การเย็บปากมดลูก หรือ การเย็บผูกปากมดลูก(Cervical cerclage) เป็นหัตถการทางสูติกรรมที่ใช้รักษาสตรีตั้งครรภ์ที่รูปากมดลูกปิดไม่แน่น หรือ ปากมดลูกปิดไม่สนิท โดยการเย็บผูกปากมดลูกเพื่อทำให้รูปากมดลูกปิดแน่น เพื่อป้องกันรูปากมดลูก/ปากมดลูก เปิดขยายก่อนเวลาอันควร ที่เหตุการณ์นี้จะนำไปสู่การแท้งบุตร หรือการคลอดทารกในครรภ์ก่อนกำหนด(การคลอดก่อนกำหนด)
การเย็บผูกปากมดลูกนี้มักทำในช่วงไตรมาสที่ 2 ของการตั้งครรภ์ ในสตรีตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงในการเกิดภาวะแท้งซ้ำ หรือที่มีประวัติการแท้งในช่วงไตรมาสที่ 2 ระยะเวลาที่ทำคือช่วงอายุครรภ์ 12-20 สัปดาห์ จากนั้นรอจนอายุครรภ์ครบกำหนดจึงทำการตัดไหมที่เย็บปากมดลูกออกเพื่อให้คลอดได้ทางช่องคลอดตามปกต
ข้อบ่งชี้ในการเย็บปากมดลูกมีอะไรบ้าง?
สตรีตั้งครรภ์ต่อไปนี้ แพทย์เชื่อว่าน่าจะได้รับประโยชน์จากกการเย็บปากมดลูก
1. มีปากมดลูกปิดไม่สนิท ซึ่งอาจเป็นความผิดปกติของมดลูกแต่กำเนิด หรือเกิดจาก เคยทำผ่าตัดบริเวณปากมดลูกมาก่อน
2. มีประวัติคลอดก่อนกำหนด และแพทย์ตรวจพบมีคอมดลูกสั้น
3. มีประวัติแท้งบุตรในไตรมาสที่ 2
ข้อห้ามในการเย็บปากมดลูกมีอะไรบ้าง?
สตรีตั้งครรภ์เหล่านี้ มีข้อห้าม/ไม่เหมาะในการเย็บปากมดลูก เพราะจะมีผลเสียมากกว่าผลดี ได้แก่
1. มีถุงน้ำคร่ำแตกแล้ว
2. มีการติดเชื้อที่ช่องคลอด(ช่องคลอดอักเสบ) หรือติดเชื้อในโพรงมดลูก(เยื่อบุโพรงมดลูกอักเสบ)
3. มีการเจ็บครรภ์ถี่แล้ว
4. มีเลือดออกทางช่องคลอดมาก
5. รกลอกตัวก่อนกำหนด
การเย็บปากมดลูกมีได้หลายวิธี ดังต่อไปนี้
1. การเย็บปากมดลูกผ่านทางช่องคลอด: เป็นที่นิยมทำ เพราะทำได้ง่าย โดยมีการเย็บ 2 วิธี คือ
1.1 McDonald cerclage: ใช้เส้นไนลอนขนาดใหญ่ ทำการเย็บคล้ายหูรูดปากถุง ตำแหน่งที่เย็บเป็นบริเวณรูปากมดลูกด้านใน (Internal cervical os) วิธีนี้ทำได้ง่าย
1.2 Shirodkar cerclage: ใช้เป็นเส้นเทปสอดเข้าไปใต้ผิวนอกของปากมดลูกจนรอบ แล้วรูดมาผูกปากมดลูกให้แน่น ตำแหน่งที่เย็บเป็นบริเวณรูปากมดลูกด้านใน (Internal cervical os) เช่นกัน วิธีนี้ทำให้เส้นเทปถูกปกคลุมไม่โผล่มาในช่องคลอด ทำให้ไม่ค่อยระคายเคืองในช่องคลอด แต่การเย็บวิธีนี้จะยากกว่าวิธีแรก
2. การเย็บปากมดลูกผ่านทางหน้าท้อง: ทำในกรณีที่มีปากมดลูกสั้นมาก หรือปากมดลูกเปิดมากแล้ว หรือกรณีที่มีความผิดปกติแต่กำเนิดของปากมดลูก วิธีนี้ต้องเปิดเข้าไปในช่องท้องเพื่อเย็บบริเวณปากมดลูก จึงไม่เป็นที่นิยม จะพิจารณาทำวิธีนี้ต่อเมื่อทำ 2 วิธีแรก ที่กล่าวมาไม่สำเร็จ
ภาวะแทรกซ้อน (ผลข้างเคียง) หลังจากเย็บปากมดลูกพบได้แต่น้อย สิ่งที่พบอาจเป็นดังต่อไปนี้
1. ปากมดลูกฉีกขาด
2. เสียเลือดมากจากปากมดลูกฉีกขาด
3. ตกขาวมากขึ้น เนื่องจากมีเส้นไหมเป็นสิ่งแปลกปลอมที่ปากมดลูก
4. มีการอักเสบในช่องคลอด/ช่องคลอดอักเสบ ที่ลักษณะตกขาวจะเป็นสีเหลือง สีเขียว และมีกลิ่นผิดปกติ/เหม็น
5. มีเลือดออก อาจออกกะปริบกะปรอย หรือออกเป็นเลือดสดๆ ทางช่องคลอด
6. มีการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด(คลอดก่อนกำหนด)
7. มีถุงน้ำคร่ำแตกก่อนกำหนด/ถุงน้ำคร่ำแตกก่อนเจ็บครรภ์คลอด
8. มีการอักเสบในถุงน้ำคร่ำ(ถุงน้ำคร่ำอักเสบ)
9. มีไข้
เตรียมตัวก่อนเย็บปากมดลูกอย่างไร?
