สแกนความรู้เรื่องกัญชาประจำเดือนกันยายน 2562 (Journal Scanning on Cannabis: September 2019)
คำถาม: เติม CBD เข้าไป จะช่วยลดผลต่อจิตประสาทจาก THC ไหม?
คำตอบ: CBD ไม่ได้ช่วยอะไรเลยนะ THC ทำให้เคลิ้ม และสมรรถนะด้านความจำและการขับขี่แย่ลง ไม่สามารถช่วยได้ด้วยการเติม CBD
ข้อสรุป: เสพกัญชา และผลิตภัณฑ์สารสกัดจากกัญชา ที่มี THC เข้าไป ความจำจะเสื่อม ขับขี่ยานพาหนะจะเสี่ยงตายเสี่ยงเจ็บเสี่ยงพิการเยอะขึ้น เติมอะไรเข้าไปเพิ่มก็ช่วยอะไรไม่ได้…เหมือนที่เรารู้กันคือ ทำบาปแล้ว จะเอาอะไรมาลบล้างคงไม่ได้ครับ
คำถาม: เฮ้ยๆ…ใช้กัญชากันเหอะ สุขภาพกายสุขภาพใจและคุณภาพชีวิตจะดีงาม คนปรามเรื่องกัญชาน่ะอย่าไปเชื่อมัน มันไม่เคยใช้กัญ จริงจริ๊ง เชื่อไหม?
คำตอบ: ศึกษาในคนใช้กัญชาที่ลอสแองเจิลลิสปี 2017-2018 ติดตามดู พบว่า ยิ่งเสพกัญชา ยิ่งเกิดปัญหาสุขภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจ และทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลงเรื่อยๆ ยิ่งเสพบ่อยยิ่งแย่
ข้อสรุป: อย่าไปเชื่อเลยครับ ยาเสพติดน่ะ มีไหมที่ทำให้ชีวิตดีในระยะยาว รู้ๆ กันอยู่แล้ว โปรดดำรงชีวิตโดยใช้สติ ปัญญา ลดละเลิกการใช้ชีวิตตามกิเลสและอารมณ์
คำถาม: กัญชารักษาได้ทุกโรค…เค้าลือกันให้แซ่ด แล้วจะรักษาโรคทางหูคอจมูกได้มั่งป่ะ?
คำตอบ: มีงานวิจัยเกี่ยวกับกัญชากับเรื่องโรคทางหูคอจมูก อดีตจนถึงปัจจุบัน 79 เรื่อง ส่วนใหญ่ตีพิมพ์มานานแล้ว และมักพยายามชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างการเสพกัญชากับโอกาสเกิดโรคมะเร็งในระบบหูคอจมูก มีงานวิจัยน้อยชิ้นนักที่พยายามชี้ให้เห็นว่าอาจลองนำมาใช้ในโรค Blepharospasm และใช้ลดอาการข้างเคียงจากการฉายรังสี และผลกระทบทางจิตใจของผู้ป่วยมะเร็ง แต่สุดท้ายแล้วยังไม่ได้รับการพิสูจน์เลยว่าจะได้ผลจริง
ข้อสรุป: กัญชายังไม่มีที่ใช้ในการรักษาโรคหูคอจมูก
คำถาม: เสรีกัญชาไปเล้ยยยย เดี๋ยวปัญหาบุหรี่จะหมดไปจากประเทศไทย เชื่อฉันเหอะ เชื่อมั๊ยยยยย?
