สิงคโปร์กับตำแหน่งศูนย์กลางรักษาพยาบาลในภูมิภาค

5 โรงพยาบาลเอกชนที่ดีที่สุดในประเทศไทย มูลค่าการตลาดสูงสุด ยอดเยี่ยม ดีที่สุดในเอเซีย ดีที่สุดในโลก แพงที่สุด Health Me Now

สิงคโปร์นับว่าเป็นศูนย์กลางรักษาพยาบาลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีความได้เปรียบทั้งในด้านเทคโนโลยีอุปกรณ์ทางการแพทย์ คุณภาพบุคลากร และความเชี่ยวชาญด้านการตลาด อย่างไรก็ตาม ได้เผชิญความท้าทายจากไทยและมาเลเซียมากขึ้นเรื่อยๆ จึงต้องพยายามปรับกลยุทธ์เพื่อรองรับการแข่งขัน

หน่วยงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจ (EDB) ของสิงคโปร์ได้มีนโยบาย Industry 21 (นโยบายอุตสาหกรรมสำหรับศตวรรษที่ 21) ซึ่งตั้งเป้าหมายไม่เฉพาะที่จะพัฒนาประเทศเพื่อเป็นศูนย์กลางทางอุตสาหกรรมเท่านั้น ยังมีเป้าหมายด้วยว่าในศตวรรษที่ 21 จะเป็นศูนย์กลางในเอเชียในด้านบริการทางการแพทย์ เทคโนโลยีทางการแพทย์ และการผลิตยารักษาโรค

เดิมเมื่อประมาณ 10 ปีมาแล้ว สิงคโปร์เป็นศูนย์กลางการรักษาพยาบาลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นำหน้าโรงพยาบาลในประเทศอื่นๆ อย่างไม่เห็นฝุ่น โดยเฉพาะบริการแก่ลูกค้าระดับบนซึ่งยินดีจ่ายเงินจำนวนมากเพื่อแลกกับคุณภาพบริการระดับสูง แต่ปัจจุบันสิงคโปร์ถูกโรงพยาบาลเอกชนในประเทศไทยและมาเลเซียแย่งตลาดการรักษาพยาบาลชาวต่างประเทศเป็นอันมาก

การเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของสิงคโปร์ไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากสิงคโปร์มีอัตราค่าจ้างแรงงานสูงกว่าไทยและมาเลเซียเป็นอันมาก เพื่อแก้ไขสถานการณ์ รัฐบาลสิงคโปร์ได้พยายามดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อรักษาตำแหน่งการเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากบริการสุขภาพเป็นธุรกิจที่อยู่บนพื้นฐานของความรู้ มีมูลค่าเพิ่มสูง และมีศักยภาพในการนำรายได้เข้าประเทศ

สำหรับยุทธศาสตร์ของสิงคโปร์ นาย Balaji Sadasivan รัฐมนตรีของสิงคโปร์ ได้กล่าวเมื่อกลางปี 2547 ว่าโรงพยาบาลเอกชนของสิงคโปร์จะต้องไม่เน้นแข่งขันในด้านราคา แต่จะต้องเน้นแข็งขันด้านเทคโนโลยี โดยนำเทคโนโลยีทันสมัยที่สุดมาใช้ในการรักษาพยาบาลเป็นแห่งแรกก่อนโรงพยาบาลของประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค เป็นต้นว่า การติดตั้งเครื่องสแกนหาเซลล์มะเร็งในระยะเริ่มต้น (PET/CT)

หน่วยงานท่องเที่ยวของสิงคโปร์ (Singapore Tourism Board – STB) ได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษา Synovate Business Consulting เพื่อศึกษากลยุทธ์การส่งเสริมให้สิงคโปร์เป็นศูนย์กลางรักษาพยาบาล ซึ่งเห็นว่าสิงคโปร์แข็งแกร่งมากกว่าประเทศอื่นๆ ในด้านบริการที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูง แต่ต้องเพิ่มความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในด้านนี้เพื่อชักจูงให้ผู้ป่วยชาวต่างประเทศเข้ามารักษาพยาบาลภายในประเทศ โดยเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ เช่น ไทย สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย ฯลฯ การดำเนินการในด้านนี้เป็นบทบาทของภาคเอกชนแทบทั้งหมด ขณะที่กรณีมาเลเซีย รัฐบาลมีบทบาทสูงในเรื่องนี้

รัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายเพิ่มจำนวนชาวต่างชาติที่มารักษาพยาบาลในสิงคโปร์เพิ่มจาก 211,000 คน ค่าบริการรักษาพยาบาล 12,000 ล้านบาท ในปี 2545 เป็น 1 ล้านคน ค่าบริการ 75,000 ล้านบาท ภายในปี 2555โดยเน้นบริการเฉพาะทางซึ่งใช้ความรู้เข้มข้นและมีมูลค่าเพิ่มสูง โดยเฉพาะในด้านโรคหัวใจ ตา มะเร็ง และการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ พร้อมกันนี้ได้ดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมหลายประการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายข้างต้น

ประการแรก รัฐบาลสิงคโปร์ได้ประกาศโครงการ Singapore Medicine เมื่อกลางเดือนตุลาคม 2546 จะใช้งบประมาณการตลาดทั้งในส่วนโฆษณาประชาสัมพันธ์ปีละประมาณ 50 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมให้สิงคโปร์เป็นศูนย์กลางบริการเพื่อสุขภาพ

ประการที่สอง แสวงหาตลาดใหม่ๆ ปัจจุบันโรงพยาบาลสิงคโปร์ประสบผลสำเร็จเฉพาะในตลาดมาเลเซีย อินโดนีเซีย และบรูไนเท่านั้น โดยในอนาคตจะหันมาเน้นตลาดประเทศอื่นๆ เพิ่มเติม โดยเฉพาะจีนและตะวันออกกลางซึ่งนับเป็นตลาดขนาดใหญ่มาก ทั้งนี้ สิงคโปร์มีข้อได้เปรียบอย่างมากในตลาดจีน เนื่องจากบุคลากรทางการแพทย์ของสิงคโปร์สามารถพูดภาษาจีนได้เป็นอย่างดี

ประการที่สาม ได้แก้ไขกฎระเบียบในด้านการโฆษณาของโรงพยาบาลเพื่อให้สามารถโฆษณาได้อย่างคล่องตัวยิ่งขึ้นเพื่อเจาะลูกค้าเป้าหมายในต่างประเทศ

ประการที่สี่ กระตุ้นให้โรงพยาบาลของรัฐให้หันมาสนใจตลาดผู้ป่วยต่างประเทศมากขึ้น โดยเดิมโรงพยาบาลของรัฐบาลสิงคโปร์จะไม่สนใจแสวงหาคนไข้ต่างประเทศนัก แต่ปัจจุบันต้องปรับเปลี่ยนนโยบายนับตั้งแต่รัฐบาลสิงคโปร์ได้มีนโยบายหันมาส่งเสริมสิงคโปร์ให้เป็นศูนย์กลางการรักษาพยาบาลในภูมิภาค

รัฐบาลได้จัดตั้งศูนย์ประสานงานผู้ป่วยต่างประเทศ (International Patients’ Liaison Center – IPLC) ขึ้นภายในโรงพยาบาลของรัฐ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ป่วยต่างประเทศซึ่งกลยุทธ์นี้จะส่งผลให้สิงคโปร์สามารถแข่งขันในด้านราคาได้มากขึ้น เนื่องจากโรงพยาบาลของรัฐมีต้นทุนในการดำเนินธุรกิจต่ำกว่าโรงพยาบาลเอกชน

สำหรับในโรงพยาบาลที่มีชื่อเสียงของสิงคโปร์มีหลายแห่ง เป็นต้นว่า Singapore General Hospital, National University Hospital, Mount Elizabeth Hospital, Gleneagles Hospital ฯลฯ โดยปัจจุบันบริษัท Parkway Holdings ของสิงคโปร์ นับเป็นกลุ่มโรงพยาบาลเอกชนซึ่งใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

