3 วิธีการดูแลมารดาหลังคลอด

หลังคลอดมารดาต้องได้รับการดูแลอย่างถูกวิธี มี 3 วิธีดังต่อไปนี้

การดูแลมารดาหลังคลอดด้วยการประคบตัว

จะทำในช่วงหลังคลอด 2-3 วัน ในช่วงที่มีการอยู่ไฟอยู่ โดยจะประคบตัวเป็นเวลา 3-7 วัน ติดต่อกันทุกวันหรือจนกว่าจะออกจากการอยู่ไฟ โดยทั่วไปจะมีการทำควบคู่ไปกับการเข้ากระโจม จะประคบตัวก่อนเข้ากระโจมหรือหลังเข้ากระโจมก็ได้ขึ้นอยู่กับแต่ละท้องถิ่น ส่วนใหญ่สมุนไพรที่ใช้ประคบจะเป็นไพล ขมิ้นอ้อย ใบมะขาม ใบส้มป่อย นำมาเคล้ากับเกลือใช้ผ้าห่อมัดให้แน่นทำเป็นลูกประคบ ส่วนใหญ่คนโบราณจะใช้ลูกประคบ 3 ลูก ถ้าเป็นครรภ์แรกก็ให้นั่งทับลูกหนึ่ง ส่วนอีก 2 ลูกก็ใช้ประคบตัว เต้านม หน้าท้อง และแขนขา การประคบจะทำให้น้ำนมเดินสะดวก ไม่คัดเต้านม เดิมการประคบจะทำต่อจากการเข้ากระโจม โดยใช้กากสมุนไพรที่เหลือจากการเข้ากระโจมมาห่อทำเป็นลูกประคบ น้ำที่เหลือจากการเข้ากระโจมก็ใช้จุ่มประคบตัวและใช้อาบเมื่อประคบตัวเสร็จแล้ว และอาบน้ำอีกครั้งด้วยน้ำอุ่นๆ ให้ทำทุกวันจนกว่าจะออกจากการอยู่ไฟ

การประคบร้อน
การประคบร้อนด้วยสมุนไพร เป็นการประคบด้วยความร้อนชื้น โดยนำสมุนไพรสูตรต่างๆ มาตำพอแหลกแล้วผสมเข้าด้วยกันใช้ผ้าห่อ แล้วนำไปอังไอน้ำร้อนใช้ประคบตามส่วนของร่างกายที่ต้องการ จะช่วยให้กล้ามเนื้อและเอ็นลดอาการบวมและอักเสบได้ ทำให้กล้ามเนื้อลดอาการเกร็งลง มีการยืดตัวของเนื้อเยื่อพังผืด ช่วยให้โลหิตมีการไหลเวียนเพิ่มขึ้น แต่การประคบร้อนด้วยสมุนไพรก่อนและขณะประคบจะต้องมีการคลึงกล้ามเนื้อไปด้วย สมุนไพรที่ใช้ประคบจะมีสรรพคุณในการบรรเทาอาการปวด การอักเสบ และมีกลิ่นหอม มีความเชื่อในสมัยโบราณว่าสามารถรักษาโรคได้เช่นกัน

ตัวยาและน้ำมันหอมระเหยจะออกจากตัวสมุนไพรเมื่อถูกความร้อน และซึมผ่านเข้าไปในผิวหนังได้ง่าย เนื่องจากบริเวณผิวหนังจะมีชั้นของไขมันอยู่ หากใช้เวลาประคบสัมผัสอยู่นานประมาณ 20-60 นาที ก็จะทำให้น้ำมันหอมระเหยซึมผ่านผิวหนังไปยังระบบการไหลเวียนเลือดและน้ำเหลือง ต่อมเหงื่อ เนื้อเยื่อคอลลาเจน ทำให้ทั่วร่างกายเกิดการหมุนเวียน เมื่อคลึงด้วยลูกประคบสมุนไพรที่บริเวณใด ตรงส่วนนั้นก็จะได้รับผลจากตัวยาสมุนไพรและน้ำมันหอมระเหย ช่วยให้อาการปวดและการอักเสบลดลงได้ และการสูดดมก็สามารถทำให้น้ำมันหอมระเหยเข้าสู่ร่างกายได้เช่นกัน โดยโมเลกุลของน้ำมันหอมระเหยจะเข้าไปในโพรงจมูก และน้ำมันหอมระเหยก็จะซึมผ่านเซลล์บุผิวบางๆ ในโพรงจมูกเข้าสู่ระบบไหลเวียนโลหิตได้ง่ายและรวดเร็ว และเมื่อมีการเปลี่ยนแก๊สที่ถุงลมปอด โมเลกุลของน้ำมันหอมระเหยจะซึมผ่านถุงลมปอดเข้าสู่กระแสเลือด และไหลเวียนไปทั่วร่างกาย รวมทั้งบริเวณที่มีอาการปวดและอักเสบด้วย และสรรพคุณของเกลือนอกจากจะช่วยดูดความร้อนแล้ว ยังสามารถทำให้ตัวยาซึมผ่านผิวหนังได้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย

ปัจจัยที่มีผลต่อการซึมผ่านของตัวยาสมุนไพรทางผิวหนัง
1. พื้นที่ผิวบริเวณที่สัมผัส
การซึมผ่านของตัวยาทางผิวหนังจะเข้าสู่ร่างกายได้ในปริมาณมาก เมื่อมีบริเวณผิวสัมผัสประมาณ 2 ตารางเมตรขึ้นไป แต่ปริมาณตัวยาที่ซึมผ่านจะน้อยลงเมื่อพื้นที่ผิวสัมผัสมีขนาดเล็ก

2. ความหนาของผิวหนัง
บริเวณผิวหนังที่หนาและไม่มีต่อมน้ำมัน จะต้องใช้เวลานานในการซึมผ่านของน้ำมันหอมระเหย เช่นที่บริเวณฝ่ามือและฝ่าเท้า ส่วนในบริเวณที่ผิวหนังบางตัวยาสมุนไพรก็สามารถซึมผ่านไปได้ง่าย เช่นที่บริเวณหลังหู หนังตา ข้อมือด้านใน ต้นขา สะโพก ลำตัว และท้อง เป็นต้น

3. บริเวณที่มีพยาธิสภาพ
ตัวยาสมุนไพรจะมีการดูดซึมได้อย่างรวดเร็วในบริเวณที่มีการอักเสบ ถูกทำลาย แตกหัก แผลถลอก เนื่องจากคุณสมบัติในการขัดขวางสารต่างๆ เข้าสู่ร่างกายได้สูญเสียไป

4. การไหลเวียนโลหิต
การซึมผ่านของตัวยาสมุนไพรจะมีเพิ่มขึ้นในบริเวณที่มีการอักเสบหรือมีการคลึงร่วมด้วย เนื่องจากในบริเวณนั้นจะมีการไหลเวียนโลหิตเพิ่มขึ้น โดยใช้เวลาประมาณ 5 นาที ก็สามารถทำให้ตัวยาสมุนไพรซึมผ่านผิวหนังเข้าสู่ระบบไหลเวียนโลหิตได้แล้ว

5.การกระตุ้นด้วยการคลึงหรือการใช้ความร้อน
อุณหภูมิที่สูงขึ้นในบริเวณที่ถูกกระตุ้นด้วยการคลึง หรือการใช้ความร้อน จะส่งผลให้ตัวยาสมุนไพรสามารถซึมผ่านผิวหนังได้ดีขึ้น

6. จำนวนครั้งของการใช้
ตัวยาสมุนไพรจะสามารถซึมผ่านผิวหนังได้ดีขึ้นเมื่อมีการใช้บ่อยๆ

ประโยชน์ของการประคบร้อนด้วยสมุนไพร
ลดอาการปวด

1. การประคบร้อนด้วยสมุนไพร จะทำให้กล้ามเนื้อที่มีการใช้งานเป็นระยะเวลานานลดการเกร็งและความตึงตัวลงไป ทำให้มีอาการปวดน้อยลง

