‘ไทย’ ติดอันดับ 6 ประเทศมั่นคงด้านสุขภาพ เป็นประเทศกำลังพัฒนาหนึ่งเดียวใน Top 10 มหาวิทยาลัยจอนส์ ฮอปกินส์ เสนอผลวิจัยระดับความเข้มแข็งด้านความมั่นคงด้านสุขภาพ (Health Security) ของทุกประเทศทั่วโลก พบ ประเทศไทย ได้รับการจัดอันดับให้เป็นประเทศที่มีความเข้มแข็งด้านความมั่นคงด้านสุขภาพ (Health security) เป็นอันดับที่ 6 จากทั้งหมด 195 ประเทศ และเป็นประเทศกำลังพัฒนาประเทศเดียวที่ถูกจัดให้อยู่ในอันดับ ท็อปเท็นของโลก อันดับที่ 1 ในเอเชีย
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยจอนส์ ฮอปกินส์ (John Hopkins University และ Nuclear Threat Initiative) ได้นำเสนอผลการวิจัยระดับความเข้มแข็งด้านความมั่นคงด้านสุขภาพ (Health Security) ของทุกประเทศทั่วโลก ในการประชุมคณะทำงานขับเคลื่อนวาระความมั่นคงด้านสุขภาพโลก (Global Health Security Agenda (GHSA) Steering Group Meeting) ณ สำนักงานคณะผู้แทนถาวรราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ประจำสหภาพยุโรป กรุงบรัสเซลส์ ราชอาณาจักรเบลเยียม เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2562
โดยประเทศไทยได้รับการจัดอันดับให้เป็นประเทศที่มีความเข้มแข็งด้านความมั่นคงด้านสุขภาพเป็นอันดับที่ 6 จากทั้งหมด 195 ประเทศ เป็นประเทศกำลังพัฒนาประเทศเดียวที่ถูกจัดให้อยู่ใน 10 อันดับสูงสุด (Top 10) ของโลก และเป็นอันดับ 1 ในเอเชียด้วยคะแนน 73.2 จาก 100 คะแนน ทำให้ได้รับการยกย่องว่าเป็นประเทศที่มีความพร้อมในการรับมือต่อการระบาดของโรคมากที่สุด ซึ่งมีเพียง 13 ประเทศทั่วโลกเท่านั้น นับเป็นความภาคภูมิใจของไทยเป็นอย่างมากที่มีระบบการป้องกันและควบคุมโรคที่เข้มแข็งเป็นที่ยอมรับในระดับโลก
นายอนุทิน กล่าวต่อว่า การประชุมครั้งนี้ ได้มอบหมายให้ นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข และ นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค นำคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุม ซึ่งมีวาระการประชุมที่สำคัญคือการกำหนดบทบาทเชิงยุทธศาสตร์ของคณะทำงานขับเคลื่อนวาระความความมั่นคงด้านสุขภาพโลกเพื่อให้บรรลุเป้าหมายแผนการดำเนินงาน 5 ปีของวาระความมั่นคงด้านสุขภาพโลก (พ.ศ. 2562- 2567) โดยที่ประชุมฯ มีมติเห็นชอบให้ไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมระดับรัฐมนตรีของ GHSA ในปี 2563 และเป็นประธานคณะทำงานขับเคลื่อน GHSA ในปี 2564 ซึ่ง GHSA เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2557 เพื่อยกระดับการเฝ้าระวังโรคระบาดให้เข้มแข็งผ่านยุทธศาสตร์การป้องกัน การเฝ้าระวังและการตอบโต้โรคที่มีประสิทธิภาพ ปัจจุบันมีสมาชิกมากกว่า 60 ประเทศ
ทั้งนี้ 10 อันดับประเทศที่มีความเข้มแข็งด้านความมั่นคงด้านสุขภาพ (Health security)
- สหรัฐอเมริกา 83.5 คะแนน
- สหราชอาณาจักร 77.9 คะแนน
- เนเธอร์แลนด์ 75.6 คะแนน
- ออสเตรเลีย 75.5 คะแนน
- แคนาดา 75.3 คะแนน
- ไทย 73.2 คะแนน
- สวีเดน 72.1 คะแนน
- เดนมาร์ก 70.4 คะแนน
- เกาหลีใต้ 70.2 คะแนน
- ฟินแลนด์ 68.7 คะแนน
โดยการจัดอันดับนี้วัดจาก 6 ด้าน ได้แก่
- การป้องกันโรค
- ความสามารถในการตรวจจับโรคและรายงานที่รวดเร็ว
- การตอบโต้ที่รวดเร็ว
- มีระบบสุขภาพที่เข้มแข็ง
- มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาศักยภาพของประเทศ มีแผนงบประมาณด้านป้องกันควบคุมโรคและดำเนินงานตามแนวปฏิบัติสากล
- มีความเสี่ยงต่อภัยคุกคามด้านชีวภาพต่ำ
โดยมีคะแนนเฉลี่ยของโลกเท่ากับ 40.2 จาก 100 คะแนน ซึ่งจะเป็นข้อมูลสำคัญให้กับคณะทำงานขับเคลื่อน GHSA ในการวางแผนสนับสนุนการสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพโลกของประเทศสมาชิกให้มีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น
5 thoughts on “6 อันดับประเทศที่มีความเข้มแข็งด้านความมั่นคงด้านสุขภาพ (Health security)ปี 2019”