AMH (Anti-Müllerian hormone) คือฮอร์โมนที่ถูกสร้างมาจากไข่ในรังไข่ของคุณผู้หญิง โดยบอกได้ถึงจำนวนไข่และความสามารถในการทำงานของรังไข่ อีกทั้งยังสามารถบอกได้ถึงโอกาสการตั้งครรภ์ได้
ทำไมต้องรีบตรวจ
อย่างที่เราทราบกันดีว่า การมีบุตรยากนั้นสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งปัจจัยที่ทำให้มีบุตรยากอันดับต้นๆ นั่นก็คืออายุที่มากขึ้น จึงทำให้โอกาสมีลูกน้อยลงตามไปด้วย นั่นเป็นเพราะว่า ในช่วงวัยเจริญพันธุ์ที่คุณผู้หญิงเริ่มมีประจำเดือนนั้น รังไข่จะมีไข่มากถึง 3-4 แสนฟอง และในแต่ละเดือนจะมีไข่เพียง 1 ฟองที่ตกออกมาเพื่อใช้ในการปฏิสนธิเท่านั้น และเมื่ออายุมากขึ้น จำนวนไข่ในรังไข่ก็น้อยลง ในขณะเดียวกันคุณภาพของไข่ก็ลดลงตามไปด้วย ดังนั้นคุณผู้หญิงที่มีอายุ 35 ปี ขึ้นไปจึงอาจประสบปัญหามีบุตรยากนั่นเองค่ะ
การตรวจ AMH เป็นการตรวจที่ทำให้รู้ประสิทธิภาพการทำงานของรังไข่ ทำให้คุณผู้หญิงวางแผนได้ว่าควรรีบมีลูกตอนนี้หรือสามารถปล่อยเวลาให้ผ่านไปเรื่อยๆ ก่อนได้ อีกทั้งในกระบวนการเทคโนโลยีเพื่อการมีบุตรนั้นจะใช้ค่าบ่งชี้ของ AMH ในการทำนายว่ารังไข่จะสามารถตอบสนองการกระตุ้นไข่ด้วยยาที่ใช้มากแค่ไหน และควรใช้ปริมาณยามากน้อยเท่าไหร่เพื่อให้มีการผลิตไข่ออกมาในปริมาณที่มากพอ
การตรวจ AMH นี้ ไม่ได้เหมาะกับคุณผู้หญิงที่วางแผนมีบุตรแล้วอายุมากกว่า 35 ปี ขึ้นไปเท่านั้น แต่เหมาะกับคุณผู้หญิงที่วางแผนมีบุตรทุกคน โดยไม่จำเป็นต้องมีอายุมากกว่า 35 ปีด้วยเช่นกัน เนื่องจากมีคุณผู้หญิงหลายท่านที่ประสบกับภาวะรังไข่เสื่อมก่อนกำหนด (Premature Ovarian Insufficiency: POI) ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุของการมีบุตรยาก โดยภาวะนี้จะไม่มีอาการแสดงออกมาไม่ชัดเจน อีกทั้งยังเกิดขึ้นได้กับคุณผู้หญิงที่มีระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง เป็นโรคทางพันธุกรรม รับการรักษาด้วยการใช้ยาคีโมบำบัดได้อีกด้วย ซึ่งการตรวจ AMH จะทำให้ทราบภาวะรังไข่เสื่อมก่อนกำหนด และใช้ในการวางแผนภาวะมีบุตรยากได้
หลายคนอาจคิดว่าการตรวจ AMH อาจมีขั้นตอนที่ยุ่งยาก แต่ความจริงนั้นเป็นการตรวจที่ง่ายๆ เพียงแค่เจาะเลือด ซึ่งคุณผู้หญิงไม่จำเป็นต้องงดน้ำหรืออาหารก่อนการเจาะเลือด ก็สามารถเจาะเลือดได้ทั้งในช่วงก่อน-หลัง และช่วงที่มีประจำเดือนด้วยเช่นกันค่ะ
AMH ควรมีค่าเท่าไหร่
ณ ปัจจุบัน ยังไม่มีข้อมูลที่บ่งบอกว่า ค่า AMH เท่าไหร่ ถึงจะบอกได้ว่าเป็นภาวะมีบุตรยาก โดยทั่วไปค่า AMH จะผันแปรตามอายุ โดยคนที่มีอายุน้อยมักจะมี AMH สูง และคนอายุมากมักจะมี AMH แต่ก็ไม่ได้เป็นแบบนั้นเสมอไป บางรายแม้อายุน้อยก็อาจจะมี AMH ต่ำ เพราะมีปริมาณฟองไข่ในรังไข่เหลืออยู่เพียงเล็กน้อยได้ เนื่องจากปัจจัยต่าง ๆ ที่กล่าวมา ดังนั้นแพทย์จึงมักใช้ค่า AMH ร่วมกับการตรวจอัลตราซาวด์ และผลเลือดดูค่าฮอร์โมนต่าง ๆ เพื่อวินิจฉัยภาวะมีบุตรยาก ประเมินการรักษาที่เหมาะสม ความรีบร้อนในการรักษา และการวางแผนมีบุตรในอนาคต