2. การประคบด้วยสมุนไพรเพื่อลดอาการปวด มีดังนี้

-ไพล เป็นพืชล้มลุก มีเหง้าใต้ดินขนาดใหญ่ เนื้อในมีสีเหลืองอมเขียว มีกลิ่นหอม เหง้าที่แก่จัดสามารถนำมาใช้เป็นยาได้ หรือมีอายุในช่วง 10 เดือนขึ้นไป สารสำคัญที่อยู่ในไพลคือ น้ำมันไพล การใช้เป็นยาภายนอกของไทยจะมีสรรพคุณในการลดการอักเสบ แก้ปวดข้อ ทำให้กล้ามเนื้อคลายตัว แก้เคล็ดขัดยอก ฟกช้ำ โดยใช้เหง้าสด 1 เหง้า ตำให้แหลกนำมาพอกบริเวณที่ปวด หรือทาถูนวดบริเวณที่ปวดด้วยน้ำมันที่คั้นได้จากเหง้า หรือจะใช้เหง้าสด 1 เหง้า การบูร 1 ช้อนโต๊ะ และเกลือเล็กน้อยตำผสมกัน แล้วห่อเป็นลูกประคบ นำไปอังไอน้ำร้อน ใช้ประคบเช้า-เย็น วันละ 2 ครั้ง ในบริเวณที่ปวด เมื่อย ขัดยอก จนกว่าอาการจะทุเลาลงไป และมีรายงานฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาจำนวนมากพบว่า สามารถใช้ไพลลดอาการบวมอักเสบ และอาการปวดได้ และผลการศึกษาทางเภสัชวิทยาของน้ำมันสกัดดิบจากไพล พบว่า ช่วยลดอาการบวม และสามารถทำเป็นครีมไพลได้ เมื่อทดลองใช้กับผู้ป่วย 8 ราย ที่มีอาการอักเสบและปวดกล้ามเนื้อบริเวณต่างๆ เช่น คอ หลัง บ่า เอว และเข่า ซึ่งผู้ที่รับการทดลองมีอายุระหว่าง 21-77 ปี เป็นชาย 3 คน หญิง 5 คน พบว่าเมื่อใช้ครีมไพลสามารถลดอาการต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว และเมื่อนำครีมไพลมาใช้กับอาสาสมัครที่มีอาการเคล็ด ปวดและบวมบริเวณกล้ามเนื้อเข่า และข้อเท้าแพลง จำนวน 150 คน พบว่า อาการต่างๆ ลดลงอย่างน่าพอใจภายหลังจากการใช้ครีมไพล และเพื่อใช้บรรเทาอาการปวดเมื่อและปวดบวมองค์การเภสัชกรรมก็ได้ผลิตครีมไพลที่มีชื่อว่า ไพลจีซาล ขึ้นมา

-การบูร เป็นไม้ต้นขนาดกลาง มีกลิ่นหอม ส่วนของเนื้อไม้และรากสามารถนำมาทำเป็นยาได้ โดยนำมาสับให้ละเอียดแล้วกลั่นให้บริสุทธิ์จนได้เป็นก้อนรูปทรงต่างๆ มีกลิ่นหอม รสเผ็ดร้อน ตามสรรพคุณยาไทยมักใช้แต่งกลิ่น ใช้บรรเทาอาการปวดหลัง ปวดข้อ และข้อบวม โดยการใช้ถูนวดบริเวณผิวหนังที่มีอาการเหล่านั้น เมื่อได้รับการกระตุ้นการไหลเวียนของโลหิตในส่วนนั้นก็จะดีขึ้นด้วย ทำให้กล้ามเนื้อคลายตัวลง ทำให้ทุเลาอาการปวดลงไปได้ มีวิธีการใช้เช่นเดียวกับไพล

พบว่าการบูรมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาในการต้านอักเสบ และเป็นยาชาอย่างอ่อน ส่วนใหญ่จะใช้เป็นยาภายนอก ซึ่งบริเวณที่ใช้จะรู้สึกเย็นและให้ผลเฉพาะที่นั้นๆ มักใช้รักษากล้ามเนื้อที่มีความตึงตัวผิดปกติเสียเป็นส่วนใหญ่ และใช้ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นเพื่อลดอาการปวดในโรคข้ออักเสบด้วย

ยังไม่พบว่าการบูรมีพิษต่อผิวหนัง แต่พบว่าระบบทางเดินอาหารจะเกิดความผิดปกติได้ เมื่อรับประทานเข้าไปประมาณ 2 กรัม โดยจะทำให้มีอาการปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน และพบว่าระบบประสาทจะมีความผิดปกติด้วย เช่น ปวดศีรษะ กระวนกระวาย สับสน ซึม และภายในระยะเวลา 5-10 นาทีอาจทำให้เสียชีวิตได้

