Angiography คืออะไร มันคือการตรวจวินิจฉัยหลอดเลือด โดยการเอกซเรย์ดูเส้นเลือดแดงหรือดำที่ได้ฉีดสารทึบรังสีแล้วว่ามีความผิดปกติในบริเวณใหนบ้าง เพื่อให้แพทย์ได้ทำการตรวจวิเคราะห์หลอดเลือดในส่วนต่างๆของร่างกาย โดยฉีดสารที่ทำให้เอกซเรย์เห็นเส้นเลือดแดงดำได้ชัดเจนขึ้นเพื่อวินิจฉัยโรค
การฉีดสีหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Angiography : CAG)
การฉีดสีหลอดเลือดหัวใจทำโดยการสอดสายตรวจขนาดเล็กผ่านเข้าทางหลอดเลือดแดงที่ข้อมือหรือขาหนีบ จนกระทั่งปลายสายไปถึงหลอดเลือดหัวใจ ไม่ต้องใช้ยาสลบ ขณะทำจะใช้ยาชาเฉพาะที่เท่านั้น แล้วฉีดสารทึบรังสีจำนวนเล็กน้อยเข้าในหลอดเลือดหัวใจ พร้อมกับใช้เอ็กซเรย์บันทึกภาพของหลอดเลือดหัวใจแต่ละเส้นไว้
อาการบ่งชี้..ที่ควรฉีดสีหลอดเลือดหัวใจ
- แน่นหน้าอกรุนแรง เหมือนมีของหนักกดทับ
- หายใจหอบเหนื่อย เหงื่อท่วม หมดแรง ใจสั่น หน้ามืด คล้ายจะเป็นลม
- อาจมีอาการปวดร้าว หรือชา ไปที่แขน ไหล่ กราม
- มีประวัติหรือความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจขาดเลือด เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง มีประวัติครอบครัวเป็นโรคหัวใจขาดเลือด ภาวะอ้วน สูบบุหรี่ ไม่ออกกำลังกาย
- เคยตรวจพบความผิดปกติจากการตรวจคัดกรองอื่นๆ เช่น กราฟไฟฟ้าหัวใจ คลื่นเสียงสะท้อน กราฟหัวใจขณะเดินสานพานผิดปกติ
การเตรียมตัวก่อนตรวจหลอดเลือดหัวใจ
- งดน้ำและอาหาร อย่างน้อย 4-6 ชั่วโมง
- หากต้องทานยาประจำ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนว่า ต้องรับประทานยาต่อเนื่องหรือหยุดยาก่อนการตรวจ
- หากมีประวัติแพ้ยา หรือแพ้อาหารทะเล ต้องแจ้งแพทย์ก่อน เพื่อพิจารณาให้ยาแก้แพ้
- ควรได้รับการตรวจผลเลือด เช่น ค่าการทำงานของไต การทำงานของเม็ดเลือดแดง และเกลือแร่ในกระแสเลือด
- ควรได้รับการตรวจเอ็กซเรย์ปอด และตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ
- ปัสสาวะให้เรียบร้อยก่อนเข้าห้องตรวจสวนหัวใจ
ขั้นตอนการตรวจสวนหลอดเลือดหัวใจ
มีด้วยกัน 2 วิธี คือใส่สายสวนเข้าไปบริเวณข้อมือ และเข้าทางขาหนีบ โดยแพทย์จะเป็นผู้พิจารณา ความเหมาะสมให้กับผู้ป่วยแต่ละราย
1. บริเวณข้อมือและขาหนีบจะถูกทำความสะอาดด้วยน้ำยาทำให้ปราศจากเชื้อ หลังจากนั้นจะถูกคลุมไว้ด้วยผ้าปราศจากเชื้อ
2. แพทย์ฉีดยาชาเฉพาะที่ บริเวณที่จะสอดสายสวน หากมีอาการผิดปกติ เช่น เจ็บแน่นหน้าอก คลื่นไส้อาเจียน ให้รีบแจ้งแพทย์
3. สายตรวจขนาดเล็กจะถูกสอดผ่านท่อนำบริเวณข้อมือ หรือขาหนีบ จนกระทั่งปลายสายตรวจเข้าไปในหลอดเลือดหัวใจที่ต้องการตรวจ
4. แพทย์ฉีดสารทึบรังสีเข้าไปในหลอดเลือดหัวใจ พร้อมทั้งบันทึกภาพ ด้วยเครื่องถ่ายภาพเอ็กซเรย์จากหลายๆ มุม (ขณะฉีดสารทึบรังสีผู้ป่วยอาจรู้สึกร้อนวูบวาบประมาณ 10-15 นาที)
ข้อปฏิบัติหลังการฉีดสีหลอดเลือดหัวใจ
กรณีสอดสายสวนหัวใจเข้าไปทางข้อมือ
1. บริเวณข้อมือจะถูกกดห้ามเลือดด้วยสายรัดข้อมือประมาณ 2-4 ชั่วโมง เมื่อเลือดหยุดพยาบาลจะนำสายรัดข้อมือออกให้ ผู้ป่วยห้ามถอดสายรัดข้อมือออกเองโดยที่แพทย์ไม่อนุญาต
2. หลังการฉีดสีหลอดเลือดหัวใจผู้ป่วยสามารถลุกนั่งหรือยืนได้ และสามารถรับประทานอาหารและน้ำได้
กรณีสอดสายสวนหัวใจเข้าไปทางขาหนีบ
1. บริเวณขาหนีบจะถูกกดแผลห้ามเลือดประมาณ 15-30 นาที เมื่อเลือดหยุดจะปิดแผลด้วยพลาสเตอร์เหนียว เพื่อให้แผลไม่มีเลือดออกเพิ่ม ช่วงแรกแผลที่ขาหนีบจะถูกกดและห้ามเลือดด้วยหมอนทราย (หนักประมาณ ½ – 1 กก.)
2. ห้ามงอขาหรือลุกนั่งหรือยืนโดยที่แพทย์ไม่อนุญาต
3. หลังการฉีดสีหลอดเลือดหัวใจผู้ป่วยสามารถรับประทานอาหารและน้ำได้