คำตอบ: เค้าลองศึกษาในเด็กวัยรุ่นใน 3 โรงเรียน จำนวนราว 5,000 คน ที่แคลิฟอร์เนีย พบว่า เอายาเสพติดมาหวังจะให้ทดแทน จะกลายมาเป็นการสร้างปัญหา เพราะมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ ที่จะเสพทั้งบุหรี่และกัญชาไปทั้งสองอย่าง ยิ่งหากมีประวัติสูบบุหรี่ในช่วง 30 วันที่ผ่านมา จะมีโอกาสที่จะเสพกัญชาด้วยสูงขึ้นราว 3.2-5.5 เท่าเมื่อเทียบกับคนไม่ได้สูบบุหรี่ ในขณะที่หากสูบบุหรี่ไฟฟ้าก็ตกอีหรอบเดียวกันคือจะมีโอกาสเสพกัญชาแบบกินราว 2.5 เท่า และแบบสูบ 4 เท่า
ข้อสรุป: กัญชาจะกระหน่ำให้ปัญหายาเสพติดมากขึ้น ที่น่าจับตาคือในเด็กวัยเรียน วัยรุ่น เยาวชน
คำถาม: เสรีกัญชาไปเล้ยยยย เดี๋ยวปัญหาเหล้าและอาชญากรรมจะหมดไป ประเทศไทยจะเจริญรุ่งเรือง เชื่อฉันเหอะ เชื่อมั๊ยยยยย?
คำตอบ: เค้าลองศึกษาในคนอายุ 15-20 ปี ใน 24 ชุมชน กระจายใน 7 มลรัฐของอเมริกา ตั้งแต่ปี 2015-2016 จำนวนกว่า 2,600 คน จำนวนชายต่อหญิงพอๆ กัน พบว่า เวลาจัดปาร์ตี้ มีราวร้อยละ 72.3 ที่ดื่มเหล้าเพียงอย่างเดียว แต่มีราวร้อยละ 22.5 ที่เอาทั้งเหล้าและกัญชา แต่ไอ้พวกที่กัญชาเพียวๆ มีน้อยเพียงร้อยละ 5.2
ที่สำคัญคือ ไอ้พวกที่เอาทั้งเหล้าและกัญชานั้น จะมีปัญหาทั้งเรื่องอาการเมาค้าง ทะเลาะเบาะแว้งกับคนอื่น และมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ป้องกัน มากกว่าพวกที่ดื่มเหล้าอย่างเดียวถึง 4 เท่า
ข้อสรุป: จะพูดยังไงดีหว่า…เอาเป็นว่า สังคมไทยมีเหล้ากับบุหรี่ก็หนักหนาจนคุมไม่ได้ แต่เอากัญชาเข้ามาแบบที่เห็น คงจะเละเทะเกินบรรยาย
ป.ล. ฝากถึงคนที่อยู่ในบทบาทหน้าที่ตามหน่วยงานต่างๆ ว่า ชีวิตคนเรานั้นสั้นนัก คิดดีทำดี และกล้าหาญที่จะทัดทานอำนาจที่ใช้โดยมิชอบ น่าจะดีกว่าการเออออห่อหมกทำตามแบบซ้ายหันขวาหัน เพราะสุดท้ายแล้ว บางครั้งการยอมครั้งนี้ อาจเกิดผลเสียในระยะยาวที่แก้ไขไม่ได้ครับ
ปัจจุบันกัญชากลายเป็นเรื่อง Delusional Belief…ไม่ได้เป็นเรื่องที่ถูกชี้นำโดยข้อมูลที่พิสูจน์ได้ว่าเป็นจริง
ผู้เขียน : ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อ้างอิง
- Arkell TR et al. Cannabidiol (CBD) content in vaporized cannabis does not prevent tetrahydrocannabinol (THC)-induced impairment of driving and cognition. Psychopharmacology (Berl). 2019 Sep;236(9):2713-2724.
- Liao JY et al. Relationships between marijuana use, severity of marijuana-related problems, and health-related quality of life. Psychiatry Res. 2019 Sep;279:237-243.
- Valentino WL et al. What is the evidence for cannabis use in otolaryngology?: A narrative review. Am J Otolaryngol. 2019 Sep-Oct;40(5):770-775.
- Nguyen N et al. Past 30-day co-use of tobacco and marijuana products among adolescents and young adults in California. Addict Behav. 2019 Nov;98:106053. doi: 10.1016/j.addbeh.2019.106053. Epub 2019 Jul 15.
- Egan KL et al. More drugs, more problems? Simultaneous use of alcohol and marijuana at parties among youth and young adults. Drug Alcohol Depend. 2019 Sep 1;202:69-75. doi: 10.1016/j.drugalcdep.2019.07.003. Epub 2019 Jul 6.