ฤทธิ์ที่เป็นยาชาของตัวยาจากไพลและการบูรนั้น จะซึมผ่านผิวหนังส่งผลต่อตัวรับความรู้สึกปวดเมื่อถูกกับความร้อน การนำสัญญาณประสาทเกี่ยวกับอาการปวดทางประสาทเล็กจะถูกกระตุ้นลดลง ทำให้ไขสันหลังและสมองได้รับสัญญาณเกี่ยวกับอาการปวดลดน้อยลง

3. การบรรเทาอาการปวดจากการคลึงกล้ามเนื้อ
ขณะที่ทำการประคบหรือก่อนประคบจะใช้วิธีการคลึงกล้ามเนื้อได้ การประคบร้อนด้วยสมุนไพรไปรอบบริเวณข้อเข่า ต้นขาและปลีน่อง เป็นลักษณะของการคลึงด้วยความร้อน เทคนิคการรักษาด้วยการคลึงจะช่วยกระตุ้นให้เนื้อเยื่อมีการทำงาน ซึ่งถือว่าเป็นศิลปะการกระทำต่อส่วนต่างๆ ของร่างกายด้วยขบวนทางวิทยาศาสตร์โดยการใช้มือหรือเครื่องมือ มาบำบัดระบบประสาท ระบบกล้ามเนื้อ และระบบการไหลเวียนโลหิตที่มีความผิดปกติ รวมทั้งด้านจิตใจด้วย ซึ่งการคลึงจะส่งผลต่ออาการปวดดังต่อไปนี้

-ผลต่อระบบไหลเวียนโลหิต
เซลล์ที่ตายจะหลุดลอกออกไปได้ด้วยการคลึง ช่วยให้ไม่เกิดการอุดตันของต่อมเหงื่อ รูขุมขน และต่อมต่างๆ ใต้ผิวหนัง ทำให้สามารถทำหน้าที่ได้เป็นอย่างดี และสีผิวในบริเวณที่นวดจะมีการเปลี่ยนแปลงไปคือ ผิวจะมีสีแดงขึ้น เนื่องจากบริเวณนั้นจะมีการไหลเวียนของโลหิตเพิ่มขึ้น ทำให้ไม่เกิดการคั่งของสารที่จะทำให้เกิดอาการปวดขึ้นมา

-ผลต่อการลดอาการปวด
ใยประสาทใหญ่จะถูกกระตุ้นเมื่อมีการคลึงบนผิวหนัง ทำให้เกิดการนำสัญญาณประสาทไปยับยั้งสัญญาณประสาทในใยประสาทเล็กที่เกี่ยวกับการรับรู้ความรู้สึกเจ็บปวดให้น้อยลง ใยประสาทใหญ่บางส่วนมีสัญญาณประสาทเข้าสู่บริเวณลิมบิคในสมองส่วนหน้า ทำให้มีสารเอนดอร์ฟินหลั่งออกมา อาการปวดจึงมีการตอบสนองลดลง และขีดเริ่มของอาการปวดก็เพิ่มขึ้นด้วย

4. ลดอาการปวดจากการสูดดมกลิ่นหอมของสมุนไพร
น้ำมันหอมระเหยจากไพล ขมิ้นชัน การบูร จะมีกลิ่นหอมที่ผู้ป่วยคุ้นเคยและทำให้เกิดความพึงพอใจ จึงได้รับผลดีทั้งทางร่างกายและอารมณ์ โดยภายหลังการสูดดมก็จะให้ผลทางอารมณ์ทันที โดยเมื่อมีการสูดดมเข้าโพรงจมูก โมเลกุลของน้ำมันหอมระเหยก็จะติดอยู่กับขนจมูก และส่งสัญญาณไปที่ตัวรับกลิ่น แล้วส่งต่อไปที่สมองลิมบิคส่วนหน้า ซึ่งจะกระตุ้นความจำและอารมณ์ในด้านบวกจะตอบสนองขึ้น ทำให้สารเคมีที่เหมาะสมหลั่งขึ้นภายในร่างกาย ทำให้รู้สึกผ่อนคลายและทำให้นอนหลับได้ดีขึ้น

