ตกเลือด (Bleeding during pregnancy)

การตกเลือด (Bleeding during pregnancy) คือภาวะที่มีเลือดออกมา ระหว่างตั้งครรภ์ บางครั้งอาจเป็นภาวะปกติที่ไม่ได้มีความน่ากังวลแต่หากการตกเลือดมากเกินไปอาจจะส่งผลกระทบต่อการตั้งครรภ์ได้

บางครั้งภาวะตกเลือด เลือดอาจเป็นสีชมพู แดง หรือน้ำตาลเข้ม (สีสนิม) คุณอาจสังเกตเห็นรอยเลือดเมื่อคุณใช้ห้องน้ำหรือเห็นบนกางเกงชั้นใน  ซึ่งจะเป็นปริมาณน้อย ไม่เหมือนประจำเดือน

การมีเลือดออกขณะตั้งครรภ์อาจเกิดจากหลายปัจจัย โดยจะไม่เหมือนกับการมีประจำเดือน ถ้าหากคุณมีประจำเดือน คุณต้องใช้แผ่นรองหรือผ้าอนามัยเพื่อหยุดเลือดไม่ให้เปื้อนเสื้อผ้าของคุณ แต่เลือดออกขณะตั้งครรภ์ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้ผ้าอนามัย

สาเหตุ ตกเลือด

การตกเลือดระหว่างตั้งครรภ์เกิดจากสาเหตุหลายประการที่แตกต่างกันไป โดยแบ่งสาเหตุตามอายุครรภ์ที่ตกเลือดออกเป็น 2 ช่วงหลัก ได้แก่ การตกเลือดช่วงอายุครรภ์น้อย และการตกเลือดช่วงอายุครรภ์มาก ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

