บุหรี่ไฟฟ้า: นักวิชาการแฉเล่ห์ธุรกิจ ชี้ผลร้ายสุขภาพมหาศาล

ข่าวสุขภาพ อัพเดต สาธาณสุข

นักวิชาการ ชี้อันตรายสารในบุหรี่ไฟฟ้า ก่อให้เกิดการเสพติดยิ่งกว่าเฮโรอีน แอลกอฮอล์ และกัญชา อุตสาหกรรมทราบดีแต่ปิดบังข้อมูล ขณะที่เบียร์ไร้แอลกอฮอล์ งัดกลยุทธ์ สร้างแบรนด์ดีเอ็นเอแฝงโฆษณา ปูทางสร้างนักดื่มหน้าใหม่ วอนรัฐดูแล

เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2562 ที่โรงแรมแมนดาริน ในเวทีเสวนา “จากบุหรี่ไฟฟ้าถึงเบียร์ไร้แอลกอฮอล์ ทางเลือกเพื่อสุขภาพหรือการตลาดอาบยาพิษ” จัดโดยศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) เครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ และเครือข่ายปกป้องเด็กและเยาวชน ลดปัจจัยเสี่ยงทางสังคม

โดย ดร.วศิน พิพัฒนฉัตร ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า บุหรี่ไฟฟ้ามีสารนิโคติน ก่อให้เกิดการเสพติดเหมือนบุหรี่ ซึ่งมีผลวิจัยจากต่างประเทศตั้งแต่ปี 2493 พบว่า นิโคตินมีคุณสมบัติก่อให้เกิดการเสพติดสูงกว่าเฮโรอีน แอลกอฮอล์ และกัญชา ซึ่งอุตสาหกรรมยาสูบทราบดีแต่ปิดบังความจริงนี้ไว้ ขณะที่ปัจจุบันบุหรี่ไฟฟ้าบางยี่ห้อ มีสารนิโคตินสูงเทียบเท่าบุหรี่แบบปกติ 20 มวน และพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สามารถให้นิโคตินเร็วขึ้น 2.7เท่าเมื่อเทียบกับบุหรี่ไฟฟ้ายี่ห้ออื่น ๆ เพื่อให้เกิดการเสพติดได้ง่ายขึ้น จึงไม่แปลกใจที่กลุ่มธุรกิจนี้หรือกลุ่มผู้สนับสนุน พยายามผลักดันให้ประเทศไทยสามารถเสพบุหรี่ไฟฟ้าได้ด้วยข้ออ้างสารพัด

ดร.วศิน กล่าวต่อว่า ในทวีปอเมริกาเหนือ ยุโรป และเอเชีย มีผลการศึกษาที่สอดคล้องว่า วัยรุ่นที่ไม่เคยสูบบุหรี่มาก่อนและลองใช้บุหรี่ไฟฟ้ามีแนวโน้มที่จะริเริ่มสูบบุหรี่แบบปกติในเวลาต่อมา และพัฒนาไปสู่การเสพติดยาเสพติดประเภทอื่น โดยสหรัฐฯ พบการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มนักเรียนมัธยมเพิ่มขึ้นจาก 1.2 ล้านคน ในปี 2560 เป็น 3.6 ล้านคน และในปี 2561 ส่วนประเทศอิสราเอล ห้ามนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้ายี่ห้อหนึ่งเพราะมีระดับสารนิโคตินเกินมาตรฐาน ขณะที่ไต้หวัน สิงคโปร์ อินเดีย ฮ่องกง มีปัญหาเรื่องการเพิ่มขึ้นของผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มเยาวชน โดยเกาหลีใต้มีงานวิจัยศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการใช้บุหรี่ไฟฟ้ากับภาวะซึมเศร้าและพฤติกรรมการฆ่าตัวตายในวัยรุ่น พบว่า กลุ่มวัยรุ่นที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้ามีแนวโน้มที่จะพยายามฆ่าตัวตาย มากกว่าวัยรุ่นที่สูบบุหรี่ธรรมดากว่า 6 เท่า

“ปัญหาที่คาดว่าจะเกิดในอนาคตคือ ขยะอิเล็กทรอนิกส์ของแบตเตอรี่บุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งขณะนี้ไต้หวันได้ห้ามนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้าแล้ว อย่างไรก็ตามประเทศไทยมีมาตรการที่ดีที่สุดคือ ห้ามนำเข้า ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งล่าสุดขอขอบคุณนายรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่แสดงจุดยืนที่ชัดเจน ไม่ให้มีการนำเข้า จำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า” ดร.วศิน กล่าว

“น่าเป็นห่วงที่เบียร์ไร้แอลกอฮอล์ทำให้เด็กดื่มได้ เป็นการปลูกฝังให้เด็กชินกับเบียร์ ถ้าพ่อแม่ไม่รู้เท่าทันจะบ่มเพาะนิสัยเพิ่มดีกรีเมื่อเด็กโตขึ้น เหมือนสอนเด็กจากที่ดื่มเบียร์ไม่เป็น ให้ดื่มเบียร์ได้ จึงอยากเรียกร้องให้ธุรกิจเบียร์ว่าให้ทำการตลาดอย่างมีธรรมาภิบาล ยึดหลักจริยธรรมตรงไปตรงมา และน่าเป็นห่วงว่าหากต่อไปเด็กนักเรียนนักศึกษาอาจจะนิยมกินดื่มกันในสถานศึกษา ซึ่งไม่มีกฎหมายห้าม ย่อมเกิดปัญหาและความยุ่งยากตามมาแน่นอน”

ดร.บุญอยู่ ขอพรประเสริฐ
[Total: 18 Average: 5]

Leave a Reply