พบว่าในปัจจุบันผู้ป่วยสามารถใช้วิธีการประคบร้อนด้วยสมุนไพรเพื่อบรรเทาอาการปวดได้ด้วยตนเอง เนื่องจากสามารถหาวัสดุที่ใช้ได้ง่าย ทำให้เกิดความพึงพอใจ จิตใจมีสภาพดีขึ้น ซึ่งมีผลทางอ้อมในการลดอาการเจ็บปวด เนื่องจากเมื่อมีความพึงพอใจระบบประสาทจะถูกกระตุ้นให้รับรู้การทำงานในด้านบวก เกิดการหลั่งสารเอนดอร์ฟินออกมา ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย จึงทำให้อาการปวดลดน้อยลง

การดูแลมารดาหลังคลอดด้วยการเข้ากระโจม

สมัยก่อนถ้าจะให้ครบกระบวนของการอยู่ไฟก็ต้องมีการเข้ากระโจมอบตัว โดยใช้ว่านนางคำฝนหรือตำคั้นเอาแต่น้ำผสมเหล้าและการบูร ทาให้ทั่วตัวก่อนเข้ากระโจม การเข้ากระโจมเป็นการใช้ไอน้ำจากสมุนไพรมาอบตัว เชื่อกันว่าเป็นวิธีสำคัญที่สามารถกำจัดมลทินบนผิวเนื้อต่างๆ ให้หมดไป ช่วยกำจัดน้ำเหลืองที่เสีย และช่วยบำรุงไม่ให้มีฝ้าบนใบหน้า ช่วยบำรุงผิวพรรณให้สดใส สมุนไพรที่นำมาใช้มีอยู่หลายอย่างเช่น เปลือกส้มโอ ใบส้มป่อย ว่านน้ำ ตะไคร้ ผักบุ้งล้อม มะกรูด ใบมะขาม ไพล เป็นต้น ให้นำสมุนไพรมาต้มรวมกันใส่เกลือลงไป 1 หยิบมือ ต้มให้เดือดจนมีไอพุ่ง แล้วต่อท่อไม้ไผ่เข้ากระโจม หรือจะยกหม้อยาเข้าไปในกระโจมแล้วใช้ผ้าคลุมตัวทำเป็นกระโจมก็ได้ ให้ไอออกมารมตัวด้วยการเปิดแย้มฝาหม้อไว้ ระยะนี้ให้สูดหายใจเอาไอน้ำเข้าไปและลืมตาจะทำให้หายใจโล่ง และสารตาดีขึ้น การเข้ารมในกระโจมมักใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมงหรือนานกว่านี้ก็ได้ เมื่อเหงื่อไหลออกมาท่วมตัวจึงออกจากกระโจมได้ มักจะทำกันในตอนเช้า ลักษณะเช่นนี้เรียกว่า การเข้ากระโจมยา หรือจะใช้อิฐเผาไฟจนแดงแล้วนำเข้าไปในกระโจมแทนหม้อยาก็ได้ แล้วราดบนอิฐด้วนน้ำเกลือให้เกิดไอพุ่งขึ้นมารมตัว เรียกว่า เข้ากระโจมอิฐ และไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัวของการเข้ากระโจมว่าจะเป็นในระหว่างการอยู่ไฟหรือเมื่อออกไฟแล้ว บางท้องถิ่นอาจทำทุกวันในขณะอยู่ไฟ ตั้งแต่แม่ลุกเดินได้ไหวจนออกจากการอยู่ไฟ หรือนับจำนวนวันให้ได้เป็นเลขคี่ แต่บางท้องถิ่นหลังจากออกไฟแล้วถึงจะเข้ากระโจม

การเข้ากระโจม คล้ายกับการใช้ไอน้ำอบตัว จะต้องทาตัวด้วยเหล้า การบูร และว่านนางคำก่อนเข้ากระโจม อาจทำท่อไอน้ำด้วยไม้ไผ่ต่อจากหม้อที่ต้มเดือดแล้วสอดเข้าในกระโจม หรือยกหม้อเข้ากระโจมในขณะที่กำลังเดือดแล้วเปิดฝาออกเล็กน้อยให้มีไอพุ่งขึ้นมารมได้ ซึ่งมีสมุนไพรอยู่ 3 กลุ่มที่ใช้นำมาต้มคือ

กลุ่มที่ 1
เป็นสมุนไพรรสเปรี้ยวที่มีกรดอ่อนๆ ช่วยให้สิ่งสกปรกที่ติดอยู่ตามผิวหนังลื่นหลุดออกไปได้ง่าย สามารถออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรคบางชนิดได้ ทำให้ผิวหนังต้านทานเชื้อโรคได้ดี และทำให้สะอาด สมุนไพรเหล่านี้ เช่น ใบมะขาม ผลมะกรูดผ่าซีก ใบและฝักส้มป่อย เป็นต้น