แม้บริษัท Parkway Holdings จะมีสำนักงานใหญ่ในสิงคโปร์ แต่ปัจจุบันผู้ถือหุ้นใหญ่ที่สุดในบริษัทนี้ คือ กองทุน Newbridge Capital LLC ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งในนครซานฟรานซิสโก ได้เข้ามาซื้อเป็นสัดส่วน 26% ในบริษัทแห่งนี้เมื่อเดือนพฤษภาคม 2548 อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญได้วิเคราะห์ว่าการเขามาถือหุ้นของ Newbridge Capital คงไม่ได้เข้ามาถือหุ้นเป็นระยะยาวแต่อย่างไร โดยคงเข้ามาถือหุ้นเพื่อเก็งกำไร โดยหากมีโอกาสทำกำไรแล้ว ก็พร้อมที่จะขายหุ้นออกมา

โรงพยาบาลเครือ Parkway Holdings มีชาวต่างประเทศมารักษาคิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 3 ของผู้ป่วยทั้งหมด เนื่องจากมีชื่อเสียงอย่างมากในต่างประเทศ เป็นต้นว่า เมื่อนาย Lim Goh Tong มหาเศรษฐีชาวมาเลเซียซึ่งเป็นเจ้าของคาสิโนเก้นติ้ง ต้องเข้ามารักษาโรคหัวใจ ได้เลือกใช้บริการของโรงพยาบาล Gleneagles ของเครือปาร์คเวย์ หรือกรณีตำรวจอินโดนีเซียได้รับการบาดเจ็บสาหัสจากกรณีระเบิดสถานทูตอินโดนีเซียในกรุงจาการ์ต้าเมื่อปี 2547 รัฐบาลออสเตรเลียได้ให้ความช่วยเหลืออย่างไม่คิดมูลค่าโดยนำตัวมารักษาที่โรงพยาบาล Mount Elizabeth

ปัจจุบันกลุ่ม Parkway Holdings มีรงพยาบาลในหลายประเทศ เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฯลฯ เป็นต้นว่า เมื่อเดือนกันยายน 2548 บริษัท Parkway Holdings ได้จ่ายเงิน 312 ล้านริงกิต หรือประมาณ 3,500 ล้านบาท เพื่อซื้อหุ้น 31% ในบริษัท Pantai Holding ซึ่งเป็นกลุ่มโรงพยาบาลเอกชนใหญ่ที่สุดในประเทศมาเลเซีย โดยมีโรงพยาบาล 7 แห่ง และจำนวนเตียงรวมประมาณ 1,000 เตียง นอกจากนี้ กลุ่ม Parkway Holdings ยังได้เซ็นสัญญารับจ้างเป็นที่ปรึกษาและบริหารกิจการโรงพยาบาลขนาด 200 เตียงในนครโฮจิมินห์ของเวียดนามด้วย

รัฐบาลสิงคโปร์ประสบความสำเร็จในการชักชวนให้มหาวิทยาลัยจอห์นฮอปกิ้นของสหรัฐฯ ซึ่งมีชื่อเสียงมากระดับแนวหน้าของโลกในสาขาวิชาแพทย์ศาสตร์ ให้มาร่วมลงทุนจัดตั้งโรงพยาบาลขนาด 200 เตียงในสิงคโปร์ โดยใช้ชื่อว่า The Johns Hopkins-National University Hospital (NUH) International Medical Centre (JH-NUH IMC)

โรงพยาบาลของมหาวิทยาลัยจอห์นฮอปกิ้นประสบผลสำเร็จทางธุรกิจเป็นอย่างมาก โดยมีผู้ป่วยทั้งชาวสิงคโปร์และชาวต่างประเทศมาเข้ารับการรักษาจำนวนมาก จึงได้ย้ายไปตั้งกิจการในพื้นที่ใหม่เพื่อให้สามารถรองรับผู้ป่วยได้มากขึ้น โดยใช้ชื่อสถานที่ตั้งแห่งใหม่ว่า Johns Hopkins Singapore International Medical Centre

