บริจาคอวัยวะ: ‘สภากาชาดไทย’ จัดแคมเปญเฉลิมพระเกียรติในหลวงรัชกาลที่ 10

ข่าวสุขภาพ อัพเดต สาธาณสุข

ศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทยจัดโครงการบริจาคอวัยวะเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในโอกาสฉลองพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 ชี้ปัจจุบันมีผู้บริจาคมากขึ้นแต่ยังไม่เพียงพอกับจำนวนผู้ป่วยที่รอการปลูกถ่ายอวัยวะ ด้านอนุทินเล็งเสนอกฎหมายกำหนดให้ทุกคนมีหน้าที่บริจาคอวัยวะ แต่ให้สิทธิขอถอนตัวได้โดยไม่ผิดกฎหมายหากไม่ประสงค์จะบริจาค

ศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทยจัดงานแถลงข่าวเปิดตัวเปิดตัวโครงการบริจาคอวัยวะเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในโอกาสฉลองพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 ภายใต้แคมเปญ “Just Say Yes” ณ ศูนย์แสดงสินค้าไบเทคบางนา เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2562 ที่ผ่านมา เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนว่าการบริจาคอวัยวะเป็นการสร้างมหากุศลเป็นครั้งสุดท้ายแก่ผู้วายชนม์ รวมทั้งกระตุ้นให้มีการบริจาคอวัยวะให้มากขึ้น เพราะแม้แนวโน้มปัจจุบันจะมีผู้บริจาคอวัยวะมากขึ้นกว่าช่วง 10 ปีก่อน แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้รอเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ

ศาสตราจารย์กิตติคุณ นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล ประธานคณะกรรมการอำนวยการศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย กล่าวว่า สมัยก่อนมีความเข้าใจว่าใครบริจาคอวัยวะ เกิดชาติหน้าจะมีอวัยวะไม่ครบ แต่ปัจจุบันคนเริ่มเรียนรู้ว่าการบริจาคอวัยวะเป็นมหากุศลครั้งยิ่งใหญ่ที่จะต่อชีวิตของผู้ที่รอการปลูกถ่ายอวัยวะ ช่วยทำให้คุณภาพชีวิตผู้ป่วยดีขึ้น แนวโน้มในปัจจุบันจึงดีขึ้นเมื่อเทียบกับช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ทั้งจำนวนผู้แสดงเจตจำนงบริจาคอวัยวะและจำนวนผู้บริจาคอวัยวะ

นพ.ภิรมย์ กล่าวอีกว่า อัตราการบริจาคอวัยวะปัจจุบันอยู่ที่ 3.9 รายต่อประชากร 1 ล้านคน/ปี มีผู้แสดงเจตจำนงบริจาคอวัยวะในปี 2561 ประมาณ 1 แสนราย และถ้ารวมทั้งหมดที่ผ่านมามี 1.04 ล้านรายคิดเป็น 1.6% ของประชากรทั้งประเทศ นอกจากนี้ ตัวเลขในปี 2561 มีผู้บริจาคอวัยวะ 261 ราย สามารถนำไปปลูกถ่ายแก่ผู้ป่วยที่รอรับการบริจาคอวัยวะถึง 585 ราย แต่จำนวนผู้รอรับการบริจาคอวัยวะมี 6,401 ราย กว่า 95% คือผู้ป่วยโรคไต ในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิตระหว่างรอ 180 ราย หรือ 3% ของผู้รอรับการบริจาค ดังนั้นจะเห็นว่าสถานการณ์ดูเหมือนจะดีขึ้นแต่ก็ยังมีส่วนที่ต้องพัฒนาได้อีก

ด้านนายกลินท์ สารสิน ประธานคณะกรรมการส่งเสริมกิจการศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย กล่าวว่า ถ้าดูข้อมูลจะเห็นว่าความต้องการรับบริจาคอวัยวะเพิ่มขึ้นทุกปี 10 ปีก่อนต้องการรับบริจาค 2,717 ราย ส่วนปี 2562 มีความต้องการเพิ่มเป็น 6,311 ราย มีผู้บริจาค 218 ราย มีผู้ได้รับการปลูกถ่ายแล้ว 481 ราย หรือ 2 เท่าของจำนวนผู้บริจาค แต่ถ้าดูจำนวนผู้รอรับบริจาคยังถือว่ายังมีความต้องการอีกเยอะมาก

นายกลินท์ กล่าวว่า คณะกรรมการได้คิดว่าทำอย่างไรถึงจะโปรโมทให้คนบริจาคมากขึ้น และมองเห็นโอกาสในการจัดโครงการนี้เพื่อชักชวนให้คนทำความดีด้วยการบริจาคอวัยวะเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่รัชกาลที่ 10 ในวาระพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 นี้

ขณะที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ในส่วนของ สธ.มีเครือข่ายโรงพยาบาลทั่วประเทศ เมื่อเกิดเหตุมีผู้เสียชีวิต โดยธรรมเนียมปฏิบัติแล้วแพทย์และพยาบาลจะสอบถามญาติผู้ป่วยเพื่อขอให้บริจาค นี่คือจุดที่ยากเพราะความเชื่อว่าเกิดชาติหน้าจะพิการ ดังนั้นคนส่วนใหญ่จึงไม่ยอมบริจาค และเป็นหน้าที่ของ สธ. ที่จะช่วยสร้างความเข้าใจว่าการบริจาคอวัยวะเป็นการทำบุญมหากุศลครั้งยิ่งใหญ่

ขณะเดียวกัน ตนได้ประชุมกับแพทยสภาและได้รับร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับการบริจาคอวัยวะซึ่งทางแพทยสภาได้พยายามผลักดันอยู่ สาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ถือว่าเราเป็นเจ้าของชีวิตตราบใดที่วิญญาณยังอยู่ในร่างกาย แต่เมื่อไม่มีชีวิตแล้วก็ขออวัยวะที่ใช้ได้ให้เป็นประโยชน์กับคนอื่นๆ นี่คือเจตนารมณ์ของกฎหมาย แต่ร่างกฎหมายนี้ก็ยังไม่สามารถออกได้เพราะถูกคัดค้านเรื่องสิทธิมนุษยชน ดังนั้นตนจึงพยายามหาทางออกโดยให้แพทยสภาเสนอร่างกฎหมายเข้ามา แต่เพื่อลดประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนให้เพิ่มอีกมาตราหนึ่งโดยให้ระบุว่าทุกคนพร้อมบริจาคอวัยวะ แต่ถ้าใครไม่ประสงค์บริจาคก็ให้สิทธิถอนตัวได้ ไม่ถือว่าผิดกฎหมาย ทั้งนี้กฎหมายดังกล่าวจะมีการผลักดันเข้าสู่รัฐสภา มีการทำประชาพิจารณ์ และหวังว่าจะได้รับการสนับสนุนเพื่อทำให้จำนวนผู้บริจาคอวัยวะมีเพิ่มขึ้น

ด้าน นพ.พัชร อ่องจริต หน่วยศัลยกรรมทรวงอกและหัวใจ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ขั้นตอนการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ ถ้าพูดภาษาชาวบ้านคือช่วยกันทั้งหมู่บ้าน ทีมแพทย์และพยาบาลเป็นเพียงส่วนหนึ่งแต่ที่สำคัญที่สุดคือต้องมีผู้บริจาค ต้องมีกระบวนการขนส่ง ต้องแข่งกับเวลาโดยเฉพาะหัวใจ ต้องไม่เกิน 4 ชั่วโมง ยิ่งเร็วเท่าไหร่ยิ่งดี และหากกรณีอวัยวะที่จะบริจาคอยู่ไกลก็ต้องใช้เครื่องบินในการขนส่ง ซึ่งในอดีตใช้การขนส่งด้วยเครื่องบินพาณิชย์ ทำให้เกิดความล่าช้า ใช้เวลา 5-6 ชั่วโมงกว่าจะปลูกถ่ายเสร็จ ผลการรักษาก็ไม่ดีเท่าที่ควร แต่ตั้งแต่ได้นายอนุทินมาขับเครื่องบินส่วนตัวช่วยขนส่งให้ ผลลัพธ์ก็ดีขึ้นมากจนเทียบเท่าต่างประเทศ ผู้ป่วยไม่เสียชีวิตเลยติดต่อกันถึง 29 ราย

อนึ่ง โครงการบริจาคอวัยวะเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในโอกาสฉลองพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 มีระยะเวลาในการดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 16 ต.ค. 2562- 4 พ.ค. 2563 ตั้งเป้าผู้แสดงความจำนงบริจาคอวัยวะจำนวน 150,000 คน ใน 76 จังหวัดทั่วประเทศ

ทั้งนี้เพื่อความสะดวกในการแสดงความจำนงบริจาคอวัยวะทั่วประเทศ ศูนย์รับบริจาคอวัยวะจึงได้เพิ่มช่องทางการบริจาคผ่าน “บริจาคอวัยวะออนไลน์” ในเว็บไซต์ www.organdonate.in.th และบริจาคอวัยวะผ่าน “Mobile Application :บริจาคอวัยวะ”เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้สนใจแสดงความจำนงบริจาคอวัยวะ โดยผู้สนใจสามารถกรอกข้อมูลผู้แสดงความจำนงบริจาคอวัยวะตามขั้นตอนอย่างครบถ้วน หลังจากนั้นระบบจะส่ง sms และ e-mail แจ้งผู้แสดงความจำนง และญาติผู้บริจาคอวัยวะ ต่อไป

[Total: 0 Average: 0]

Leave a Reply

Discover more from HEALTH ME NOW

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading