เมื่อข้อจำกัด ‘โควิด-19’ กำลังจะถูกกำจัดด้วยวัคซีน ! หนึ่งในธุรกิจที่กลับมาสดใสต้องยกให้ ‘โรงพยาบาลเอกชนระดับไฮเอนด์’ หลังเริ่มเห็นสัญญาณสัดส่วนคนไข้ต่างชาติเริ่มฟื้นตัว ฟาก ‘กูรู’ มองปีหน้าผลการดำเนินงานกลับมารุ่งเรืองอีกครั้ง…
แม้ที่ผ่านมาภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ! แต่ ‘ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนไทย’ โดยเฉพาะระดับ ‘ไฮเอนด์’ ทิศทางเติบโตต่อเนื่อง !! บ่งชี้ตลาดมีทั้งผู้เล่นรายเก่า-ใหม่ กระโดดเข้ามาแบ่งเค้กก้อนใหญ่ระดับแสนล้านบาท…โดยเฉพาะกลุ่มทุนหนาในหลายตระกูลดัง หวังกระจายความเสี่ยงจากธุรกิจหลักมาสู่หนึ่งในธุรกิจที่เป็นปัจจัย 4 ของคน
ทว่าครบรอบ 1 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่พบการแพร่ระบากเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2019 (โควิด-19) คงปฏิเสธไม่ได้ว่าแม้แต่ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนไทยยังได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เฉกเช่นกัน…โดยเฉพาะกลุ่มโรงพยาบาลที่พึ่งพิงสัดส่วนรายได้จาก ‘คนไข้ต่างชาติ’ เป็นหลัก
สะท้อนผ่าน 2 โรงพยาบาลใหญ่ที่มีสัดส่วนรายได้คนไข้ต่างชาติระดับสูงคือ บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ หรือ BDMS และ บมจ.โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ หรือ BH โดยปี 2562 ก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 BDMS มีสัดส่วนคนไข้ต่างชาติประมาณ 30% ส่วน BH สัดส่วนคนไข้ต่างชาติประมาณ 66%
สำทับด้วยตัวเลขผลประกอบการของบริษัทที่ประกอบธุรกิจโรงพยาบาลขนาดใหญ่ 2 ราย ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (บจ.) ซึ่งมีสัดส่วนคนไข้ต่างชาติพอร์ตใหญ่ 3 ปีย้อนหลัง (2560-2562) โดย BDMS มีกำไรสุทธิ 10,215.74 ล้านบาท 9,191.46 ล้านบาท และ 15,517.17 ล้านบาท ส่วน BH มีกำไรสุทธิ 3,943.89 ล้านบาท 4,151.89 ล้านบาท และ 3,747.73 ล้านบาท ตามลำดับ
ขณะที่งวด 9 เดือน ปี 2563 กำไรสุทธิได้รับผลกระทบจากระบาดของโควิด-19 ส่งผลกำไรสุทธิลดลง โดย BDMS กำไรสุทธิอยู่ที่ 4,826.56 ล้านบาท ลดลง 63% จากงวด 9 เดือน ปี 2562 อยู่ที่13,194.6 ล้านบาท ส่วน BH กำไรสุทธิอยู่ที่ 1,031.15 ล้านบาท ลดลง 64% จากงวด 9 เดือนปี 2562 อยู่ที่ 1,031.15 ล้านบาท
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดรายได้ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ปี 2564 น่าจะกลับมาขยายตัวราว 1-4% เมื่อเทียบกับปีก่อนที่หดตัว 14.1% ขณะที่กำไรสุทธิน่าจะกลับมาขยายตัว 15-20% จากปีก่อน แต่การฟื้นตัวดังกล่าวคาดว่าจะยังไม่กลับเข้าสู่ระดับก่อนโควิด-19 ในปี 2562
โดยมีปัจจัยด้านโควิด-19 ที่ยังคง ‘กดดัน’ การทำรายได้และกำไรของโรงพยาบาลเอกชนต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มโรงพยาบาลเอกชนที่พึ่งพารายได้จากคนไข้ต่างชาติในสัดส่วนที่สูง ขณะที่กลุ่มโรงพยาบาลเอกชนที่พึ่งพารายได้จากคนไข้ชาวไทยกลุ่มประกันสังคมและข้าราชการ น่าจะยังพอไปได้หรือได้รับผลกระทบน้อยกว่าโรงพยาบาลเอกชนใน Segment อื่นๆ
อย่างไรก็ตาม คาดในปี 2564 คนไข้ชาวต่างชาติที่เข้ารับการรักษาพยาบาลในไทยอาจมีประมาณ 1.57-1.77 ล้านคน (ครั้ง) เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ที่มีจำนวนราว 1.45 ล้านคน (ครั้ง) ซึ่งตัวเลขดังกล่าวยังไม่กลับเข้าสู่ภาวะปกติที่มีจำนวนคนไข้ต่างชาติเข้ามารับการรักษาพยาบาลอยู่ที่ราว 3.75 ล้าน (ครั้ง) ในปี 2562
ทั้งนี้ กลุ่มโรงพยาบาลเอกชนที่พึ่งพารายได้จากคนไข้ต่างชาติในสัดส่วนที่สูง โดยเฉพาะกลุ่ม Medical Tourism น่าจะได้รับผลกระทบและมีความเสี่ยงมากกว่ากลุ่มโรงพยาบาลเอกชนใน Segment อื่นๆ เนื่องจากตลาดคนไข้ต่างประเทศน่าจะยังไม่สามารถกลับเข้ามาใช้บริการได้เป็นปกติ โดยเฉพาะกลุ่มคนไข้สหรัฐฯ ยุโรป และเมียนมา ที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ภายในประเทศยังไม่คลี่คลาย
ตลาดรพ.เอกชนแข่งขันยาก-รุนแรง
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การแข่งขันของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนจะยากและรุนแรงขึ้น จากผู้ประกอบการที่มีอยู่จำนวนมากในตลาด ขณะที่คนไข้ที่มีศักยภาพกลับไม่ได้เพิ่มขึ้นตาม โดยเฉพาะคนไข้กลุ่ม Medical Tourism ที่น่าจะยังไม่กลับมาเป็นปกติ ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องปรับกลยุทธ์โดยการแย่งชิงตลาดคนไข้ในประเทศ ที่ได้รับแรงกดดันจากกำลังซื้อที่ยังไม่ฟื้นตัวเช่นกัน ส่งผลให้การรักษาฐานลูกค้าเดิม หรือการมองหาตลาดลูกค้าใหม่ๆ มาทดแทน เช่น กลุ่มลูกค้าประกันสุขภาพเอกชน อาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายนัก
ดังนั้น ระยะสั้น ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนในแต่ละ Segment อาจจะต้องมีการปรับตัวเพื่อประคองการเติบโตของธุรกิจ โดยการควบคุมค่ารักษาพยาบาลให้คนไข้สามารถเข้าถึงได้ การเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับกับคนไข้ต่างชาติที่เริ่มทยอยเข้ามาใช้บริการรักษาพยาบาลในไทย (กลุ่ม Special Tourism Visa: STV และกลุ่มอื่นๆ ที่รัฐอาจจะพิจารณาเพิ่ม)
ขณะที่ระยะกลางถึงยาว ควรนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการต้นทุนและอำนวยความสะดวก รวมถึงการมองหารายได้ใหม่ๆ เพื่อกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจ ซึ่งธุรกิจในกลุ่ม Non-hospital เป็นกลุ่มธุรกิจที่น่าสนใจและมีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้น เช่น ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ ธุรกิจอุปกรณ์และเครื่องมือแพทย์ เป็นต้น
ในช่วงปี 2563 ที่ผ่านมา ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนเป็นหนึ่งธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 สะท้อนได้จาก รายได้และกำไรสุทธิในช่วง 9 เดือนแรกของโรงพยาบาลเอกชน (ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ) หดตัวอยู่ที่ -14.2% และ -54.8% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว
โดยโรงพยาบาลเอกชนที่พึ่งพารายได้จากคนไข้กลุ่ม Medical Tourism ในสัดส่วนที่สูง น่าจะได้รับผลกระทบค่อนข้างหนัก จากจำนวน Medical Tourism ที่คาดว่าจะหายไปไม่ต่ำกว่า 85% ของจำนวน Medical Tourism ทั้งหมด
ขณะเดียวกัน ด้วยกำลังซื้อของคนในประเทศที่ยังไม่ฟื้นตัวและการแข่งขันของตลาดในประเทศที่รุนแรงขึ้น ทำให้โรงพยาบาลเอกชนที่เจาะกลุ่มคนไข้เงินสดเป็นหลักได้รับผลกระทบเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม โรงพยาบาลเอกชนที่เจาะกลุ่มลูกค้าประกันสุขภาพของภาครัฐ เช่น กลุ่มประกันสังคม ข้าราชการ น่าจะประคับประคองรายได้ หรือได้รับผลกระทบน้อยกว่ากลุ่มธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนที่จับกลุ่มลูกค้าใน Segment อื่นๆ
สะท้อนผ่านภาพโรงพยาบาลใหม่ที่ลงทุนสร้างมาเสิร์ฟตลาดลูกค้าไฮเอนด์ยังเปิดให้บริการไม่เต็มที่ เช่น โรงพยาบาลเมดพาร์ค (Med Park) ย่านพระราม 4 ที่เปิดให้บริการรักษาพยาบาลในเฟสแรกแล้วบางส่วน ขณะที่โรงพยาบาลวิมุต โรงพยาบาลแห่งแรกของ ‘พฤกษา’ และเริ่มก่อสร้างในช่วงปลายปี 2560 ด้วยงบประมาณเกือบ 5,000 ล้านบาท ล่าสุดเตรียมเปิดให้บริการเฟสแรกเดือนพ.ค. 2564 จากเดิมคาดว่าจะเปิดในปี 2563
สำหรับโรงพยาบาลที่มีฐานคนไข้คนไทยยังสามารถเติบโตได้ เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้ประชาชนสนใจเรื่องของสุขภาพมากขึ้น ฉะนั้น จะเห็นภาพการขยายตัวของธุรกิจโรงพยาบาลโดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร (กทม.) อีกประเด็นจากการที่ประชาชนทำประกันสุขภาพมากขึ้น ทำให้กลุ่มคนไข้ประกันสุขภาพขยับขึ้นมาจับต้องการรักษาที่สะดวกสบายมากยิ่งขึ้น