เป็นการผ่าตัดมดลูกผ่านกล้องเช่นกัน โดยผ่านแผลผ่าตัดเล็กๆ ที่หน้าท้อง อาศัยเทคโนโลยีของการมองเห็นผ่านกล้องที่ให้ภาพแบบสามมิติและมีความคมชัดระดับ HD หรือ High-Definition ร่วมกับการที่แพทย์สามารถควบคุมเครื่องมือผ่าตัด ซึ่งทำงานได้คล้ายมือของมนุษย์ได้อย่างแม่นยำผ่านแขนกลของหุ่นยนต์ จึงสามารถทำการผ่าตัดที่ซับซ้อนและยากๆ เมื่อผ่าตัดผ่านกล้องแบบทั่วไปให้กลายเป็นเรื่องง่าย ทำให้ระยะเวลาผ่าตัดสั้นลงและเสียเลือดน้อยกว่าการผ่าตัดผ่านกล้องแบบทั่วไป อย่างไรก็ตามมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้นมากกว่าการผ่าตัดทางอื่นๆ จึงพิจารณาเลือกใช้ในรายที่การผ่าตัดซับซ้อน เช่น ผ่าตัดแขวนช่องคลอดหรือมดลูกในผู้ป่วยที่มีอวัยวะในอุ้งเชิงกรานหย่อน การผ่าตัดมะเร็งมดลูกหรือปากมดลูก เป็นต้น
มีข้อดีอะไรบ้าง ?
1. ช่วยให้การผ่าตัดที่ซับซ้อนและยากเมื่อทำผ่านกล้องส่องช่องท้องปกตินั้น ทำได้ง่ายขึ้นเมื่อใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด ทำให้ผู้ป่วยมีความปลอดภัยมากขึ้น และลดระยะเวลาที่ใช้ในการผ่าตัดลง
2. เครื่องมือที่ใช้ผ่าตัดสามารถงอและเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระดีกว่าข้อมือของมนุษย์ ทำให้การผ่าตัดเลาะเนื้อเยื่อมีความละเอียดแม่นยำมากขึ้น
3. เพิ่มประสิทธิภาพของการมองเห็นภาพที่มีคุณภาพสูงระดับ HD และแบบ 3 มิติ ทำให้การผ่าตัดที่มีความละเอียดสูง เช่น การเลาะต่อมน้ำเหลืองหรือการเลาะเส้นประสาททำได้แม่นยำ
4. ช่วยลดความเหนื่อยล้าของนรีแพทย์ผู้ผ่าตัดลง เนื่องจากนั่งควบคุมการแขนกลของหุ่นยนต์ผ่าตัดที่คอนโซลซึ่งมีความนิ่งและมีระบบช่วยไม่ให้มือสั่นมีผลต่อเครื่องมือผ่าตัด
5. ประโยชน์อื่นๆที่ได้รับจากการผ่าตัดที่รุกล้ำน้อย (Minimally invasive surgery) ได้แก่ แผลเล็ก เจ็บปวดแผลน้อย ระยะเวลานอนโรงพยาบาลและพักฟื้นสั้นกว่า
มีข้อด้อยอะไรบ้าง ?
1. มีค่าใช้จ่ายสูง เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีใหม่และใช้เครื่องมือที่ซับซ้อน
2. เนื่องจากการผ่าตัดนั้น แพทย์ต้องควบคุมเครื่องมือผ่าตัดจากส่วนคอนโซลควบคุมแขนกลของส่วนหุ่นยนต์ ทำให้ขาดการรับประสาทสัมผัสไป แม้ว่าจะชดเชยได้บางส่วนจากคุณภาพของภาพที่มีความคมชัดและ 3 มิติ แต่เป็นข้อจำกัดที่สำคัญ การได้รับการฝึกอบรมและประสบการณ์ของนรีแพทย์ผู้ผ่าตัดเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง
การผ่าตัดทางนรีเวชใดบ้างที่สามารถทำได้โดยใช้ระบบหุ่นยนต์ผ่าตัด ?
แม้ว่าการผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวชทุกชนิดสามารถทำได้โดยใช้หุ่นยนต์ผ่าตัด ได้แก่ การผ่าตัดมดลูก (Hysterectomy), การผ่าตัดเนื้องอกมดลูก (Myomectomy), การผ่าตัดเย็บแขวนช่องคลอดในสตรีที่มีอวัยวะในอุ้งเชิงกรานหย่อน (Sacrocolpopexy/hysteropexy), การผ่าตัดมดลูกแบบถอนรากถอนโคนในผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูก (Radical hysterectomy), การผ่าตัดมดกับลูกรังไข่และผ่าตัดเพื่อกำหนดระยะโรค (Surgical staging surgery)ในผู้ป่วยมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก,และการผ่าตัดต่อหมัน (Tubal reanastomosis) เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการผ่าตัดโดยใช้หุ่นยนต์มีค่าใช้จ่ายที่สูงและมีภาวะแทรกซ้อนเฉพาะ การเลือกผ่าตัดวิธีนี้จึงพิจารณาเป็นกรณีๆ ไป ขึ้นกับโรคและความซับซ้อนของการผ่าตัด ตลอดจนความพร้อมของผู้ป่วยและทีมแพทย์พยาบาล ซึ่งคุณควรอภิปรายกับแพทย์ผู้ผ่าตัดในรายละเอียด