การเปลี่ยนลิ้นหัวใจเอออร์ติกผ่านสายสวนโดยไม่ต้องผ่าตัด (Transcatheter Aortic Valve Implantation หรือ TAVI)

เทคนิค TAVI (Transcatheter Aortic Valve Implanation) หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า TAVR (Transcatheter Aortic Valve Replacement) เป็นการเปลี่ยนลิ้นหัวใจโดยสายสวนแบบไม่ต้องผ่าตัด เหมาะกับคนไข้ที่มีปัญหาลิ้นหัวใจเอออร์ติก (Aortic Valve) คือ มีลิ้นหัวใจกั้นระหว่างหัวใจช่องล่างซ้ายกับหลอดเลือดแดงใหญ่ โดยหลักการของ TAVI เป็นการใช้ลิ้นหัวใจแบบเนื้อเยื่อยึดติดอยู่กับขดลวดพิเศษ ซึ่งสามารถม้วนให้เข้าไปอยู่ในท่อเล็กประมาณ 5 – 8 มิลลิเมตรของระบบนำส่ง จากนั้นสอดลวดนำทางส่งไปตามหลอดเลือดแดงบริเวณขาหนีบไปยังยอดของหัวใจห้องล่างซ้ายจนถึงตำแหน่งของลิ้นหัวใจเอออร์ติก แล้วตามด้วยระบบนำส่งลิ้นหัวใจ จากนั้นจึงปล่อยลิ้นหัวใจที่ม้วนอยู่ออกมาที่ระบบนำส่ง ลิ้นหัวใจจะกางออกกลายเป็นลิ้นหัวใจใหม่ โดยผู้ป่วยจะมีแผลเล็ก ๆ บริเวณขาหนีบ หรือบริเวณหน้าอกด้านซ้ายหรือด้านบนของหน้าอกด้านขวา ขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่สอดลิ้นหัวใจเข้าเป็นสำคัญ

เตรียมตัวก่อนรักษา 

หากผู้ป่วยมีอาการหัวใจล้มเหลวมาแล้ว แพทย์จะใช้วิธีการช่วยชีวิตให้อาการทุเลาก่อน พร้อมตรวจดูการทำงานของอวัยวะส่วนสำคัญ เพื่อให้พร้อมสำหรับการสวนหัวใจ หรือใส่ขดลวดเข้าไปในเส้นเลือดใหญ่ได้ทันที เพราะแพทย์สามารถติดตามทุกขั้นตอนการผ่าตัดจากการเอกซเรย์แบบเรียลไทม์

ตำแหน่งสอดลิ้นหัวใจเข้า

  • ขาหนีบ เป็นที่นิยมมากที่สุด เพราะเส้นเลือดมีขนาดใหญ่
  • ไหล่ ทางเส้นเลือดใหญ่ที่ต้นแขน
  • ทางขวาของหน้าอกผ่านเส้นเลือดใหญ่ที่ออกจากหัวใจ
  • แผลเล็กบริเวณยอดหัวใจ

ฟื้นตัวได้เร็ว 

หลังการผ่าตัด ผู้ป่วยจะมีแผลเล็ก ๆ ที่บริเวณขาหนีบประมาณ 2 เซนติเมตร และจะใช้เวลาฟื้นตัวเป็นเวลา 3 – 5 วัน โดย 72 ชั่วโมงแรก (3 วัน) จะยังอยู่ในโรงพยาบาลเพื่อเฝ้าดูอาการก่อนกลับบ้านและใช้ชีวิตตามปกติ กินข้าว ใช้เวลากับลูกหลาน ออกกำลังกาย และมีการพักผ่อนที่เพียงพอ

ข้อดีของ TAVI

  • เสียเลือดน้อย
  • ฟื้นตัวเร็ว 2 – 3 วัน สามารถกลับบ้านได้
  • แผลมีขนาดเล็ก
  • ลดความเสี่ยงจากการดมยา เพราะสามารถใช้ยาชา ไม่ต้องดมยาสลบ
  • ใช้เวลาผ่าตัดไม่เกิน 2 ชั่วโมง


ข้อจำกัดของ TAVI

  • ผู้ป่วยที่ติดเชื้อ
  • ผู้ป่วยที่มีแบคทีเรียอยู่ในกระแสเลือด
  • ผู้ป่วยที่มีลิ่มเลือดในหัวใจ
  • ผู้ป่วยที่เพิ่งเป็นอัมพาตที่ไม่สะดวกให้ยาละลายลิ่มเลือดได้
  • ผู้ป่วยที่หลอดเลือดเลี้ยงหัวใจตีบที่ต้องการการผ่าตัดบายพาส
[Total: 1 Average: 5]