แพทย์จะนัดเย็บปากมดลูกในช่วงอายุครรภ์ประมาณ 14 -16 สัปดาห์ ต้องนัดสตรีตั้งครรภ์นอนพักในโรงพยาบาล สตรีตั้งครรภ์ต้องงดน้ำงดอาหารก่อนทำการผ่าตัด/หัตถการนี้ประมาณ 6 ชั่วโมง แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อ จากนั้นวิสัญญีแพทย์จะได้ทำการฉีดยาชาเข้าน้ำไขสันหลัง หรือดมยาสลบเพื่อระงับความเจ็บปวดก่อนทำการผ่าตัดทั้งนี้จะเลือกวิธีการใดขึ้นกับดุลพินิจของวิสัญญีแพทย์และความสมัครใจของผู้ป่วย/ครอบครัวผู้ป่วย
ดูแลตนเองอย่างไรหลังเย็บปากมดลูก?
หลังจากการเย็บปากมดลูก ผู้ป่วยจะได้นอนพักในโรงพยาบาลประมาณ 1-2 วัน หากไม่มีภาวะแทรกซ้อน จะสามารถกลับไปนอนพักที่บ้านได้ และควรหลีกเลี่ยงการทำงานหนัก
สำหรับการมีเพศสัมพันธ์ในสตรีตั้งครรภ์ที่เย็บปากมดลูก ไม่ได้เป็นข้อห้าม สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ แต่ในสตรีกลุ่มนี้มักมีความเสี่ยงในการคลอดก่อนกำหนดอยู่แล้ว การมีเพศสัมพันธ์อาจกระตุ้นให้กล้ามเนื้อมดลูกหดรัดตัวมากขึ้น อาจนำไปสู่การเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด จึงแนะนำให้หากเป็นไปได้ ควรงดหรือเว้นระยะห่างของการมีเพศสัมพันธ์ หรือจนผ่านพ้นระยะการคลอดก่อนกำหนดไปแล้ว
การเย็บปากมดลูกเป็นการเย็บถาวรหรือไม่?
โดยทั่วไป แพทย์จะทำการตัดไหมที่เย็บปากมดลูกไว้เมื่ออายุครรภ์ครบกำหนด คืออายุครรภ์ประมาณ 37 สัปดาห์ หรือเมื่อมีอาการเจ็บครรภ์คลอด หรือมีภาวะแทรกซ้อน เช่น ถุงน้ำคร่ำแตกก่อนกำหนด/ถุงน้ำคร่ำแตกก่อนเจ็บครรภ์คลอด หลังจากตัดไหมฯแพทย์จะให้ผู้ป่วยดำเนินการคลอดทางช่องคลอด หากในรายที่แพทย์วางแผนทำการผ่าตัดคลอดไว้ก่อนแล้วตามข้องบ่งชี้ และยังไม่ทำหมัน ต้องการมีบุตรคนอีก ก็ไม่จำเป็นต้องตัดไหมที่เย็บปากมดลูกออก เพื่อการตั้งครรภ์ครั้งต่อไปได้ไม่ต้องเย็บผูกปากมดลูกอีก (แต่ทั้งหมดก็ขึ้นกับการวินิจฉัยของแพทย์) สำหรับรายที่ต้องผ่าตัดคลอดและต้องการทำหมันด้วย แพทย์จะทำการตัดไหมที่ปากมดลูกเมื่อมีการผ่าตัดคลอดที่ร่วมกับการทำหมันด้วย
ทารกที่คลอดจากมารดาที่เย็บปากมดลูกมีปัญหาหรือไม่?
ปัญหาของทารกที่คลอดจากมารดาที่เย็บปากมดลูก ขึ้นกับอายุครรภ์ที่คลอด หากเป็นปัญหาคลอดก่อนกำหนด ทารกก็จะมีปัญหาเรื่องการหายใจหรือปอดทำงานไม่ปกติ หากอายุครรภ์ครบกำหนด มักไม่มีปัญหาเรื่องปอดทำงานไม่ปกติ แต่หากมีถุงน้ำคร่ำแตกนานก่อนคลอด ทารกก็มีความเสี่ยงในการติดเชื้อจากมารดามีการติดเชื้อในโพรงมดลูก/โพรงมดลูกอักเสบ/เยื่อบุโพรงมดลูกอักเสบ