การใส่อุปกรณ์ปิดรยางค์หัวใจห้องบนซ้าย (Left atrial appendage closure)
วิธีการรักษาโดยการใส่อุปกรณ์ปิดรยางค์หัวใจห้องบนซ้าย (Left Atrial Appendage Closure) นั้น เป็นตัวเลือกสำหรับคนไข้ที่มีความเสี่ยงของการก่อตัวของลิ่มเลือดสูง หรือมีอาการเลือดออกง่าย โดยที่ไม่มีปัญหาที่ลิ้นหัวใจ และไม่สามารถใช้ยาละลายลิ่มเลือดได้
โดยขั้นเริ่มจากการใส่ท่อขนาดเล็กผ่านทางเส้นเลือดดำบริเวณต้นขา เพื่อใส่อุปกรณ์คล้ายร่มขนาดเล็ก (Appendage) เพื่อทำการปิดผนึกบริเวณรยางค์หัวใจห้องบนซ้าย (Left Atrial) และปล่อยให้เนื้อเยื่อห่อหุ้มอุปกรณ์ไว้เมื่อเวลาผ่านไป โดยวิธีการรักษานี้ช่วยป้องกันการเกิดลิ่มเลือดและทดแทนการใช้ยาละลายลิ่มเลือดได้
ข้อดีของเทคนิค การใส่อุปกรณ์ปิดรยางค์หัวใจห้องบนซ้าย (Left atrial appendage closure: LAAC)
- ผู้ป่วยไม่ต้องผ่าตัด ทีมแพทย์เฉพาะทางจะทำหัตถการโดยใช้อุปกรณ์ปิดรยางค์เอเตรียมซ้าย (LAA Occluder)
- ผู้ป่วยไม่ต้องรับประทานยาละลายลิ่มเลือด จึงช่วยลดผลข้างเคียงเรื่องการเกิดเลือดออกผิดปกติในอวัยวะหลักของร่างกาย และลดผลข้างเคียงในผู้สูงอายุที่มีภาวะเลือดออกง่าย
- มีระยะเวลาการพักฟื้นสั้น เนื่องจากไม่ต้องผ่าตัดจึงเกิดการบาดเจ็บและเสียเลือดน้อยมาก ระหว่างการพักฟื้นจะได้รับคำแนะนำการดูแลตนเองจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และการดูแลจากพยาบาลอย่างใกล้ชิด
- มีความปลอดภัยสูง ด้วยมาตรฐานการจัดการเชื้อโรคทุกขั้นตอนของการรักษา ควบคุมหัตถการทุกขั้นตอนจากทีมแพทย์เฉพาะทางด้านหัวใจ
การใส่อุปกรณ์ปิดรยางค์หัวใจห้องบนซ้าย (Left atrial appendage closure: LAAC) เหมาะกับผู้ป่วยกลุ่มไหน?
กรณีที่ผู้ป่วยโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Atrial Fibrillation) ไม่สามารถรับประทานยาละลายลิ่มเลือดในระยะเวลานานได้หรือไม่สามารถใช้ยาละลายลิ่มเลือดได้ เช่น มีเลือดออกง่ายผิดปกติหรือมีเลือดออกในบริเวณอวัยวะหลักที่สำคัญๆ อาทิ เลือดออกในสมอง หรืออวัยวะในช่องท้อง เป็นต้น หรือใช้ในผู้ป่วยที่เคยรับประทานยาละลายลิ่มเลือดวอร์ฟารินแล้ว แต่ยาไม่ได้ผลในระดับที่ต้องการ
เมื่อผู้ป่วยโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะรักษาโดยใช้ การใส่อุปกรณ์ปิดรยางค์หัวใจห้องบนซ้าย (Left atrial appendage closure: LAAC) สามารถลดความเสี่ยงเรื่อง
- ภาวะเส้นเลือดสมองอุดตันเฉียบพลัน
- โรคหลอดเลือดสมอง (อัมพฤกษ์ อัมพาต)
ทาง ศูนย์โรคหัวใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ได้เริ่มนำอุปกรณ์ปิดรยางค์เอเตรียมซ้าย (left atrial appendage occluder devices) มาใช้เป็นแห่งแรกในประเทศไทย โดยได้ทำการใส่ให้กับผู้ป่วย 2 รายเป็นผลสำเร็จเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2555 โดยแพทย์จะทำการวางอุปกรณ์ในตำแหน่งที่ต้องการภายในห้องหัวใจบนซ้ายโดยทาง สายสวนผ่านทางเส้นเลือดดำที่ขาหนีบผ่านหัวใจห้องบนขวา เจาะผ่านผนังกั้นห้องหัวใจห้องบนซึ่งกั้นอยู่ผ่านไปยังหัวใจห้องบนซ้าย จากนั้นวางอุปกรณ์ในตำแหน่งที่เหมาะสมโดยใช้เอกซเรย์ (fluoroscopy) และการตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจผ่านทางหลอดอาหาร (transesophageal echocardiography) ดังรูปที่ 3 ผู้ป่วยจะได้รับคำแนะนำให้ทานยาต้านเกร็ดเลือด aspirin ซึ่งมีผลข้างเคียงเรื่องเลือดออกน้อยกว่ายาละลายลิ่มเลือด หากรยางค์เอเตรียมซ้ายนั้นถูกปิดสนิทด้วยอุปกรณ์ดังกล่าวข้างต้น ระยะเวลาในการอยู่โรงพยาบาลเฉลี่ยประมาณ 2 วัน