  • การตกเลือดช่วงอายุครรภ์น้อย สตรีมีครรภ์อาจตกเลือดบ้างในช่วง 12 สัปดาห์แรกของอายุครรภ์ ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 20 โดยสาเหตุของการตกเลือดระหว่างตั้งครรภ์ช่วงนี้ ได้แก่
    • เลือดล้างหน้าเด็ก (Implantation Bleeding) ผู้ตั้งครรภ์จะตกเลือดชนิดนี้ภายใน 6-12 วันแรกหลังจากไข่ปฏิสนธิเข้าไปฝังตัวในผนังมดลูก โดยจะมีเลือดเป็นจุดเล็ก ๆ คล้ายเลือดประจำเดือนมาน้อยไหลออกมา ผู้ตั้งครรภ์จะตกเลือดลักษณะดังกล่าวเพียงไม่กี่ชั่วโมง หรือนาน 2-3 วัน
    • ภาวะแท้ง การแท้งเองมักเกิดขึ้นเมื่อสุขภาพครรภ์ไม่แข็งแรง โดยส่วนใหญ่มักเกิดภาวะแท้งในช่วง 12 สัปดาห์ของอายุครรภ์ (หรือเมื่อตั้งครรภ์ได้ 3 เดือน) ทั้งนี้ ภาวะแท้งก่อนอายุครรภ์ครบ 14 สัปดาห์ มักเกิดจากทารกมีความผิดปกติ ซึ่งมีสาเหตุมาจากปัญหาเกี่ยวกับฮอร์โมน หรือเลือดแข็งตัว อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ตกเลือดเมื่อครรภ์ยังอ่อนอาจไม่ได้แท้งบุตรทุกราย โดยผู้ตั้งครรภ์เกินร้อยละ 90 ที่ตกเลือดเมื่ออายุครรภ์น้อย มักไม่เกิดภาวะแท้งหากอัลตราซาวด์และพบว่าหัวใจทารกเต้นอยู่
    • ท้องนอกมดลูก ภาวะนี้เกิดจากการที่ตัวอ่อนไปฝังตัวอยู่นอกมดลูก ซึ่งมักฝังตัวที่ท่อนำไข่ หากตัวอ่อนนั้นเจริญขึ้นเรื่อย ๆ อาจทำให้ท่อนำไข่แตกและเป็นอันตรายถึงชีวิตแก่ผู้ตั้งครรภ์ได้ ผู้ที่ติดเชื้อที่ท่อนำไข่ เคยท้องนอกมดลูก หรือได้รับการผ่าตัดอุ้งเชิงกราน เสี่ยงเกิดภาวะนี้ได้สูง อย่างไรก็ตาม การท้องนอกมดลูกพบได้น้อยกว่าภาวะแท้ง
    • ครรภ์ไข่ปลาอุก (Molar Pregnancy) ภาวะนี้เรียกอีกอย่างว่ามะเร็งไข่ปลาอุก (Gestational Trophoblastic Disease: GTD) ถือเป็นสาเหตุของการตกเลือดที่พบได้น้อย ครรภ์ไข่ปลาอุกเกิดจากการเจริญของเนื้อเยื่อที่ผิดปกติ ไม่ใช่ตัวอ่อนของทารก ทั้งนี้ เนื้อเยื่อที่เจริญขึ้นมาอาจเป็นเนื้อร้ายและลุกลามไปตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ซึ่งพบได้น้อยราย
    • การเปลี่ยนแปลงของปากมดลูก เลือดในร่างกายจะไหลเวียนไปเลี้ยงที่ปากมดลูกมากเป็นพิเศษในช่วงที่ตั้งครรภ์ การตกเลือดจากสาเหตุนี้ไม่ก่อให้เกิดอันตรายใด ๆ
    • การติดเชื้อ การตกเลือดอาจเกิดจากการติดเชื้อที่ปากมดลูก ช่องคลอด หรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น หนองในแท้ หนองในเทียม โรคเริม เป็นต้น
  • การตกเลือดช่วงอายุครรภ์มาก ผู้ตั้งครรภ์ที่ตกเลือดเมื่ออายุครรภ์แก่หรือมากขึ้น ควรพบแพทย์ทันที เนื่องจากการตกเลือดในช่วงนี้เป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพร้ายแรงที่เกิดขึ้นกับผู้ตั้งครรภ์หรือทารกในครรภ์ สาเหตุของการตกเลือดเมื่ออายุครรภ์มากขึ้น ได้แก่
    • รกเกาะต่ำ ภาวะนี้เกิดจากรกมาเกาะตรงมดลูกและปิดปากมดลูกบางส่วนหรือทั้งหมด รกเกาะต่ำจะทำให้เลือดออกมากแต่ไม่เกิดอาการเจ็บปวดใด ๆ ซึ่งถือว่าอันตรายต่อทารกในครรภ์หากเลือดออกมาก ผู้ตั้งครรภ์ควรพบแพทย์และรับการรักษาทันที โดยแพทย์มักจะผ่าตัดทำคลอด
    • รกลอกตัวก่อนกำหนด หากรกเกิดลอกออกจากผนังมดลูกก่อนหรือระหว่างคลอดทารก จะส่งผลให้เลือดไหลออกมา ถือว่าเป็นเอันตรายต่อผู้ตั้งครรภ์และทารกในครรภ์ โดยภาวะนี้มักเกิดขึ้นช่วง 12 สัปดาห์สุดท้ายของอายุครรภ์ ผู้ที่เคยมีบุตร อายุมากกว่า 35 ปี เคยประสบภาวะมดลูกแตกมาก่อน ความดันโลหิตสูง ได้รับบาดเจ็บที่ท้อง หรือสูบบุหรี่ระหว่างตั้งครรภ์ เสี่ยงเกิดภาวะนี้ได้สูง อย่างไรก็ตาม ภาวะรกลอกก่อนกำหนดพบได้น้อยมาก
    • มดลูกแตก ผู้ที่เคยผ่าท้องคลอดมาก่อนอาจเสี่ยงต่อการที่แผลผ่าตัดตรงมดลูกเปิดระหว่างตั้งครรภ์ได้ ซึ่งถือว่าอันตรายถึงชีวิต ต้องผ่าท้องทำคลอดฉุกเฉิน อย่างไรก็ดี การตกเลือดจากสาเหตุนี้พบได้น้อยมากเช่นกัน
    • สายสะดือพาดผ่านปากมดลูก (Vasa Previa) ผู้ตั้งครรภ์ที่ตกเลือดและพบว่าอัตราการเต้นหัวใจของทารกเปลี่ยนกะทันหันหลังถุงน้ำคร่ำแตก อาจเกิดจากหลอดเลือดที่อยู่ในสายสะดือพาดผ่านตรงปากมดลูก หากน้ำคร่ำแตก จะส่งผลให้หลอดเลือดฉีกขาดและตกเลือดได้ ทารกในครรภ์อาจเสียเลือดมากถึงขั้นเป็นอันตรายต่อชีวิต
    • คลอดก่อนกำหนด การตกเลือดเมื่ออายุครรภ์มากขึ้นอาจเป็นสัญญาณของการคลอดบุตร โดยปากมดลูกจะมีมูกเลือด ซึ่งอาจเกิดขึ้นประมาณ 2-3 วันก่อนคลอด ร่วมกับอาการเจ็บครรภ์ หากตกเลือดก่อนอายุครรภ์ครบ 37 สัปดาห์ ควรพบแพทย์ทันที

