ศบค.เผย 9 วันของเดือนธันวาคม ต่างชาติเข้าไทย 6.2 หมื่นคน พบติดโควิด 102 คน รวม 39 วันพบติดเชื้อโควิดสะสม 273 คน ขณะที่ประเทศที่พบผู้ติดเชื้อโอไมครอนล่าสุดกระจายไป 62 ประเทศทั่วโลกรวมไทยด้วย และ 3 ประเทศที่พบล่าสุด ได้แก่ สิงคโปร์ คิวบา และเลบานอน ส่วนที่เกาหลีใต้วันเดียวพบถึง 22 ราย
วันที่ 10 ธันวาคม 2564 ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การติดเชื้อ COVID-19 ในประเทศประจำวันว่า ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564 มีผู้ป่วยรายใหม่ 4,193 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 2,131,917 ราย หายป่วยแล้ว 2,055,525 ราย วันนี้เสียชีวิตเพิ่ม 28 ราย รวมเสียชีวิตสะสม 21,018 ราย ขณะที่วันนี้พบชาวต่างชาติที่เดินทางจากต่างประเทศเข้ามาติดเชื้อจำนวน 29 ราย
โอไมครอนระบาดแล้ว 62 ประเทศ
ส่วนสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทั่วโลก ข้อมูล ณ วันศุกร์ที่ 10 ธันวาคม 2564 เวลา 10.00 น. มียอดผู้ติดเชื้อรวม 268,720,884 ราย อาการรุนแรง 88,969 ราย รักษาหายแล้ว 241,731,421 ราย และเสียชีวิต 5,302,495 ราย
ศบค.ยังรายงานว่า สำหรับการพบโควิดสายพันธุ์ใหม่โอไมครอน (Omicron) ทั่วโลกพบแล้ว 62 ประเทศ/พื้นที่ เพิ่มจากวานนี้ซึ่งอยู่ที่ 59 ประเทศ โดยประเทศที่พบการติดเชื้อโอไมครอนล่าสุด ได้แก่ สิงคโปร์ คิวบา และเลบานอน
เกาหลีใต้พบผู้ติดเชื้อโอไมครอนอีก 22 ราย
ศบค.รายงานว่า ที่เกาหลีใต้พบผู้ติดเชื้อโควิดสูงกว่า 7,000 รายติดต่อกันเป็นวันที่สอง และเป็นสายพันธุ์ Omicron อีก 22 ราย โดยศูนย์ควบคุมโรคติดต่อของเกาหลีใต้รายงานพบผู้ติดเชื้อ COVID-19 จำนวน 7,102 ราย ซึ่งถือเป็นการติดเชื้อที่มากเป็นประวัติการณ์และสูงกว่า 7 พันรายติดต่อกันเป็นวันที่สอง
การแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วดังกล่าวส่งผลให้จำนวนผู้ป่วยหนักเมื่อ 9 ธ.ค. 64 เพิ่มเป็น 807 ราย อันเป็นผลจากการที่ภูมิคุ้มกันจากวัคซีน COVID-19 เริ่มลดประสิทธิภาพลง ประกอบกับสภาพอากาศหนาวเย็นมากขึ้น
นอกจากนี้ ในวันเดียวกัน เกาหลีใต้พบผู้ติดเชื้อ COVID-19 สายพันธุ์ Omicron อีก 22 ราย ส่งผลให้ยอดรวมผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ดังกล่าวเพิ่มเป็น 66 ราย ทั้งนี้ ศูนย์ควบคุมโรคติดต่อของเกาหลีใต้ประเมินว่าจำนวนผู้ติดเชื้ออาจเพิ่มขึ้นเป็นวันละ 8,000-9,000 รายภายในปลาย ธ.ค. 64 หรืออาจเพิ่มเป็น 8,000-10,000 ราย ในปลาย ม.ค. 65
ส่วนข้อมูลสะสมตั้งแต่ปี 2563 มีผู้ป่วยยืนยันสะสม 2,160,780 ราย หายป่วยแล้ว 2,082,951 ราย เสียชีวิตสะสม 21,112 ราย
สำหรับผู้มาขอรับวัคซีน ข้อมูล ณ วันที่ 9 ธันวาคม 2564 มีผู้รับการฉีดวัคซีน เข็มที่ 1 จำนวน 165,318 ราย เข็มที่ 2 จำนวน 219,253 ราย และเข็มที่ 3 จำนวน 95,441 ราย และระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์-9 ธันวาคม 2564 มีผู้รับวัคซีนสะสมทั้งหมดจำนวน 96,821,760 โดส เฉพาะเข็มที่ 1 คิดเป็น 69% ของจำนวนประชากร ส่วนเข็มที่ 2 คิดเป็น 59.8% ของจำนวนประชากร (ตามตาราง)
- จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 1 สะสม : 49,733,993 ราย
- จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 2 สะสม : 43,075,123 ราย
- จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 3 สะสม : 4,012,644 ราย
เปิดประเทศ 39 วัน ต่างชาติติดโควิด 273 คน
ส่วนผลการดำเนินงานการรับผู้ที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร ณ ท่าอากาศยาน ตั้งแต่วันที่ 1-9 ธันวาคม 2564 มีต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศจำนวน 62,070 ราย พบผู้ติดเชื้อโควิด 102 ราย อัตราการติดเชื้ออยู่ที่ 0.16 %
แต่เมื่อรวมนับตั้งแต่เปิดประเทศ (1พ.ย.-9 ธ.ค. 64) มีต่างชาติเดินทางเข้ามาแล้ว 195,131 ราย ติดเชื้อโควิดรวม 273 ราย และระบบ Test & Go หรือระบบไม่กักตัว มีผู้เดินทางเข้ามามากที่สุด และพบผู้ติดเชื้อโควิดมากที่สุดเช่นกันจำนวน 59 คน
10 จังหวัดติดเชื้อสูงสุด
10 จังหวัดติดเชื้อสูงสุดวันนี้ อันดับ 1 ยังเป็น กทม. 629 ราย ซึ่งลดลงจากวานนี้โดยมียอดสะสมอยู่ที่ 429,925 ราย รองลงมาเป็นนครศรีธรรมราช 460 ราย สงขลา 213 ราย ชลบุรี 175 ราย สมุทรปราการ 155 ราย ปัตตานี 143 ราย สุราษฎร์ธานี 125 ราย ยะลาและลำพูน จังหวัดละ 102 ราย และอันดับ 10 เป็นเชียงใหม่ 90 ราย
สำหรับผู้เสียชีวิต 28 รายในวันนี้ เป็นชาย 15 ราย หญิง 13 ราย เป็นคนไทย 27 ราย และเมียนมา 1 ราย กลุ่มผู้เสียชีวิตยังอยู่ในกลุ่มผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และมีโรคเรื้อรังรวม 26 ราย คิดเป็นร้อยละ 90 ของจำนวนผู้เสียชีวิตในวันนี้
ขณะที่เมื่อแยกตามพื้นที่ของผู้เสียชีวิตพบว่าอยู่ในจังหวัดภาคเหนือมากที่สุด 12 ราย ได้แก่ เพชรบูรณ์ 4 ราย เชียงราย 3 ราย แพร่ 3 ราย และแม่ฮ่องสอน 2 ราย รองลงมาเป็นกลุ่มจังหวัดภาคใต้รวม 7 ราย ที่เหลือกระจายอยู่ใน กทม. 2 ราย นครปฐม 1 ราย หนองบัวลำภู และอุบลราชธานี จังหวัดละ 1 ราย โดยมีปัจจัยเสี่ยงมาจากโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคอ้วน โรคไต ผู้ป่วยติดเตียง เป็นต้น
สำหรับอันดับประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด คือ 1.สหรัฐอเมริกา จำนวน 50,535,791 ราย 2.อินเดีย จำนวน 34,674,408 ราย 3.บราซิล จำนวน 22,177,059 ราย 4.สหราชอาณาจักร จำนวน 10,660,981 ราย 5.รัสเซีย จำนวน 9,925,806 ราย ส่วนประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 24 ของโลก จากจำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสม 2,160,780 ราย