จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมี “เครือข่าย” หรือ กลุ่ม รวมถึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการส่งเสริม สนับสนุนและปรับสภาพแวดล้อมเพื่อให้การปรับเปลี่ยนเกิดขึ้นอย่างยั่งยืน
จึงเป็นที่มาในการดำเนินงานของทุกภาคส่วนโดยมี สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์ฯ เป็นแกนนำ ร่วมกับกรมการแพทย์ 13 เขตสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)
โดย บริษัท ซาโนฟี่-อเวนตีส (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมสนับสนุนการจัดสัมมนา “การแลกเปลี่ยนเรียนรู้การสร้างเครือข่ายและชมรมเบาหวานของประเทศไทย” ณ โรงพยาบาลราชวิถี เมื่อเร็วๆ นี้
นพ. ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า “ปัจจุบันคนไทยป่วยเป็นเบาหวานประมาณ 5 ล้านคนและมีแนวโน้มเป็นเบาหวานเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
จากปีพ.ศ. 2534 คนไทยเป็นเบาหวานร้อยละ 2.3 และปี 2557 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 8.9 เสียชีวิตจากโรคเบาหวานและภาวะแทรกซ้อนถึงร้อยละ 21.96 และยังควบคุมระดับน้ำตาลได้น้อยเพียงประมาณร้อยละ 40 มีผ้ป่วยเพียงร้อยละ 12 เท่านั้นที่สามารถควบคุมทั้ง 3 อย่าง
คือ ระดับน้ำตาล ไขมัน และความดันโลหิต ทำให้ประเทศไทยต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคเบาหวานเฉลี่ยสูงถึง 47,596 ล้านบาทต่อปี
และหากมี 3 โรคร่วมด้วย ได้แก่ ความดันโลหิตสูง หัวใจ และหลอดเลือดสมอง ทำให้ต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 3 แสนล้านบาทต่อปี”
นพ. เพชร รอดอารีย์ เลขาธิการสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ กล่าวว่า แนวทางในการรักษาผู้ป่วยเบาหวานจะต้องประกอบด้วยหลายส่วน ทั้งการให้ความรู้และสร้างทักษะเพื่อการดูแลโรคเบาหวานด้วยตนเอง การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนไข้
การให้ยาเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด และการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตนเอง ซึ่งการให้ความรู้เพื่อให้ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ดูแลและผู้ที่มีความเสี่ยง มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคเบาหวาน
วิธีการดูแลรักษาโรคเบาหวาน สร้างทักษะเพื่อการดูแลตนเองอย่างถูกต้อง และให้ความร่วมมือในการรักษาอย่างต่อเนื่อง
เพราะฉะนั้น รูปแบบการสื่อสารระหว่างแพทย์และผู้ป่วย จะต้องอาศัยความสัมพันธ์แบบพึ่งพา เป็นการหารืออภิปรายแลกเปลี่ยนกันและกัน จนเห็นพ้องต้องกัน จึงจะทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจอย่างถ่องแท้ และปฏิบัติได้อย่างยั่งยืน