นอกจากนี้ ผู้ตั้งครรภ์ที่ตกเลือดเมื่ออายุครรภ์มากขึ้น อาจเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น การติดเชื้อหรือได้รับบาดเจ็บที่ปากมดลูกหรือช่องคลอด ติ่งเนื้อ และโรคมะเร็ง

อาการ ตกเลือด

การตกเลือดจะปรากฏสัญญาณและอาการที่แตกต่างกันไปตามสาเหตุ ดังนี้

  • เลือดล้างหน้าเด็ก การตกเลือดจากสาเหตุนี้จะมีเลือดออกเป็นจุดเพียงเล็กน้อยคล้ายเลือดรอบเดือนที่มาน้อย โดยผู้ตั้งครรภ์จะมีเลือดล้างหน้าเด็กออกจากช่องคลอดประมาณ 2-3 ชั่วโมง บางรายอาจตกเลือดนี้ประมาณ 2-3 วัน
  • ภาวะแท้ง สัญญาณตกเลือดจากภาวะแท้งคือ ช่องคลอดจะมีเลือดออก รวมทั้งมีเนื้อเยื่อไหลออกมาด้วย นอกจากนี้ ผู้ตั้งครรภ์จะรู้สึกปวดบีบที่ท้องน้อย ซึ่งอาการปวดจะรุนแรงกว่าการปวดประจำเดือน
  • ท้องนอกมดลูก หากผู้ตั้งครรภ์ประสบภาวะท้องนอกมดลูก จะเกิดอาการปวดท้องน้อยรุนแรง โดยปวดท้องข้างใดข้างหนึ่งตลอดเวลา รวมทั้งมีเลือดออกจากช่องคลอด ซึ่งมักเกิดขึ้นหลังจากที่เริ่มปวดท้อง ทั้งนี้ ผู้ตั้งครรภ์อาจจะรู้สึกปวดไหล่ ท้องร่วง อาเจียน และวิงเวียนเป็นลมร่วมด้วย
  • ครรภ์ไข่ปลาอุก ผู้ตั้งครรภ์ที่เกิดครรภ์ไข่ปลาอุกมักจะรู้สึกคลื่นไส้และอาเจียนอย่างรุนแรง รวมทั้งขนาดท้องโตขึ้นอย่างรวดเร็ว หากแพทย์อัลตราซาวด์ครรภ์ จะพบกลุ่มเนื้อเยื่อมีลักษณะคล้ายพวงองุ่นที่มดลูก และไม่พบจังหวะหัวใจของทารกในครรภ์
  • รกเกาะต่ำ อาการตกเลือดจากรกเกาะต่ำคือ จะมีเลือดสีแดงสดไหลออกมาจากช่องคลอดและมักไม่เกิดอาการเจ็บปวดใด ๆ โดยผู้ตั้งครรภ์อาจตกเลือดน้อยหรือมาก และมักหยุดตกเลือดเอง อย่างไรก็ดี ผู้ตั้งครรภ์อาจจะกลับมาตกเลือดได้อีก บางรายอาจรู้สึกเหมือนมดลูกหดรัดตัวร่วมด้วย หากตกเลือดอย่างรุนแรง ควรพบแพทย์เพื่อรับการรักษาทันที
  • รกลอกตัวก่อนกำหนด ผู้ตั้งครรภ์จะปวดท้องและปวดหลัง โดยอาการดังกล่าวจะเกิดขึ้นทันที มีลิ่มเลือดออกจากช่องคลอดและเจ็บมดลูก บางรายอาจไม่มีเลือดออกมาให้เห็นอย่างชัดเจน เนื่องจากเลือดค้างอยู่ภายในมดลูก นอกจากนี้ ผู้ตั้งครรภ์อาจสังเกตว่ามีเลือดออกจากช่องคลอดเพียงเล็กน้อย ซึ่งเกิดจากรกที่ค่อย ๆ ลอกอย่างช้า ๆ รวมทั้งทารกในครรภ์ไม่เติบโตและมีน้ำคร่ำน้อย
  • มดลูกแตก มดลูกแตกถือเป็นภาวะที่พบได้น้อยมาก อย่างไรก็ตาม ผู้ตั้งครรภ์ที่ตกเลือดจากภาวะนี้ต้องผ่าท้องทำคลอดทันที ผู้ที่ประสบภาวะมดลูกแตกจะเกิดอาการปวดและเจ็บเหมือนถูกกดที่ท้องอย่างรุนแรง
  • สายสะดือพาดผ่านปากมดลูก หากอัตราการเต้นหัวใจของทารกในครรภ์ผิดปกติหรือเปลี่ยนแปลงกะทันหัน รวมทั้งผู้ตั้งครรภ์ตกเลือดมาก ควรพบแพทย์ทันที เนื่องจากภาวะสายสะดือพาดผ่านปากมดลูกนับว่าอันตรายต่อทารกถึงชีวิต โดยหลอดเลือดจะฉีกขาด ทำให้เด็กเสียเลือดและขาดออกซิเจนได้
  • คลอดก่อนกำหนด ผู้ตั้งครรภ์ที่เสี่ยงคลอดก่อนกำหนดจะปรากฏอาการของภาวะนี้ก่อนอายุครรภ์ครบ 37 สัปดาห์ โดยจะมีน้ำ มูก หรือเลือดออกจากช่องคลอด รู้สึกปวดเหมือนถูกกดอุ้งเชิงกรานหรือท้องน้อย ปวดหลังส่วนล่าง ปวดบีบที่ท้องซึ่งอาจท้องร่วงร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้ รวมทั้งมดลูกหดรัดตัวเป็นประจำ

การรักษา ตกเลือด

ผู้ตั้งครรภ์ควรหมั่นดูแลและสังเกตอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ หากเกิดตกเลือดเล็กน้อย ควรใส่ผ้าอนามัยหรือแผ่นอนามัยเพื่อดูปริมาณเลือดที่ไหลออกมาจากช่องคลอด รวมทั้งหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ ในกรณีที่ตกเลือดมาก ปวดบีบที่ท้อง เป็นไข้ มดลูกหดรัดตัว หรือวิงเวียนศีรษะและจะเป็นลม ควรพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยสาเหตุและรักษาทันที ทั้งนี้ ควรเก็บเนื้อเยื่อที่ไหลมาจากช่องคลอดเพื่อนำไปให้แพทย์ตรวจด้วย เนื่องจากการตกเลือดมากอาจมีสาเหตุมาจากภาวะแท้ง สำหรับผู้ที่หมู่เลือดมีค่าอาร์เอช (Rh) เป็นลบ จำเป็นต้องได้รับการฉีดอิมมูโนโกลบูลินเพื่อป้องกันปัญหาเกี่ยวกับภาวะเลือดเข้ากันไม่ได้ที่อาจเกิดขึ้นเมื่อตั้งครรภ์ครั้งต่อไป ทั้งนี้ อาการตกเลือดจากสาเหตุต่าง ๆ มีวิธีรักษา ดังนี้