อีกกลุ่มที่มีชื่อเสียง คือ กลุ่ม Raffles Medical Group (RMG) ซึ่งเป็นเจ้าของโรงพยาบาล Raffles ขนาด 380 ห้อง เปิดดำเนินการเมื่อเดือนมีนาคม 2544 โดยมีคนไข้ต่างประเทศเป็นสัดส่วนมากถึง 40% ของทั้งหมด เพื่อเสริมสร้างเทคโนโลยี โรงพยาบาลแห่งนี้ได้มีโครงการร่วมมือกับ Memorial Sloan Kettering Cancer Center ของนครนิวยอร์ค ในสหรัฐฯ

โรงพยาบาลแห่งนี้มีผู้ป่วยชาวต่างประเทศมาใช้บริการคิดเป็นสัดส่วน 30% ของทั้งหมด โดยในบรรดาผู้ป่วยชาวต่างประเทศนั้น เป็นชาวอินโดนีเซียเป็นสัดส่วน 70% ของทั้งหมด รองลงมาเป็นสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักรอีก 15%

ล่าสุดเมื่อเดือนกันยายน 2547 โรงพยาบาลแห่งนี้ได้ประกาศลดค่ารักษาพยาบาลลง 20 – 30% เพื่อให้มีค่ารักษาพยาบาลใกล้เคียงกับค่าบริการในโรงพยาบาลเอกชนในประเทศไทย เป็นต้นว่า กรณี Heart Angiogram ซึ่งเป็นการเอกซเรย์หลอดเลือด จะได้ลดค่าบริการลงเหลือเพียง 42,000 บาท โดยกล่าวอ้างว่าค่าบริการข้างต้นนับว่าแพงกว่าค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลในประเทศไทยซึ่งเก็บในอัตรา 40,000 บาท เพียงเล็กน้อยเท่านั้น

สุดท้ายนี้ รัฐวิสาหกิจของสิงคโปร์ คือ Government of Singapore Investment Corporation (GIC) ซึ่งเป็นบริษัทเพื่อการลงทุนโดยเข้าไปลงทุนในธุรกิจจำนวนมากในหลายๆ ประเทศ ก็ได้ไปลงทุนซื้อโรงพยาบาลในต่างประเทศหลายแห่ง เป็นต้นว่า ได้ประกาศเมื่อเดือนตุลาคม 2546 เกี่ยวกับร่วมทุนกับบริษัทเอกชนในการจ่ายเงิน 25,000 ล้านบาท เพื่อซื้อหุ้นของ Mayne Group ซึ่งเป็นเครือโรงพยาบาลเอกชนใหญ่ที่สุดในออสเตรเลีย ส่งผลให้สามารถพัฒนาการเชื่อมโยงด้านบริการทางการแพทย์กับโรงพยาบาลในสิงคโปร์ได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ GIC ยังได้ไปซื้อกิจการโรงพยาบาล 3 แห่ง ในอินโดนีเซีย เนื่องจากอินโดนีเซียนับเป็นตลาดการรักษาพยาบาลที่ใหญ่มาก เนื่องจากมีประชากรจำนวนมาก ประกอบกับคุณภาพการรักษาพยาบาลของโรงพยาบาลของรัฐไม่ดี ทำให้มีผู้ป่วยทั้งชาวอินโดนีเซียและชาวต่างชาติที่อาศัยในอินโดนีเซียได้เดินทางไปใช้บริการรักษาพยาบาลในต่างประเทศเป็นเงินมากถึงปีละ 12,000 ล้านบาท

เผยแพร่: 4 มิ.ย. 2549 17:54   โดย: ยุทธศักดิ์ คณาสวัสดิ์

[Total: 2 Average: 4]

Leave a Reply

Discover more from HEALTH ME NOW

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading