ปวดน่อง (Calf Pain)

ปวดน่อง (Calf Pain) เป็นอาการปวดที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน น่องประกอบด้วยกล้ามเนื้อ 2 มัดคือ Gastrocnemius และ Soleus กล้ามเนื้อเหล่านี้มาบรรจบกันที่เอ็นร้อยหวายซึ่งยึดติดกับส้นเท้าโดยตรง เราจะใช้กล้ามเนื้อเหล่านี้เมื่อมีการเคลื่อนไหวขาหรือเท้า

อาการปวดน่องแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล แต่โดยทั่วไปแล้วจะรู้สึกปวด และบางครั้งมีอาการตึงที่ด้านหลังของขาส่วนล่าง อาการที่อาจบ่งบอกถึงภาวะที่รุนแรงขึ้น ได้แก่ :

  • บวม
  • น่องมีสีซีดหรือรู้สึกถึงความเย็น
  • ชาที่น่องและขา
  • ขาอ่อนแรง
  • บวมน้ำ
  • อักเสบ แดง

หากมีอาการเหล่านี้ เพิ่มเติมจากอาการปวดน่อง ควรไปพบแพทย์

อาการปวดน่องอาจเกิดจากสาเหตุหลายประการ เช่น การทำงานหนักเกินไปของกล้ามเนื้อ ตะคริว ในขณะที่อาการปวดน่องส่วนใหญ่สามารถรักษาได้ด้วยตนเอง แต่บางกรณีอาจต้องได้รับการดูแลจากแพทย์โดยทันที

สาเหตุ ปวดน่อง

อาการปวดน่องเกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยสาเหตุที่พบได้บ่อย เช่น

  • การบาดเจ็บจากการออกกำลังกาย อาจเกิดจากการอบอุ่นร่างกายยืดเส้นยืดสายไม่เพียงพอก่อนออกกำลังกาย หรือใช้กล้ามเนื้อน่องมากเกินไป โดยเฉพาะการออกกำลังกายที่เน้นบริหารช่วงขา เช่น เดิน วิ่ง ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน ยกน้ำหนัก เป็นต้น เพราะอาจทำให้กล้ามเนื้อฉีกขาดและเกิดอาการปวดน่องตามมาได้
  • การห้อเลือดหรือรอยฟกช้ำ ซึ่งเป็นผลมาจากหลอดเลือดฝอยใต้ผิวหนังแตกหลังได้รับบาดเจ็บ เช่น หกล้ม หรือถูกกระแทกจากของไม่มีคม เป็นต้น
  • การเกิดตะคริวจนทำให้กล้ามเนื้อหดรัดตัว โดยอาจเกิดจากการออกกำลังกายเป็นเวลานานหรือหนักเกินไป หรือร่างกายอยู่ในภาวะสูญเสียน้ำและเกลือแร่
  • เอ็นร้อยหวายอักเสบ เกิดจากการใช้เส้นเอ็นมากเกินไป โดยอาการทั่วไปที่พบ คือ เอ็นอักเสบ ปวดบวมบริเวณด้านหลังของขาส่วนล่าง และเคลื่อนไหวได้ในทิศทางที่จำกัดเมื่องอเท้า
  • อาการปวดร้าวลงขา มีสาเหตุจากเส้นประสาทไซอาติก (Sciatic Nerve) ถูกกดทับ ส่งผลให้เกิดอาการปวด ชา และเจ็บแปลบบริเวณหลังส่วนล่าง ซึ่งผู้ป่วยอาจมีอาการปวดร้าวลงไปถึงน่องและกล้ามเนื้ออื่น ๆ ร่วมด้วย
  • หลอดเลือดดำที่ขาอุดตัน ทำให้ลิ่มเลือดแข็งตัวในหลอดเลือดดำส่วนลึกบริเวณแขน ขา และน่อง ซึ่งอาจส่งผลให้ขาเกิดอาการบวมและปวดตึง
  • เส้นประสาทบริเวณขาเสียหายจากโรคเบาหวาน ซึ่งเป็นภาวะที่พบมากในผู้ป่วยเบาหวาน ส่งผลให้เส้นประสาทที่มือ แขน ขา และเท้าถูกทำลาย
  • ความดันในช่องกล้ามเนื้อสูง เป็นภาวะที่เกิดขึ้นหลังได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรง ทำให้ผู้ป่วยมีอาการชา ปวดอย่างรุนแรง และเคลื่อนไหวลำบาก

อาการ ปวดน่อง

อาการปวดน่องจะแตกต่างกันไปตามสาเหตุ โดยผู้ป่วยอาจรู้สึกปวดเมื่อย ปวดแปลบ ปวดตุบ ๆ บริเวณน่องข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้างพร้อมกัน ซึ่งอาจเกิดขึ้นขณะนอนหลับในตอนกลางคืน วิ่ง หรือออกกำลังกาย

นอกจากนี้ อาการปวดน่องอาจเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงอาการเจ็บป่วยที่รุนแรงได้ โดยเฉพาะหากพบอาการดังต่อไปนี้เกิดขึ้นร่วมด้วย ซึ่งผู้ป่วยควรไปพบแพทย์ทันที

  • น่องหรือขาบวม
  • ขาและเท้าเริ่มซีดหรือเย็นผิดปกติ
  • น่องมีอาการแดงและร้อนผิดปกติ
  • กล้ามเนื้อขาอ่อนแรง
  • รู้สึกเจ็บแปลบหรือชาบริเวณน่องและขา
  • มีอาการกดเจ็บบริเวณน่อง

การรักษา ปวดน่อง

การรักษาด้วยตนเอง ผู้ป่วยอาจปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้ เพื่อบรรเทาอาการปวดเล็ก ๆ น้อย ๆ

  • หยุดออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่กระตุ้นให้เกิดอาการปวดน่อง
  • ค่อย ๆ ยืดหรือเหยียดขาออก แล้วนวดกล้ามเนื้อบริเวณที่ปวดเบา ๆ โดยเหยียดขาค้างไว้จนกว่าอาการปวดจะทุเลาลง
  • ทายาบรรเทาอาการปวด ซึ่งเป็นยาที่หาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป
  • ประคบร้อนบริเวณกล้ามเนื้อที่มีอาการปวดตึง
  • ประคบเย็นบริเวณกล้ามเนื้อที่เพิ่งได้รับบาดเจ็บ
  • หากมีอาการบวม อาจยกขาให้อยู่ระดับหัวใจหรืออยู่เหนือระดับหัวใจ
  • รับประทานยาแก้ปวดที่มีขายทั่วไปตามร้านขายยา เช่น ยาพาราเซตามอล ยาไอบูโพรเฟน ยานาพรอกเซน เป็นต้น

การรักษาด้วยวิธีทางการแพทย์

แพทย์จะรักษาอาการปวดน่องตามลักษณะอาการ ผลการวินิจฉัย และโรคประจำตัวของผู้ป่วยร่วมกัน เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดและควบคุมสาเหตุที่อาจส่งผลให้เกิดอาการปวดน่องซ้ำอีกในอนาคต กรณีที่ผู้ป่วยมีอาการปวดน่องจากภาวะความดันในช่องกล้ามเนื้อสูง หลอดเลือดดำอุดตันที่ขา หรือเส้นประสาทถูกทำลายจากเบาหวาน อาจต้องเข้ารับการรักษาด้วยยาและการผ่าตัด ทั้งนี้ หากอาการปวดน่องไม่ดีขึ้นหรือมีอาการรุนแรงมากหลังการรักษา ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

[Total: 0 Average: 0]