กลุ่มที่ 2
เป็นสมุนไพรกลิ่นหอม กลุ่มนี้จะมีน้ำมันหอมระเหยอยู่ในตัว ช่วยให้เกิดความสดชื่น กระปรี้กระเปร่า ลดอาการหวัด คัดจมูก สมุนไพรกลุ่มนี้ ได้แก่ ใบตะไคร้ ขมิ้นอ้อย ขมิ้นชัน ไพล ผิวมะกรูด เปราะหอม ว่านน้ำ ใบหนาด เป็นต้น และใบตะไคร้กับเหง้าขมิ้นก็มีสรรพคุณในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราได้ด้วย ส่วนไพลก็สามารถใช้ลดอาการบวมและการอักเสบได้เป็นอย่างดี

กลุ่มที่ 3
สรรพคุณของสมุนไพรกลุ่มนี้จะทำให้รู้สึกสดชื่น ช่วยบำรุงหัวใจ โรคผิวหนังบางชนิดก็สามารถรักษาให้หายได้ สมุนไพรกลุ่มนี้ คือ พิมเสน การบูร

จะเห็นได้ว่าสมุนไพรทั้ง 3 กลุ่มนี้ เมื่อนำมาอบสมุนไพรให้กับหญิงหลังคลอดก็จะให้ประโยชน์ดังนี้

1. ทำให้เลือดมีการไหลเวียนเพิ่มขึ้น การอักเสบ บวม และอาการปวดของกล้ามเนื้อทั่วร่างกายจะลดลง

2. ทำให้มีการขยายของรูขุมขน ทำให้เหงื่อขับสิ่งสกปรกออกมาได้สะดวก และสิ่งสกปรกจะถูกชะล้างให้ลื่นหลุดออกจากผิวหนังได้ง่ายเมื่อนำสมุนไพรที่มีรสเปรี้ยวมาใช้ ทำให้ต้านทานเชื้อโรคที่ผิวหนังได้ดีขึ้น

3. ทำให้ความฝืดแข็ง และการปวดของข้อลดลง

4. ทำให้น้ำหนักลดลงไปได้บ้างจากเหงื่อที่ถูกขับออกมา

5. ทำให้รู้สึกสดชื่น แจ่มใส คลายจากความเครียด และบรรเทาอาการหวัดคัดจมูกได้ จากสมุนไพรที่มีกลิ่นหอม

ข้อห้ามของการเข้ากระโจมหรืออบสมุนไพร
แม้ว่าจะเกิดประโยชน์ขึ้นเมื่อมีการเข้ากระโจมหรืออบสมุนไพร แต่ก็อาจทำให้มีอาการวิงเวียน เป็นลม หมดสติจนเป็นอันตรายได้ ดังนั้นหลังการคลอดจึงมีข้อควรระวังเกี่ยวกับการเข้ากระโจมหรือการอบสมุนไพรดังนี้

1. ไม่ควรเข้ากระโจมหลังจากคลอดได้เพียง 1-2 วัน เพราะร่างกายยังมีความอ่อนแออยู่ ควรเว้นระยะให้ร่างกายแข็งแรงพอเสียก่อนประมาณ 4-5 วัน แล้วจึงเข้ากระโจมได้

2. ไม่ควรเข้ากระโจมหากรู้สึกว่าอ่อนเพลีย อดนอน หิวข้าว หิวน้ำ หรืออิ่มเกินไป

3. ไม่ควรเข้าอบตัวในกระโจมหากมีไข้ ตัวร้อน ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ หรือมีอาการคลื่นไส้อาเจียน

4. ผู้ที่เป็นโรคต่อไปนี้ไม่ควรเข้ากระโจม คือผู้ที่เป็นโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง โรคหอบหืด โรคลมชัก และโรคไต

การดูแลมารดาหลังคลอดด้วยการอยู่ไฟ

ภาวะสุขภาพของมารดาหลังคลอดจะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ในแง่ของการแพทย์แผนไทย จำเป็นต้องหาวิธีฟื้นฟูสุขภาพที่เสื่อมหรือบกพร่องไป ให้กลับมามีความแข็งแรงดังเดิม

