COVID-19: เทียบวิธีการตรวจโควิดแบบแอนติเจนและพีซีอาร์

ข่าวสุขภาพ อัพเดต สาธาณสุข

กระทรวงสาธารณสุขเห็นชอบให้สถานพยาบาลและหน่วยตรวจหาเชื้อโควิด-19 ใช้ชุดตรวจแอนติเจนแบบทราบผลเร็ว (Rapid Antigen Test) เป็นอีกแนวทางในการตรวจหาเชื้อโรคโควิด เพื่อเพิ่มโอกาสในการตรวจหาเชื้อในสถานการณ์ที่มีการระบาดหลายพื้นที่ แก้ปัญหาประชาชนต้องรอคิวนานจากการตรวจหาเชื้อด้วยวิธีการใช้บุคลากรทางการแพทย์เก็บตัวอย่างเชื้อ (swab) จากจมูกไปวิเคราะห์ผลทางห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ ตามวิธีที่เรียกว่า พีซีอาร์ (PCR)

Rapid Antigen Test คืออะไร มีการทำงานอย่างไร แล้วมีข้อดีข้อเสียอย่างไรเมื่อเทียบกับการตรวจแบบ PCR

Rapid Antigen Test คืออะไร

Rapid Antigen Test คือ การตรวจชนิดหนึ่งของ Lateral Flow Test (LFT) ซึ่งเป็นการตรวจวินิจฉัยโรคด้วยอุปกรณ์ทดสอบอย่างง่ายและรวดเร็ว คล้ายกับชุดตรวจการตั้งครรภ์ด้วยตัวเองที่สามารถใช้ที่บ้าน ที่ทำงาน หรือที่ศูนย์ตรวจในชุมชน

สำหรับชุด Rapid Antigen Test เป็นการตรวจหาโปรตีนซึ่งปรากฏอยู่ในร่างกายผู้ที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนาที่ก่อโรคโควิด-19

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์แนะนำวิธีการใช้ชุดตรวจ Rapid Antigen Test ไว้ดังนี้

  • ใช้ไม้สวอบป้ายเก็บตัวอย่างเชื้อจากโพรงจมูกหรือลำคอ
  • จุ่มไม้สวอบลงในหลอดที่มีน้ำยาสกัด หมุนและบีบอย่างน้อย 5 รอบ นำไม้สวอบออก แล้วปิดด้วยจุกฝาหลอดหยอด
  • หยอดน้ำยาลงในตลับทดสอบตามจำนวนที่ชุดตรวจกำหนด
  • รอผลหลังจากหยดน้ำยาตามช่วงเวลาที่ชุดตรวจกำหนดไว้ โดยมาก 15-30 นาที (ห้ามอ่านผลก่อนหรือหลังเวลาที่กำหนดไว้)
  • การอ่านผลตรวจ

ผลบวก หรือติดเชื้อ จะมีแถบปรากฏขึ้นทั้งสองแถบคือ แทบทดสอบ (T) และแถบควบคุม (C)

ผลลบ หรือไม่ติดเชื้อ จะปรากฏเฉพาะแถบควบคุม (C)

ผลใช้งานไม่ได้ จะไม่มีแถบควบคุม (C) ปรากฏขึ้น มีแค่แถบทดสอบ (T)

มีข้อดีอย่างไร

การตรวจแบบ LFT ใช้งานง่าย และทราบผลรวดเร็ว โดยจะแสดงผลตรวจภายในเวลาประมาณ 30 นาที เหมาะสำหรับให้คนทั่วไปใช้งาน โดยมักใช้เพื่อคัดกรองเชื้อไวรัสเบื้องต้นสำหรับผู้ต้องสงสัยจะติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการป่วย เพื่อให้ผู้ติดเชื้อได้รู้ตัวและเข้าสู่กระบวนการกักตัว และป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น

ข้อมูลจากสหราชอาณาจักรพบว่า ราว 1 ใน 3 ของผู้ติดเชื้อโรคโควิดจะไม่แสดงอาการป่วย ดังนั้นการตรวจวิธีนี้จึงช่วยให้สามารถบ่งชี้ตัวผู้ติดเชื้อที่อาจไม่ถูกนับรวมเข้าในจำนวนผู้ติดเชื้อ ซึ่งถือเป็นวิธีการที่มีประโยชน์ในการประเมินความชุกและอัตราการติดเชื้อ เพื่อต่อสู้กับโรคระบาดนี้

