทำการกลอกตาไปมองหาวัตถุที่ใช้ทดสอบ (ซึ่งในกรณีนี้คือนิ้ว) หรือไม่ หากมีการเผลอกลอกตาไปมองหาวัตถุที่ใช้ทดสอบ (คือไม่ทำ Fixation) ในขั้นตอนการตรวจขั้นนั้นจะต้องทำใหม่
  • ผู้ทำการตรวจแบ่งขอบเขตพื้นที่การมองของผู้เข้ารับการตรวจไว้ในใจ โดยจากดวงตาซึ่งเป็นจุดศูนย์กลาง ให้ขีดเส้นศูนย์กลางแนวตั้งและแนวนอนเป็นเส้นสมมติ แบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 ส่วน (Quadrant) คือส่วนบนด้านขมับ (Superotemporal), ส่วนล่างด้านขมับ (Inferotemporal), ส่วนบนด้านจมูก (Superonasal), และส่วนล่างด้านจมูก (Inferonasal) [2]
  • เลือกพื้นที่หนึ่งจากพื้นที่ 4 ส่วนที่แบ่งไว้ ให้ผู้ทำการตรวจใช้มือยื่นเข้ามาจากทางด้านข้างของขอบเขตการมอง โดยชูนิ้ว “หนึ่งนิ้ว” หรือ “สองนิ้ว” [2, 4] แบบสุ่ม (Random) ที่ระยะห่างประมาณกึ่งกลางระหว่างที่สองคนนั่ง ในตำแหน่งทำมุมประมาณ 20 – 30 องศาจากเส้นศูนย์กลางแนวตั้ง [2] ชูนิ้วแล้วนิ่งค้างไว้ ลักษณะดังแสดงในภาพที่ 1 – 4 สอบถามผู้เข้ารับการตรวจว่าเห็นนิ้วมือกี่นิ้ว แล้วพิจารณาว่าผู้เข้ารับการตรวจตอบได้ถูกต้องหรือไม่ ถ้าตอบไม่ถูกอาจลองทดสอบซ้ำที่ตำแหน่งอื่นในพื้นที่การมองส่วนนั้นเพื่อตรวจสอบให้แน่ใจ [หมายเหตุ ในเรื่องการชูนิ้วมีการแนะนำไว้หลากหลาย บางตำราจะให้เลือกชูนิ้วได้ 3 แบบ คือ “หนึ่งนิ้ว” “สองนิ้ว” หรือ “ห้านิ้ว” [5] บางตำราให้ชู “หนึ่งนิ้ว” หรือ “สองนิ้ว” แต่ใช้สองมือพร้อมกัน แล้วให้ผู้เข้ารับการตรวจบอกผลรวม เพื่อให้สามารถตรวจพื้นที่การมองได้พร้อมกันทีละ 2 ส่วน เพื่อความรวดเร็ว [5] บางตำราให้ชูนิ้วออกมาเป็นระยะเวลาสั้นๆ แล้วหดนิ้วกลับ ไม่ให้ชูค้างไว้ [2] ส่วนในเรื่องตำแหน่งของมือที่ชูนิ้ว มีคำแนะนำให้มืออยู่ในตำแหน่งทำมุมกับเส้นศูนย์กลางแนวตั้งหลากหลาย ตั้งแต่ 20 องศา [6], 20 – 30 องศา [2], 35 องศา [7], หรือ 40 – 60 องศา [5] ความมุ่งหมายของการทดสอบขั้นตอนนี้ ต้องการตรวจพื้นที่การมองส่วนรอบนอก (Peripheral field) ซึ่งตำแหน่งของการทำมุมที่มากขึ้นนั้น ก็ทำให้เป็นการตรวจส่วนที่ใกล้ขอบของพื้นที่การมองมากขึ้น [2]]
  • ทำการตรวจซ้ำแบบเดียวกันในพื้นที่การมองส่วนอื่นไปจนครบทั้ง 4 ส่วน ซึ่งจะทำให้ตาข้างหนึ่ง ต้องสอบถามว่าเห็นกี่นิ้ว 4 ครั้งเป็นอย่างน้อย ถ้าผู้เข้ารับการตรวจตอบได้ถูกต้องทั้งหมด ก็ถือว่าเป็นปกติ
  • หลังจากนั้นให้ทำการตรวจสอบพื้นที่การมองส่วนกลาง (Central field) โดยผู้ทำการตรวจลืมตาทั้งสองข้าง ส่วนผู้เข้ารับการตรวจยังเอามือปิดตาข้างที่ไม่ได้ตรวจไว้ และตาข้างที่ตรวจยังมองจ้องอยู่ที่จมูกของผู้ทำการตรวจ จากนั้นให้ผู้เข้ารับการตรวจดูใบหน้าของผู้ทำการตรวจ ว่ามีส่วนใดหายไป (Missing) เบลอ (Blur) หรือดูบิดเบี้ยว (Distort) บ้างหรือไม่ [2, 5] ถ้ามีส่วนใดของใบหน้าหายไป เบลอ หรือบิดเบี้ยว ผู้เข้ารับการตรวจอาจมีความผิดปกติของพื้นที่การมองส่วนกลางในตาข้างนั้น
  • ทำการตรวจตาอีกข้างหนึ่งด้วยวิธีเดียวกัน
[Total: 1 Average: 5]