การอยู่ไฟ
คนไทยได้ปฏิบัติเกี่ยวกับการอยู่ไฟสืบทอดกันมาช้านาน จึงเรียกมารดาในระยะหลังคลอดบุตรว่า ระยะอยู่ไฟ ในสมัยโบราณจะเตรียมการอยู่ไฟไว้ตั้งแต่ก่อนครรภ์แก่ใกล้คลอด โดยสามีจะตัดฟืนมาไว้สำหรับให้ภรรยาอยู่ไฟหลังคลอดลูกแล้ว เพื่อเป็นการแสดงความเอาใจใสต่อภรรยาก็ห้ามผู้อื่นไปตัดฟืนให้ หรือจ้างผู้อื่น หรือซื้อหาเอามา แต่ก็ไม่ได้เคร่งครัดกันมากนักในระยะต่อมา ไม้ที่ใช้ทำฟืนต้องเป็นไม้ที่มีขี้เถ้าน้อยเพื่อไม่ให้เกิดความรำคาญมากนัก เช่น ไม้สะแก หรือไม้มะขาม และควรมีไม้ทองหลางด้วย เพราะมีความเชื่อกันว่า การอยู่ไฟด้วยไม้ทองหลางจะช่วยป้องกันการปวดมดลูกและแก้พิษเลือด แต่ไม้ทองหลางจะทำให้เกิดควันมากจึงควรใส่แค่พอเป็นพิธี

ต้องมีการทำพิธี “เข้าขื่อ” เสียก่อนที่จะขึ้นนอนบนกระดานไฟ คือการนอนตะแคงให้หมอตำแยเหยียบสะโพก เพราะมีความเชื่อว่าจะทำให้กระดูกเชิงกรานเข้าที่ และต้องกราบขอขมาเตาไฟก่อนจะขึ้นไปนอน เพราะเชื่อว่าเตาไฟมีเทพารักษ์ประจำอยู่ถือว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ จะได้คุ้มครองให้อยู่เย็นเป็นสุข ให้ระลึกถึงคุณของพระเพลิง พระพาย พระแม่ธรณี และพระแม่คงคา ซึ่งเป็นเทพที่ประจำอยู่กับธาตุทั้ง 4 และหมอจะทาท้องด้วยขมิ้นและปูนแดงที่เสกแล้ว และพอกแผลฝีเย็บด้วยไพลที่ตำกับเกลือ ซึ่งจะช่วยให้แผลหายเร็วไม่เป็นหนอง หรือก่อนพอกยาให้ล้างด้วยเหล้าเสียก่อน เมื่ออยู่ไฟต้องนุ่งผ้าเตี่ยว เอาสำลีที่ชุบขมิ้นผสมกับปูนแดงและเหล้าปิดสะดือ และทาท้องกับหลังไว้เสมอเพื่อเป็นการดับพิษร้อนและเป็นการรักษาร่างกาย และมีการรมตาด้วยนำยาโรยบนถ่านไฟเพื่อกันตาแฉะ ตาเจ็บ หลังจากคลอดลูก 3-7 วันมดลูกก็จะเข้าอู่ หมอตำแยจะเอามือกดตรงหัวเหน่าเพื่อช้อนให้มดลูกเข้าอู่ทุกวัน เมื่อช้อนขึ้นไปแล้วก็ใช้มือกดคลึงที่หัวเหน่า เรียกว่า กล่อมมดลูก เพื่อให้มีการหดตัวเข้าที่ของปากมดลูก ขณะที่กล่อมมดลูก หญิงหลังคลอดจะรู้สึกสบายตัวเพราะจะมีน้ำคาวปลาทะลักออกมาด้วย และให้เอาว่านนางคำตำหรือฝน นำมาผสมกับเหล้าและการบูรทาให้ทั่วตัวก่อนที่จะเข้ากระโจมอยู่ไฟ

การอยู่ไฟได้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ซึ่งแบ่งได้เป็น 2 ลักษณะใหญ่ คือ

การอยู่ไฟแบบใช้กองไฟ
มีการใช้เชื้อเพลิงหรือถ่านมาก่อไฟเป็นหลัก มีอยู่ 2 รูปแบบคือ การอยู่ไฟแบบก่อกองไฟ กับการอยู่ไฟแบบกระดานไฟ แต่รายละเอียดของการอยู่ไฟแบบดั้งเดิมที่ปฏิบัติกันมาจะมีความแตกต่างกันไปตามแต่ละท้องถิ่นนั้นๆ

การอยู่ไฟแบบให้ความร้อนบริเวณหน้าท้อง
การอยู่ไฟลักษณะนี้จะมีความสะดวกมากยิ่งขึ้น โดยทั่วไปมักใช้อยู่ 2 วิธีคือ

1. การอยู่ไฟชุด
เป็นการจุดเชื้อไฟแล้วใส่ในกล่องอะลูมิเนียมแบนๆ จะใช้ประมาณ 2-3 กล่อง ทำให้กล่องเกิดความร้อนขึ้น แล้วใช้ผ้าพันรอบท้องให้กล่องไฟชุดอยู่บริเวณหน้าท้อง หลังจากคลอดจะต้องเข้ากระโจมประคบตัว และอาบน้ำทับหม้อเกลือ และนั่งถ่าน ผ้าที่ใช้พันกล่องไฟชุดต้องหนาพอที่จะกันความร้อนจากกล่องไฟ เพื่อไม่ให้ผิวหนังบริเวณหน้าท้องพอง

2. การใช้กระเป๋าน้ำร้อน
เป็นการประยุกต์ใช้กันในยุคหลังๆ ด้วยการนำกระเป๋าน้ำร้อนมาวางบริเวณหน้าท้องแทนการอยู่ไฟ หรือในบางท้องถิ่นอาจนำก้อนอิฐมาเผาไฟแล้วห่อด้วยผ้าใช้วางบนหน้าท้อง

ประโยชน์ของการอยู่ไฟที่มารดาหลังคลอดได้รับ
ลดการเกร็งและความตึงตัวของกล้ามเนื้อ
การใช้กล้ามเนื้อเป็นระยะเวลานานจะทำให้เกิดการเกร็งและตึงตัวได้ ทำให้ขาดเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อบริเวณนั้น โดยการทำงานของเซลล์ประสาทจะลดลงเมื่ออุณหภูมิต่ำกว่า 45 องศาเซลเซียส ทำให้ความไวของกลุ่มใยกล้ามเนื้อน้อยลงเมื่อถูกกระตุ้น

เพิ่มการไหลเวียนโลหิตให้มากขึ้น
ความร้อนจะไปกระตุ้นสัญญาณประสาทที่ใยประสาทใหญ่ ซึ่งส่วนมากจะพบที่บริเวณผิวหนังผ่านเข้าสู่ไขสันหลังบริเวณคอร์ซอลฮอร์น และสัญญาณบางส่วนจะย้อนไปที่หลอดเลือดกระตุ้นให้มีการหลั่งสารที่มีฤทธิ์ต่อความตึงตัวของกล้ามเนื้อเรียบของหลอดเลือด ทำให้มีการขยายตัวของหลอดเลือด ส่งผลให้เลือดมีปริมาณการไหลเวียนเพิ่มขึ้น

ความร้อนเป็นตัวการรับความรู้สึกปวด
โดยบริเวณผิวหนังจะถูกกระตุ้นด้วยความร้อนทำให้ตัวรับอุณหภูมินำสัญญาณประสาทไปทางใยประสาทส่วนใหญ่ สามารถยับยั้งประสาทที่เกี่ยวข้องกับอาการปวด ทำให้สัญญาณผ่านไปยังสมองได้น้อยลง จึงรับรู้อาการปวดลดลงไปด้วย

ลดการอักเสบ
เนื้อเยื่อบริเวณที่ได้รับความร้อนจะมีอุณหภูมิสูงขึ้น ทำให้ภายในเซลล์มีปฏิกิริยาทางเคมีและอัตราการเผาผลาญเพิ่มขึ้น ทำให้เนื้อเยื่อสามารถนำออกซิเจนไปใช้ได้มากขึ้น ส่วนเนื้อเยื่อที่มีการอักเสบหรือบาดเจ็บก็จะได้รับการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอเพิ่มขึ้นจากการนำของสารต่างๆ ในร่างกาย ทำให้ร่างกายสามารถกำจัดของเสียออกไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

[Total: 1 Average: 5]

Leave a Reply

Discover more from HEALTH ME NOW

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading