ปอดทะลุ

ปอดทะลุ (ปอดรั่ว ภาวะมีลมในโพรงเยื่อหุ้มปอดก็เรียก) หมายถึงภาวะที่มีลมรั่วออกจากถุงลม (alveoli) เข้าไปขังอยู่ในโพรงเยื่อหุ้มปอด (pleural cavity) ลมที่รั่วจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ และดันให้เนื้อปอดแฟบลง ทำให้มีอาการหายใจลำบาก และอาจเกิดภาวะช็อกถึงตายได้เป็นภาวะที่พบได้ไม่บ่อยนัก

สาเหตุ ปอดทะลุ

 อาจเกิดจากการได้รับบาดเจ็บเรียกว่า ปอดทะลุจากการบาดเจ็บ (traumatic pneumothorax) เช่น ถูกยิง ถูกแทง รถชน เป็นต้น

หรืออยู่ดีๆอาจเกิดขึ้นเองก็ได้ เรียกว่า ปอดทะลุที่เกิดเอง (spontaneous pneumothorax) เกิดขึ้นเพราะมีการแตกของถุงลมที่ผิดปกติ มักพบในผู้ป่วยที่เป็นโรคถุงลมโป่งพอง นอกจากนี้ยังอาจพบในคนที่เป็นโรคหืด ปอดอักเสบ ภาวะมีหนองในโพรงเยื่อหุ้มปอด วัณโรคปอด  เป็นต้น หรือบางรายอาจเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุก็ได้ มักพบในผู้ที่สูบบุหรี่

 ถ้ามีลมรั่วไม่มาก อาจไม่มีอาการรุนแรง และหายได้เองภายในไม่กี่วัน แต่ถ้ามีลมรั่วออกมามากมักจะทำให้เกิดอาการหอบรุนแรง หากช่วยเหลือไม่ทันอาจเสียชีวิตได้

อาการ ปอดทะลุ

มีอาการแสดงได้หลายอย่างขึ้นกับปริมาณของลมที่รั่ว และสภาพของผู้ป่วย

เมื่อปล่อยไว้หลายวัน ถ้าลมยังรั่วออกมาเรื่อย ๆ จนดันให้เนื้อปอดข้างหนึ่งแฟบ ก็จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการหอบมาก ชีพจรเต้นเร็วและความดันโลหิตต่ำ

การป้องกัน ปอดทะลุ

ผู้ป่วยที่มีภาวะปอดทะลุเกิดขึ้นเองโดยไม่ทราบสาเหตุ เมื่อรักษาหายแล้ว ประมาณร้อยละ 50 อาจมีอาการกำเริบซ้ำได้อีก และถ้ามีประวัติสูบบุหรี่ ควรงดสูบบุหรี่เพื่อป้องกันมิให้มีอาการกำเริบซ้ำ

การรักษา ปอดทะลุ

  1. หากสงสัยให้รีบส่งโรงพยาบาล  มักจะวินิจฉัยโดยการเอกซเรย์ปอด  และใช้เข็มต่อกับกระบอกฉีดยาเจาะที่ช่องใต้ซี่โครงซี่ที่  2 (โดยฉีดยาชาก่อน) ถ้าพบมีลมดันเข้าไปในกระบอกฉีดยา แสดงว่ามีลมในโพรงเยื่อหุ้มปอดจริง ก็จะทำการเจาะระบายลมออกหากพบมีสาเหตุชัดเจนก็จะให้การรักษาโรคที่เป็นสาเหตุร่วมด้วย
  2. ในรายที่มีอาการหอบมาก และพบว่าท่อลมถูกดันให้เบี้ยวไปด้านตรงข้าม แต่ไม่สามารถส่งโรงพยาบาได้ ให้ทำการช่วยเหลือเบื้องต้นโดยใช้เข็มต่อเข้ากับสายน้ำเกลือให้แน่น ปล่อยปลายสายน้ำเกลืออีกปลายหนึ่งจุ่มไว้ในขวดหรืออ่างใส่น้ำ มีระดับสูง 15 - 20 ซม.แล้วแทงเข็มเข้าที่ช่องใต้ซี่โครงที่ 2 พอให้ทะลุผนัง หน้าอกจะพบมีฟองอากาศผุดให้เห็น แล้วให้รีบนำส่งโรงพยาบาล คอยระวัง อย่าให้ปลายสายน้ำเกลือโผล่พันระดับน้ำเป็นอันขาด  เมื่อเห็นว่าฟองอากาศออกน้อย และอาการดีขึ้นแล้วเอาเข็มออกได้
[Total: 2 Average: 5]