การผ่าตัดมดลูกผ่านทางช่องคลอด (Vaginal hysterectomy)

การผ่าตัดมดลูกผ่านทางช่องคลอด  (Vaginal hysterectomy)  เป็นการผ่าตัดเอามดลูกออกจากร่างกายโดยไม่มีแผลภายนอกร่างกาย  (Scarless hysterectomy) นับเป็นนวัตกรรมทางการผ่าตัดมดลูกสำหรับประเทศไทย

การผ่าตัดมดลูกผ่านทางช่องคลอด เริ่มทำครั้งแรกในโลกโดยนายแพทย์ชาวเยอรมัน ชื่อ  Langenbeck เมื่อปี ค.ศ.1813  ช่วงเริ่มต้น เทคนิคการผ่าตัดนี้ ทำเฉพาะในกรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะมดลูก และกระบังลมหย่อน  ต่อมามีการพัฒนาเทคนิคของการผ่าตัด ทำให้สามารถผ่าตัดมดลูกผ่านทางช่องคลอดได้ ในกรณีที่ไม่มีภาวะมดลูก หรือกระบังลมหย่อน

นอกจากจะเป็นการผ่าตัดซึ่งปราศจากแผลภายนอกร่างกายแล้ว จากหลักฐานทางการแพทย์ (Medical evidence) จนถึงปัจจุบันนี้ พบว่าการผ่าตัดมดลูกผ่านทางช่องคลอด (Vaginal hystertomy) ให้ผลที่ดีกว่าการผ่าตัดมดลูกผ่านกล้อง และการผ่าตัดมดลูกผ่านผนังหน้าท้อง ทั้งในเรื่องความปลอดภัย และระยะเวลาในการนอนโรงพยาบาล

การผ่าตัดนี้ทำในโรงพยาบาลภายใต้การให้ยาสลบทั่วไป การให้ยาระงับความรู้สึกทางไขสันหลัง (ร่วมหรือไม่ร่วมกับการให้ยาระงับประสาท) แพทย์จะกรีดแผลโดยรอบบริเวณปากมดลูก จากนั้นจึงค่อยๆ เลาะดันให้กระเพาะปัสสาวะและไส้ตรงให้พ้นไปจากตัวมดลูก แล้วจึงหนีบ ตัด และผูกรัดหลอดเลือดที่มาเลี้ยงมดลูก และเนื้อเยื่อรอบๆ มดลูก เมื่อตรวจสอบว่าไม่มีเลือดออกแล้ว จึงทำการตัดมดลูกและนำออกมา จากนั้นจึงเย็บปิดช่องคลอดด้านบนสุด ซึ่งถูกเรียกว่า ส่วนยอดช่องคลอด (Vaginal vault) นรีแพทย์ส่วนใหญ่จะผ่าตัดเย็บแขวนผนังช่องคลอดส่วนยอดนี้ เพื่อพยุงไม่ให้หย่อนลงมาอีกในภายหลัง โดยอาจเลือกเย็บแขวนเข้ากับเอ็นยึดมดลูก (Uterosacral ligament suspension) หรือไม่ก็ยึดกับเอ็นยึดกระดูกด้านข้างมดลูก (Sacrospinous ligament suspension) หรือยึดกับกล้ามเนื้อพื้นอุ้งเชิงกรานด้านข้าง (Ileococcygeus) ก็ได้

สภาสูตินรีแพทย์แห่งสหรัฐอเมริกา (American congress of obstetrician and gynaecologist  ACOG) ได้ตีพิมพ์ความเห็นของคณะกรรมการ (Committee opinion) ลงในวารสาร Obstet & Gynecol ฉบับเดือน พฤศจิกายน ปี ค.ศ. 2009 แนะนำว่า เมื่อมีข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดมดลูกในกรณีที่ไม่ใช่มะเร็ง ควรเลือกการผ่าตัดมดลูกผ่านทางช่องคลอด (Vaginal hysterectomy) เป็นอันดับแรก (Procedure of choice) เนื่องจากเป็นวิธีที่ปลอดภัยที่สุด และยังประหยัดที่สุดอีกด้วย โดยพบว่าการผ่าตัดมดลูกผ่านทางช่องคลอด มีภาวะแทรกซ้อนของการผ่าตัดน้อยกว่า และระยะการพักฟื้นก็สั้นกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับการผ่าตัดมดลูกผ่านกล้อง และการผ่าตัดมดลูกผ่านทางผนังหน้าท้อง

Cochrane collaboration องค์กรที่ทำการศึกษาทางการแพทย์แบบ Meta analysis RCT ซึ่งถือเป็นข้อมูลที่น่าเชื่อถืออันดับหนึ่งทางการแพทย์ ได้ทำการศึกษาเปรียบเทียบผลของการผ่าตัดมดลูกแบบผ่านช่องคลอด (Vaginal hysterectomy) กับการผ่าตัดมดลูกผ่านกล้อง (Laparoscopic hysterectomy)  และการผ่าตัดมดลูกผ่านหน้าท้อง   (Abdominal hysterectomy) พบว่าการผ่าตัดมดลูกผ่านช่องคลอดให้ผลที่ดีกว่าในทุกตัวชี้วัด และแนะนำให้เลือกวิธีนี้เป็นอันดับแรกในกรณีที่ต้องผ่าตัดมดลูกในโรคที่ไม่ใช่มะเร็ง

ด้วยวิวัฒนาการในเรื่องเทคนิคของการผ่าตัดและความก้าวหน้าในเทคโนโลยีของเครื่องมือผ่าตัดทำให้ปัจจุบันการผ่าตัดมดลูกผ่านทางช่องคลอด สามารถทำได้ในเกือบทุกกรณี  โดยไม่จำเป็นต้องมี การหย่อนของมดลูก หรือกระบังลม  เช่น  เนื้องอกมดลูก, เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่เข้าไปในกล้ามเนื้อมดลูก, เยื่อบุโพรงมดลูกหนาขึ้นผิดปกติ, เซลปากมดลูกผิดปกติ, ภาวะเลือดออกผิดปกติจากโพรงมดลูก สำหรับผู้ป่วยที่ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ (Single), ผู้ป่วยที่ไม่เคยตั้งครรภ์ (Nulliparity) และผู้ป่วยที่มีประวัติผ่าตัดคลอด (Previous cesarean section) ไม่ใช่ข้อจำกัดของการผ่าตัดมดลูกผ่านทางช่องคลอด (หลายการศึกษา พบว่าส่วนใหญ่สามารถทำการผ่าตัดมดลูกผ่านทางช่องคลอดได้ ในผู้ป่วยทั้ง 3 กลุ่มนี้) ทั้งนี้ขึ้นกับทักษะ ประสบการณ์ และความชำนาญของนรีแพทย์ผู้ผ่าตัด

การผ่าตัดมีผลสำเร็จเป็นอย่างไร ?

      ร้อยละ 85 ของผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดมดลูกผ่านทางช่องคลอดเพื่อแก้ไขมดลูกหย่อนจะหายจากโรคนี้ถาวร อีกร้อยละ 15 ของผู้ป่วยจะเกิดภาวะยื่นย้อยของช่องคลอดส่วนยอดในเวลาหลายเดือนหรือหลายปีต่อมาภายหลังผ่าตัดครั้งแรก ขึ้นกับความรุนแรงของภาวะยื่นย้อยเดิมก่อนผ่าตัด ยิ่งความรุนแรงของการยื่นย้อยมาก ยิ่งมีความเสี่ยงของการเกิดซ้ำสูงตามไปด้วย

ข้อจำกัดของ การผ่าตัดมดลูกผ่านทางช่องคลอด ได้แก่

    – พยาธิสภาพของปีกมดลูกที่ยังไม่ได้รับการวินิจฉัย
    – มีพังผืดหนาในอุ้งเชิงกราน
    – ทักษะ และความชำนาญ ของนรีแพทย์ผู้ผ่าตัด

ในประเทศไทย พบว่ามีการผ่าตัดมดลูกผ่านทางช่องคลอด ในกรณีที่ไม่มีภาวะมดลูก และกระบังลมหย่อนน้อยมาก ทั้งนี้เนื่องจากยังไม่มีการฝึกอบรมทักษะการผ่าตัดชนิดนี้อย่างเป็นระบบ (Formal training)
นรีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญการผ่าตัดมดลูกผ่านทางช่องคลอดบางท่าน ในอเมริกา ยุโรป และอินเดีย รายงานว่า สามารถทำการผ่าตัดมดลูกผ่านทางช่องคลอดได้ถึง 90% ของการผ่าตัดมดลูกทั้งหมด (ในข้อบ่งชี้ที่ไม่ใช่มะเร็ง) ในประสบการณ์ของผู้เขียนเอง พบว่า90-95% ของการผ่าตัดมดลูกทั้งหมดสามารถทำผ่านทางช่องคลอดได้

[Total: 0 Average: 0]