ปวดขา

ความรู้สึกไม่สบายที่บางส่วนของขาหรือทั้งขา ซึ่งมีระดับการปวดหลายระดับ มักเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ และวัยทำงาน ซึ่งอาการปวดขาเหล่านี้อาจหายไปได้เอง หรือเป็นไม่กี่วันก็หาย แต่หากคุณไม่เพียงแค่ปวดขาอย่างเดียว แต่สังเกตุได้ว่ามีอาการปวดหลังร่วมด้วย นั่นอาจบอกได้ว่าคุณกำลังมีความผิดปกติจากความผิดปกติของหลังแล้วร้าวลงไปที่ขา

สาเหตุ ปวดขา

การปวดขาอาจมีสาเหตุที่ไม่ได้มาจากโรคพื้นเดิม ตัวอย่างเช่น การทำกิจกรรมที่ออกแรงมาก การขาดการทำกิจกรรม การยืนเป็นเวลานาน การบาดเจ็บ เอ็นหรือกล้ามเนื้อยืดเกินไปหรือฉีกขาด

อาการ ปวดขา

ปวดขามักมีลักษณะอาการและบริเวณที่ต่างกันไป โดยอาจรู้สึกปวดเสียด หรือปวดแสบบริเวณต้นขา หน้าแข้ง หรือน่อง การปวดขาอาจเกิดขึ้นเป็นพัก ๆ หรือต่อเนื่อง และอาจดีขึ้นได้เองขณะพัก หรืออาจมีอาการอื่นเกิดขึ้นร่วมด้วย เช่น เหน็บชา ตะคริว ปวดร้าว หรือปวดตุบ ๆ เป็นต้น

อาการปวดขาอาจเป็นสัญญาณของโรคต่าง ๆ ผู้ป่วยจึงควรพบแพทย์หากมีอาการดังต่อไปนี้ เพื่อรับการรักษาและป้องกันการพัฒนาของอาการที่อาจเกิดขึ้น

  • ปวดขามากขึ้นเรื่อย ๆ
  • ปวดขาขณะทำหรือหลังทำกิจกรรม เช่น การเดิน
  • ขาบวม หรือมีเส้นเลือดขอด
  • ปวดต้นขาขณะนั่งเป็นเวลานาน
  • ขาเริ่มซีด ฟกช้ำ บวม หรือเย็นผิดปกติ
  • มีปัญหาเกี่ยวกับการหายใจ
  • มีสัญญาณการติดเชื้อ เช่น มีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส บริเวณที่ปวดเริ่มแดง กดแล้วเจ็บ

สัญญาณอันตรายที่ผู้ป่วยควรพบแพทย์ทันที ได้แก่

  • เดินไม่ได้
  • เจ็บหรือปวดต้นขามาก ประกอบกับอาการบวมแดง
  • มีเสียงเปราะดังขึ้นที่ขาขณะเกิดอุบัติเหตุ
  • มีบาดแผลรุนแรง เช่น ถูกของมีคมบาดจนเห็นเส้นเอ็นหรือกระดูก

การรักษา ปวดขา

การรักษาด้วยตนเอง ผู้ป่วยสามารถใช้วิธีการต่อไปนี้ได้เพื่อบรรเทาอาการปวด ตะคริวหรือการบาดเจ็บเล็ก ๆ น้อย ๆ

  • พักการใช้ขา และวางขาไว้บนหมอนหรือตำแหน่งที่สูงกว่าลำตัว
  • ประคบน้ำแข็งบริเวณที่รู้สึกปวดหรือเคล็ด 4 ครั้งต่อวัน เป็นเวลา 15 นาที
  • รับประทานยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล และแอสไพริน
  • ใส่ผ้ารัดขาเพื่อช่วยป้องกันอาการบวม ลดการเกิดลิ่มเลือด และทำให้ระบบการไหลเวียนโลหิตในขาดีขึ้น
  • อาบน้ำอุ่นช่วยคลายกล้ามเนื้อ
  • หากผู้ป่วยปวดขาท่อนล่าง ให้ยืดหรือเหยียดนิ้วเท้าออกให้ตรง หรือหากมีอาการปวดขาท่อนบน ให้ก้มตัวลงแตะนิ้วเท้าเป็นเวลา 5-10 วินาทีเพื่อยืดเส้น
  • ผู้ที่มีอาการกล้ามเนื้อเคล็ดหรือแพลงควรงดใช้ขา ประคบด้วยน้ำแข็งเพื่อลดความดัน และวางขาไว้ในตำแหน่งที่สูงกว่าลำตัว หรือรับประทานยาแก้ปวดร่วมด้วย เช่น พาราเซตามอล หรือไอบูโพรเฟน
  • กรณีกระดูกหัก ควรทำการห้ามเลือดก่อนเป็นอันดับแรก และไม่ควรเคลื่อนย้ายผู้ป่วยหรือเคลื่อนไหวบริเวณที่สงสัยว่ามีกระดูกหัก ใช้น้ำแข็งประคบบริเวณดังกล่าว พร้อมตรวจสอบว่าผู้ป่วยมีโอกาสเกิดอาการช็อคหรือไม่ แล้วจึงรีบติดต่อแพทย์
[Total: 1 Average: 5]