มาอีกแล้ว โคโรน่าไวรัส หรือ โควิด-19 ที่เข้ามาสร้างความวุ่นวายให้ทั่วโลกมากกว่า 2 ปี และยังไม่มีท่าทีว่าจะยอมแพ้ง่ายๆ เพราะล่าสุด ไวรัสร้ายตัวนี้ก็พัฒนาตัวเองกลายพันธุ์เป็นชนิดที่ 5 หลังจากสายพันธุ์อัลฟา, เบตา, แกมมา และเดลตา ที่องค์การอนามัยโลก (WHO) จัดให้อยู่ในกลุ่มสายพันธุ์ที่น่ากังวล โควิด-19 กลายพันธุ์ล่าสุดนี้มีชื่อในทางวิทยาศาสตร์ว่า B.1.1.529 ก่อนที่ WHO จะตั้งชื่อเรียกให้ตามลำดับตัวอักษรกรีก ว่า “โอมิครอน” (Omicron)
“โอมิครอน” มาจากไหน
การระบาดของโควิด-19 โอมิครอนถูกระบุแยกแยะออกมาเป็นครั้งแรกในจังหวัดเคาเต็ง (Gauteng) ของแอฟริกาใต้ เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยขณะนี้มีการพบผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอนแล้วในอย่างน้อย 13 ประเทศ ได้แก่
- แอฟริกาใต้
- บอตสวานา
- เบลเยียม
- ฮ่องกง
- อิสราเอล
- อังกฤษ
- เยอรมนี
- อิตาลี
- เนเธอร์แลนด์
- เดนมาร์ก
- ออสเตรเลีย
- แคนาดา
- สาธารณรัฐเช็ก
ผู้ติดเชื้อรวมทั้งหมดอยู่ในหลักร้อย (ข้อมูล ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2564)
“โอมิครอน” อันตรายแค่ไหน
ไวรัสโควิดชนิดใหม่นี้มีการกลายพันธุ์ของยีนรวมทั้งสิ้นถึง 50 ตำแหน่ง ทำให้มันมีความแตกต่างจากเชื้อโควิดกลายพันธุ์อื่นๆ เป็นอย่างมาก มีการกลายพันธุ์ของโปรตีนบนส่วนหนามของไวรัสถึง 32 ตำแหน่ง และยังมีการกลายพันธุ์ที่ส่วนตัวรับ (receptor binding domain) ซึ่งไวรัสใช้จับยึดกับเซลล์ของคนเราถึง 10 ตำแหน่ง ขณะที่สายพันธุ์เดลตาที่ระบาดหนักครอบงำทั่วโลกอยู่ขณะนี้ มีการกลายพันธุ์ในส่วนนี้เพียง 2 ตำแหน่งเท่านั้น นั่นจึงเหตุผลที่ทำให้ผู้เชี่ยวชาญในหลายประเทศกังวลว่า วัคซีนโควิด-19 ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันอาจจะใช้ไม่ได้ผลกับเชื้อกลายพันธุ์ตัวนี้ ซึ่งหากมีการแพร่ระบาดลามออกไปเป็นวงกว้าง โลกอาจต้องเผชิญกับภาวะวิกฤตอีกครั้ง
วัคซีนที่มีตอนนี้ “เอาโอมิครอนอยู่” หรือไม่
จากข้อมูลขณะนี้พบว่ากลายพันธุ์ของโอมิครอน อาจ ทำให้ไวรัสมีความสามารถในการหลบหลีกภูมิต้านทานได้มากขึ้น จึงมีส่วนทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนลง แต่ก็ยังช่วยลดความรุนแรงจากการป่วยหนักได้ ซึ่งบริษัทเวชภัณฑ์ผู้ผลิตวัคซีนหลายแห่งก็เร่งเดินเครื่องพัฒนาวัคซีนต้านโควิด-19 รุ่นใหม่ เพื่อรับมือกับเชื้อกลายพันธุ์โอไมครอนแล้ว
อย่าเพิ่งตื่นตระหนก “โอมิครอน” น่ากังวล แต่อาจไม่รุนแรง
จากรายงานของ พญ.โคเอตซี ประธานแพทยสมาคมแห่งแอฟริกาใต้ ระบุว่า ผู้ติดเชื้อจากไวรัสโอมิครอน มีอาการรุนแรงในระดับใกล้เคียงกับไวรัสเดิมคือ มีอาการไข้สูง ปวดกระดูก ปวดกล้ามเนื้ออย่างมาก และอาการอ่อนเพลีย แต่แตกต่างไปตรงที่ผู้ที่ได้รับเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ไม่มีปัญหาเรื่องการได้กลิ่นกับการรับรส ซึ่งขณะนี้ (29 พ.ย. 64) ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต จึงพอสรุปได้ว่า ไวรัสโอไมครอนทำให้เกิดโรคที่มีอาการรุนแรงปานกลาง