ทางการสหราชอาณาจักรมีบริการจัดส่งชุดตรวจหาเชื้อ Rapid Antigen Test ฟรี ให้แก่ประชาชนทุกคนที่อายุ 11 ปีขึ้นไป ตั้งแต่เมื่อเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา โดยประชาชนสามารถขอรับชุดตรวจผ่านทางเว็บไซต์สำนักงานบริการสาธารณสุขแห่งชาติ (NHS) ที่จะจัดส่งชุดตรวจให้ถึงบ้านโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยมีเงื่อนไขว่า ผู้ขอรับชุดตรวจต้องไม่มีอาการของโควิด-19 อยู่แล้ว นอกจากนี้ ที่ทำงาน โรงเรียน และมหาวิทยาลัย ก็มักจัดชุดตรวจของทางการเหล่านี้ให้แก่ลูกจ้าง หรือนักเรียน นักศึกษาด้วย

มีข้อเสียอย่างไร

การตรวจแบบ LFT ได้รับการยอมรับว่ามีประสิทธิภาพเพียงพอในการใช้ตรวจประชากรจำนวนมาก ซึ่งรวมถึงกลุ่มผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการ

อย่างไรก็ตาม การตรวจวิธีนี้ไม่สามารถตรวจหาเชื้อโรคโควิดที่มีปริมาณน้อยได้ ซึ่งหมายความว่า หากคุณเพิ่งจะติดเชื้อ หรืออยู่ในระยะฟักตัวของโรค หรือหากคุณเพิ่งจะหายจากโรค การตรวจก็อาจไม่แสดงผลเป็นบวก

ความแม่นยำในการตรวจแบบ LFT ก็ยังขึ้นอยู่กับบุคคลที่ทำการตรวจด้วย

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข อธิบายเรื่องนี้ว่า การตรวจด้วย Rapid Antigen Test เมื่อตรวจแล้วผลเป็นลบไม่ได้แปลว่าไม่ติดเชื้อ แต่เชื้ออาจจะน้อยและตรวจไม่เจอ ดังนั้น หากผลเป็นลบยังต้องกลับไปกักตัว และรอติดตามมาตรวจภายหลัง ส่วนผลเป็นบวก เนื่องจากอาจเป็นผลบวกลวงก็ต้องมีการตรวจซ้ำด้วย PCR ซึ่งหากผลเป็นลบก็ต้องกลับไปดูแลกักตัวเช่นกันเพราะมีความเสี่ยงมาก แต่หากเป็นบวกก็จะนำเข้าสู่ระบบการรักษาต่อไป

ขณะที่ทางการสหราชอาณาจักรแนะนำว่า หากผลการตรวจแบบ LFT เป็นบวก ให้เข้ารับการตรวจแบบ PCR ภายใน 24 ชั่วโมง และกักตัวเป็นเวลา 10 วัน

หากตรวจแบบ PCR ของคุณเป็นลบ แต่การตรวจไม่ได้ทำภายใน 24 ชั่วโมง คุณและผู้สัมผัสใกล้ชิดคุณจะต้องกักตัว 10 วัน โดยให้เริ่มนับตั้งแต่วันแรกที่ผลตรวจแบบ LFT เป็นบวก

การตรวจแบบ LFT และ PCR ต่างกันอย่างไร

การตรวจ PCR ย่อมาจาก polymerase chain reaction หรือปฏิกิริยาลูกโซ่พอลิเมอเรส ถือเป็นวิธีการตรวจโควิด-19 ที่แม่นยำที่สุดที่มีอยู่ในปัจจุบัน โดยตรวจจับกรดไรโบนิวคลีอิก (ribonucleic acid) หรือ อาร์เอ็นเอ (RNA) ของเชื้อไวรัสโคโรนาก่อโรคโควิด ซึ่งเป็นโมเลกุลลักษณะเดียวกับดีเอ็นเอ

การตรวจ PCR ต้องทำในห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ (ห้องแล็บ) เพื่อตรวจหา RNA ที่มีปริมาณน้อยมาก และมักได้ผลออกมาภายใน 24 ชั่วโมง

ผู้แสดงอาการโควิดจะต้องเข้ารับการตรวจยืนยันด้วยวิธี PCR เพราะการตรวจแบบแสดงผลเร็ว LFT มักใช้ตรวจคัดกรองผู้สงสัยติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการ

โดยการตรวจแบบ LFT จะตรวจจับโปรตีนซึ่งปรากฏอยู่ในร่างกายผู้ที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนาที่ก่อโรคโควิด-19

[Total: 2 Average: 5]

One thought on “COVID-19: เทียบวิธีการตรวจโควิดแบบแอนติเจนและพีซีอาร์

Leave a Reply

Discover more from HEALTH ME NOW

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading