บริจาคอวัยวะ: ‘ไทย’ เอาจริง! ยกเครื่องระบบข้อมูล ‘ดวงตา’ ทั่วประเทศ

ข่าวสุขภาพ อัพเดต สาธาณสุข

แม้ว่าการบริจาค “อวัยวะ-ดวงตา” จะช่วยเหลือต่อชีวิตให้กับผู้อื่นได้ แต่ทุกวันนี้ยังคงมีความเชื่อและความไม่รู้อีกมากมายที่เป็นอุปสรรคของการดำเนินการ

ข้อมูล ณ วันที่ 30 ก.ย. 2562 พบว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้รอรับการปลูกถ่ายอวัยวะ 6,311 ราย และผู้รอรับการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา 13,510 ราย ทั้งหมดนี้กำลังเฝ้ารอคอยความหวังในการได้กลับมาใช้ชีวิตอย่างเป็นปกติสุขอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม อุปสรรคที่อยู่นอกเหนือการเพิ่มจำนวนผู้ผู้บริจาค คือฐานข้อมูลของผู้ที่ได้แสดงเจตจำนงเอาไว้ยังไม่มีความชัดเจน มีหลายกรณีพบว่าแม้ผู้เสียชีวิตจะแสดงความจำนงไว้ แต่คนในครอบครัวไม่ทราบ หรือดำเนินการล่าช้าจนทำให้อวัยวะเหล่านั้นใช้การไม่ได้

อุปสรรคดังกล่าว นำมาสู่การลงนามบันทึกข้อตกลงการนำข้อมูลผู้บริจาคอวัยวะและดวงตาไปใช้ประโยชน์ร่วมกันระหว่าง กระทรวงสาธารณสุข กรมการปกครอง สภากาชาดไทย สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เมื่อวันที่ 13 พ.ย.62 ที่ผ่านมา

การลงนามครั้งนี้ตั้งเป้าที่จะทำให้เกิดการเชื่อมโยงข้อมูลการบริจาคอวัยวะและดวงตาในระบบ เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของผู้แสดงความจำนง บริจาคอวัยวะและดวงตาในการนำไปใช้ในทางการแพทย์ ช่วยสร้างชีวิตใหม่ให้กับผู้รอรับบริจาคอวัยวะและดวงตา

ปัจจุบันการบริจาคมาจาก 2 ช่องทางหลักๆ หนึ่งคือระบบของสภากาชาดไทย ทั้งในส่วนของศูนย์บริจาคอวัยวะ และศูนย์ดวงตา อีกหนึ่งคือกรมการปกครอง ที่สามารถแสดงความจำนงไว้ได้ตอนทำบัตรประชาชน

สำหรับตัวเลขในปัจจุบันมีผู้แสดงความจำนงบริจาคอวัยวะ 1,114,915 ราย แสดงความจำนงบริจาคดวงตา 1,311,696 ราย

การบูรณาการความร่วมมือของ 5 องค์กรครั้งนี้ ประกอบด้วย สปสช. ที่จะเข้ามาสนับสนุนการพัฒนาระบบเชื่อมต่อข้อมูลการรับบริจาคอวัยวะและดวงตาจากสภากาชาดไทย และกรมการปกครอง เข้าสู่ฐานข้อมูลระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

หลังจากนั้นจะทำให้โรงพยาบาลภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทั้งภาครัฐและเอกชนสามารถตรวจสอบข้อมูลว่า ผู้เสียชีวิตได้แสดงความจำนงบริจาคอวัยวะและดวงตาหรือไม่ เพื่อแจ้งให้กับครอบครัวและญาติได้รับทราบ และดำเนินการตามเจตนารมณ์ของผู้เสียชีวิต

ขณะเดียวกันด้วยการขอบริจาคอวัยวะและดวงตาที่มีข้อจำกัดในเรื่องของเวลา ทาง สพฉ. จะได้เข้ามาช่วยสนับสนุนการปฏิบัติการฉุกเฉินในการลำเลียงจัดส่งอวัยวะสำคัญที่ต้องแข่งกับเวลา เช่น หัวใจ ตับ ปอด เป็นต้น ทั้งทางอากาศ ทางบก หรือทางน้ำ ตามที่คณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉินกำหนด

[Total: 0 Average: 0]

Leave a Reply

Discover more from HEALTH ME NOW

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading