การตรวจทางสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ (Electrophysiology Study)

Electrophysiology Study หรือการตรวจวินิจฉัยทางสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ เป็นการตรวจประเมินสัญญาณไฟฟ้าหัวใจและทางเดินไฟฟ้าหัวใจ เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุและตำแหน่งที่ระบบไฟฟ้าในหัวใจเต้นผิดจังหวะ ส่งผลให้หัวใจเต้นผิดปกติ แสดงผลเป็นกราฟ 2 มิติ ช่วยให้แพทย์พิจารณาทางเลือกในการรักษาที่เหมาะสม ด้วยวิธีการนี้ หากแพทย์พิจารณาให้การรักษาโดยการจี้ด้วยคลื่นวิทยุความถี่สูง ก็สามารถให้การรักษาได้ต่อเนื่องทันทีหลังจากการตรวจวินิจฉัยทางสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจแล้ว

EP Study จึงเป็นวิทยาการการแพทย์ที่ได้รับการพัฒนาขึ้นเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะการรักษาได้มุ่งไปยังสาเหตุแท้จริงที่ทำให้กระแสไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการ ผู้ป่วยจึงหายขาดจากภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะโดยสิ้นเชิง          

“อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการรักษาด้วยวิธี EP Study จะช่วยให้ผู้ป่วยหายขาดจากภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะและกลับมาดำเนินชีวิตประจำวันได้ดีขึ้น แต่ EP Study ไม่ได้มีผลในการเปลี่ยนปัจจัยด้านอื่นที่ส่งผลต่อโรคหัวใจของผู้ป่วย เพราะหากผู้ป่วยมีปัญหาเริ่มต้นด้วยภาวะความดันโลหิตสูง หลอดเลือดหัวใจตีบ หรือมีพังผืดที่หัวใจ ความเสี่ยงที่ผู้ป่วยจะต้องเผชิญก็ยังคงอยู่ต่อไป ดังนั้น ถึงแม้ว่าผู้ป่วยจะได้รับการรักษาจนหายจากภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะแล้ว แต่การระมัดระวังดูแลตนเองเพื่อควบคุมปัจจัยอื่นๆ ที่จะส่งผลต่อหัวใจก็ยังคงต้องปฏิบัติต่อไป

ข้อมูลที่ได้จากการตรวจทางสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ

  • ทราบถึงจุดกำเนิดและชนิดคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่ผิดปกติ
  • เลือกวิธีการรักษาหรือยาที่เหมาะสม เพื่อให้มีประสิทธิภาพในการรักษาสูงสุด
  • หากทราบถึงจุดกำเนิดคลื่นไฟฟ้าที่ผิดปกติ สามารถทำการจี้รักษาต่อได้เลย
  • ผู้ป่วยบางรายที่มีกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรงระดับปานกลางและมีหัวใจห้องล่างเต้นก่อนเวลาอันควร แพทย์จะแนะนำให้ตรวจทางสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจเพื่อดูว่าจะมีโอกาสเกิดหัวใจเต้นผิดปกติที่เป็นอันตรายต่อชีวิตหรือไม่ ถ้าหากกระตุ้นหัวใจแล้วนำไปสู่การเกิดหัวใจเต้นผิดปกติที่เป็นอันตรายต่อชีวิต แพทย์จะรักษาด้วยการผ่าตัดฝังอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ช่วยเปลี่ยนจังหวะการเต้นหัวใจด้วยการช็อคไฟฟ้าแบบอัตโนมัติ เพื่อป้องกันการเสียชีวิตเฉียบพลันจากโรคหัวใจ
  • ตรวจหาสาเหตุการเกิดภาวะเป็นลม หมดสติ หรือหัวใจหยุดเต้นฉับพลัน
  • ตรวจหาความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าหัวใจในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการ เวียนศีรษะ หน้ามืด เป็นลม อ่อนแรง ใจสั่น หรือ ภาวะหัวใจเต้นผิดปกติต่าง ๆ ที่ไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นความผิดปกติชนิดใดจากการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ
  • พิจารณาตรวจทางสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจเป็นกรณีไป
[Total: 0 Average: 0]