  • ภาวะแท้ง ผู้ที่ตกเลือดจากภาวะแท้งจะต้องทำอัลตราซาวด์ เพื่อตรวจดูว่าตัวอ่อนในครรภ์เจริญขึ้นมาหรือไม่ โดยผู้ตั้งครรภ์จะปล่อยให้ภาวะดังกล่าวดำเนินไปเองตามธรรมชาติ ซึ่งมักเกิดขึ้นภายใน 2 สัปดาห์ หากไม่แท้งเอง อาจจะต้องใช้ยาเหน็บช่องคลอดเพื่อขับเนื้อเยื่อและรกของตัวอ่อนที่ตายแล้วออกมา โดยยามักจะขับตัวอ่อนที่แท้งอยู่ในครรภ์ออกมาภายใน 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ ผู้ที่ตกเลือดมากจากภาวะแท้งหรือเกิดการติดเชื้อ จะได้รับการขูดมดลูก เพื่อนำเนื้อเยื่อภายในมดลูกออกมา ซึ่งวิธีนี้อาจทำให้เนื้อเยื่อเกี่ยวพันตรงปากมดลูกและผนังมดลูกได้รับความเสียหาย
  • ท้องนอกมดลูก ผู้ป่วยท้องนอกมดลูก หากมดลูกฉีกขาดมักจะได้รับการผ่าตัดเพื่อรักษาอาการ
  • ครรภ์ไข่ปลาอุก แพทย์จะขูดมดลูกเอาเนื้อเยื่อผิดปกติที่เจริญขึ้นมาออกไป หรืออาจผ่าตัดนำมดลูกออกไปเลย การรักษาด้วยการผ่าตัดมดลูกจะรักษาเฉพาะผู้ป่วยที่ไม่ต้องการมีบุตรในอนาคต
  • รกเกาะต่ำ ผู้ตั้งครรภ์ที่เลือดออกเล็กน้อย ต้องนอนพักอยู่บนเตียงและงดมีเพศสัมพันธ์ ส่วนผู้ตั้งครรภ์ที่ตกเลือดมากต้องรักษาตัวที่โรงพยาบาล รวมทั้งอาจต้องรับการให้เลือดเพื่อทดแทนเลือดที่เสียไป นอกจากนี้ แพทย์อาจผ่าท้องคลอดซึ่งมักทำหลังอายุครรภ์ครบ 36 สัปดาห์ หากตกเลือดไม่หยุดและทารกอยู่ในภาวะอันตราย ต้องผ่าท้องคลอดทันที
  • รกลอกก่อนกำหนด หากระดับอาการไม่รุนแรง รวมทั้งทารกยังไม่ครบกำหนดคลอด เหลืออีกนานหลายสัปดาห์ อาจต้องได้รับการดูแลจากแพทย์อย่างใกล้ชิดที่โรงพยาบาล หากภาวะรกลอกก่อนกำหนดรุนแรงขึ้นและเป็นอันตรายต่อทารก แพทย์จะผ่าตัดทำคลอดทันที รวมทั้งจำเป็นต้องได้รับเลือดร่วมด้วย
  • คลอดก่อนกำหนด ผู้ที่อายุครรภ์ยังไม่ครบ 34 สัปดาห์ และเสี่ยงคลอดก่อนกำหนดสูง จำเป็นต้องนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาล โดยแพทย์จะฉีดคอร์ติโคสเตียรอยด์เพื่อเร่งการเจริญของปอดทารก รวมทั้งให้อาจยาแมกนีเซียมซัลเฟต (Magnesium Sulfate) สำหรับผู้ที่เสี่ยงคลอดในช่วงอายุครรภ์ 24-32 สัปดาห์ และให้ยาโทโคไลติก (Tocolytic) เพื่อลดอาการมดลูกหดรัดตัว อย่างไรก็ตาม ยาโทโคไลติกจะช่วยระงับอาการคลอดก่อนกำหนดได้ไม่นาน เนื่องจากยานี้ไม่ใช่ยาสำหรับรักษาภาวะดังกล่าวโดยเฉพาะ
[Total: 0 Average: 0]