การประกาศผ่อนปรนมาตรการอันเข้มงวดของรัฐบาลช่วยให้ประเทศไทยกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง คนหาเช้ากินค่ำเริ่มมีรายได้ พ่อค้าแม่ขายทยอยเปิดร้านรวง ประชาชนคลายกังวลอย่างเห็นได้ชัด เชื่อว่าทุกคนภาวนาให้สัญญาณบวกในครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นของความปกติ
ตลอดระยะเวลาที่โควิด 19 แพร่ระบาด สิ่งที่แพร่ระบาดไปไกลมากกว่าคือความวิตกจริต หลายครั้งเราจึงรู้สึกครั่นเนื้อครั่นตัวเหมือนจะเป็นไข้ รู้สึกตกใจเมื่อคิดได้ว่าเผลอใช้มือขยี้ตาหรือป้ายปาก ขณะที่ในหัวก็เอาแต่ถามตัวเองว่า “เราติดโควิดแล้วหรือยัง”
ถึงแม้แนวโน้มตัวเลขผู้ติดเชื้อจะลดต่ำลงจนอยู่ในระดับที่น่าพอใจบ้างแล้ว แต่ใช่หรือไม่ว่าเมื่อใครสักคนกระแอมเสียงในลำคอขึ้นมาให้ได้ยิน เราฉากหลบแทบไม่เป็นขบวน ในทางกลับกันหากเราเป็นฝ่ายไอเสียเอง คำถามที่ว่า “เราติดโควิดแล้วหรือยัง” ก็จะวนเวียนกลับมาอีก
แท้จริงแล้ว โรคโควิด 19 ต้องมีอาการหลายอย่างประกอบกัน อาทิ ไอ เจ็บคอ ไข้สูง หายใจเหนื่อยหอบ ที่สำคัญคือต้องมีพฤติกรรมประวัติความเสี่ยง แต่ด้วยความอันตรายของโรคนี้คือการสร้างผลกระทบต่อปอด และระบบทางเดินหายใจ อาการที่แสดงออกมาจึงมีความคล้ายคลึงกับอีกหลายโรค หนึ่งในนั้นคือ “โรคหืด”
เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนและวิตกกังวลกันไปใหญ่ สอดรับกับที่องค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์การหืดโลก Global Initiative for Asthma กำหนดให้วันอังคารแรกของเดือนพฤษภาคมของทุกปีเป็น “วันโรคหืดโลก” (world asthma day) ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันที่ 5 พ.ค. 2563
จึงเป็นโอกาสดีที่เราจะได้ทำความรู้จักกับโรคนี้ ไปพร้อมกับผู้ที่ป่วยด้วยโรคหืดที่จะได้รับคำแนะนำการปฏิบัติตัวในช่วงโควิด 19 แพร่ระบาด