กรวยไตอักเสบ

กรวยไตอักเสบ คือ การติดเชื้อแบคทีเรียที่เกิดขึ้นในบริเวณกรวยไต แบ่งเป็น ชนิดเฉียบพลัน ซึ่งมีอาการแสดงชัดเจนกับชนิดเรื้อรัง  ซึ่งไม่มีอาการแสดงชัดเจน มักพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย อาจเป็นโรคแทรกซ้อนของกระเพาะปัสสาวะอักเสบ นิ่วกระเพาะปัสสาวะ

กรวยไตอักเสบเฉียบพลัน (Acute Pyelonephritis)   คือ โรคที่พบได้ค่อนข้างบ่อย พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายประมาณ 4 เท่ามัก พบในผู้หญิงในวัยเด็กหรือขณะตั้งครรภ์  ในคนที่เป็น นิ่วในทางเดินปัสสาวะ ต่อมลูกหมากโต เนื้องอกหรือ มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ กระเพาะปัสสาวะอักเสบ หรือผู้ป่วยที่เคยสวนปัสสาวะมาก่อน (เช่น ผู้ป่วยหนักที่นอนพักรักษาอยู่ในโรงพยาบาล) ผู้ป่วยที่เป็นเบาหวาน หรือกินสตีรอยด์นาน ๆ ก็อาจมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้งายขึ้น

สาเหตุ กรวยไตอักเสบ

เกิดจากการติดเชื้ออักเสบเฉียบพลันในบริเวณกรวยไต ส่วนมากเชื้อโรคมักจะแพร่กระจายมาจาก บริเวณผิวหนังรอบ ๆ ท่อปัสสาวะ เข้ามาในท่อปัสสาวะกระเพาะปัสสาวะ และผ่านท่อไตขึ้นมาที่ไต การอุดกั้นของทางเดินปัสสาวะมักเป็นปัจจัยเสริมให้เกิดการติดเชื้อได้งายขึ้น เช่น นิ่วในทางเดินปัสสาวะ ต่อมลูกหมากโต กระเพาะปัสสาวะไม่ทำงานในผู้ป่วยอัมพาต การตั้งครรภ์หรือมีก้อนในช่องท้อง เป็นต้น เชื้อที่ได้บ่อย เป็นเชื้อแบคทีเรียเรียกกลุ่มแกรมลบได้แก่ อีโคไล (Escherichia coli) เคล็บชิลลา (Klebsiella) สูโดโมแนส  (pseudomonas)

นอกจากนี้  ในบางรายเชื้อโรคอาจแพร่กระจายจากส่วนอื่น ๆ ของร่างกายโดยทางกระแสเลือดก็ได้

อาการ กรวยไตอักเสบ

ผู้ป่วยส่วนมากจะมีอาการปวดที่บริเวณสีข้างขึ้นอย่างฉับพลัน โดยจะปวดมากที่ข้างไดข้างหนึ่ง และอาจปวดร้าวลงมาที่บริเวณขาหนีบ  พร้อมกับมีไข้สูงหนาวสั่นมากเป็นพัก ๆ (อาจต้องห่มผ้าหลายผืน คล้ายไข้มาลาเรีย แต่จะจับไข้ไม่เป็นเวลาแน่นอน) ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน บางรายอาจมีอาการขัดเบาร่วมด้วย ปัสสาวะมักมีอาการลักษณะขุ่น บางครั้งอาจข้นเป็นหนอง

ข้อแนะนำ กรวยไตอักเสบ

  1. ผู้ป่วยที่เป็นกรวยไตอักเสบเฉียบพลัน มักมีไข้สูงหนาวสั่นคล้ายไข้มาลาเรีย แต่จะมีอาการปวดและ เคาะเจ็บที่สีข้าง และปัสสาวะขุ่นดังนั้น เมื่อพบคนที่มีอาการไข้หนาวสั่นมาก ควรนึกถึงโรคนี้ไว้เสมอ
  2. ผู้ป่วยที่เป็นนิ่วในทางเดินปัสสาวะ กระเพาะปัสสาวะอักเสบ ต่อมลูกหมากโต ควรหาทางรักษาให้ หายขาด มิฉะนั้นอาจมีกรวยไตอักเสบแทรกซ้อนได้
  3. ควรป้องกันมิให้มีการติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะโดยการดื่มน้ำมาก ๆ และอย่าอั้นปัสสาวะ

การรักษา กรวยไตอักเสบ

1. หากสงสัย ควรส่งตรวจปัสสาวะเพิ่มเติม จะพบเม็ดเลือดขาวอยู่กันเดี่ยว ๆ และเกาะกันเป็นแพ (white blood cells castd) ถ้าอาการไม่รุนแรง อาจให้การรักษาด้วยยาลดไข้ และยาปฏิชีวนะ เช่น อะม็อกซีชิลลิน 500 มก.ทุก 8 ชั่วโมง โคไตรม็อกชาโชล 2 เม็ด วันละ 2 ครั้ง
โอฟล็อกซาชิน  400 มก.วันละ 2 ครั้ง หรือไซโพรฟล็อกซาชิน 500 มก.วันละ 2 ครั้ง นาน 14 วัน ถ้ากินยาไม่ได้ ให้ฉีดเจน ตาไมชิน ครั้งละ 40-80 มก.(เด็ก 0.5-1 มก./กก.) วันละ 2 - 3 ครั้ง ทุก 8 -12 ชั่วโมง 

2. ถ้าให้การรักษา3วันแล้วยังไม่ดีขึ้น หรือมีอาการรุนแรง หรือมีภาวะแทรกซ้อน เช่น ช็อก ความ ดันโลหิตสูง ปัสสาวะออกน้อยซีด เหลือง หรือสงสัยลหิตเป็นพิษ ควรส่งโรงพยาบาล อาจต้องทำการเพาะเชื้อจากปัสสาวะ ซึ่งจะพบเชื้อแบคทีเรียเป็นที่เป็นสาเหตุ นอกจากนี้  อาจต้องเอกซเรย์ ตรวจเลือด และตรวจพิเศษอื่น ๆ เพื่อค้นหาความผิดปกติที่เป็นปัจจัยเสริมให้มีการติดเชื้อ

การรักษา แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะตามชนิด ของเชื้อที่ตรวจพบ ในระยะแรกมักให้ยาปฏิชีวนะชนิด ฉีด เช่น เจนตาไมชิน เซฟาโลสปอริน ถ้าพบความผิดปกติอื่น ๆ ก็อาจให้การแก้ไขร่วมไปด้วย โดยทั่วไปมักจะรักษาให้หายขาดได้

3. ผู้ป่วยเมื่อรักษาจนอาการหายดีแล้ว ควรทำการตรวจปัสสาวะให้แน่ใจว่ามี่อาการอักเสบเรื้อรังมิเช่นนั้นอาจกลายเป็นกรวยไตอักเสบเรื้อรัง  ซึ่งในระยะยาวอาจกลายเป็นไตวายเรื้อรังได้

[Total: 1 Average: 5]