การตรวจสมรรถภาพของหัวใจขณะออกกำลังกาย

การตรวจสมรรถภาพของหัวใจขณะออกกำลังกาย (EST) อาจเรียกว่า Exercise electrocardiogram; ECG หรือ Treadmill test (ทดสอบบนสายพานวิ่ง) บางคนเรียก ETT (Exercise tolerance test) คือ การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะออกกำลังกาย (เดินสายพานหรือขี่จักรยาน) เพื่อประเมินสมรรถภาพของหัวใจ และคัดกรอง โรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันในเบื้องต้น และยังสามารถตรวจภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะจากการออกกำลังกายด้วย เป็นการตรวจที่ปราศจากอุปกรณ์ใด ๆ ที่จะมาสร้างความเจ็บปวดให้แก่ร่างกายของผู้ป่วย

แต่ผู้ป่วยจำเป็นต้องเหนื่อยบ้างจากการะบวนการตรวจ โดย การให้ออกกำลังกายด้วยการเดินหรือวิ่ง เพื่อสร้างแรงเค้นที่กล้ามเนื้อหัวใจ การตรวจ นี้เพื่อตรวจสอบว่าขณะร่างกายกำลังต้องออกแรงอย่างหนักอยู่นั้น กล้ามเนื้อหัวใจได้รับเลือดและออกซิเจนมาหล่อเลี้ยงเพียงพอหรือไม่ โดยใช้อุปกรณ์ในการตรวจ ได้แก่

  1. สายพานเดินไฟฟ้าที่ปรับความเร็วได้ และปรับให้มีความลาดชันเพื่อให้ผู้ป่วยเกิด อาการเหนื่อยเพิ่มขึ้น คล้าย ๆ กับการเดินขึ้นภูเขา
  2. อุปกรณ์วัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG)
  3. อุปกรณ์วัดอัตราการเต้นของหัวใจหรืออัตราชีพจร
  4. อุปกรณ์วัดความดันโลหิต ซึ่งปัจจุบันใช้เครื่องวัดอัตโนมัติ ช่วยวัดได้ตลอดเวลาโดยไม่ต้องให้ผู้ป่วยหยุดเดิน หรือหยุดวิ่ง

วัตถุประสงค์ การตรวจสมรรถภาพของหัวใจขณะออกกำลังกาย

1.ประเมินผู้ป่วยที่เคยมีอาการเจ็บหน้าอกมาก่อน แต่ไม่แน่ใจว่ามีสาเหตุจากหัวใจหรืออวัยวะอื่น ๆ แต่เมื่อตรวจด้วยวิธีนี้แล้วถ้าเกิดอาการเจ็บหน้าอกขึ้นการตรวจนี้จะช่วยบ่งชี้ได้แน่นอนว่าเกิดจากการตีบแคบของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ
2.ช่วยพิจารณาสำหรับการออกกำลังกาย ของผู้ป่วยโรคหัวใจว่าควรอนุญาตให้ออกกำลังกายสูงสุดได้เท่าไรจึงจะปลอดภัย
3.ตรวจสอบความเหมาะสมในการออกกำลังกายของผู้ที่มีความดันโลหิตสูง
4.เพื่อตรวจสอบผู้ป่วยที่มีอาการปวดร้าวลงตามขา พร้อมกับมีอาการชาเวลาเดินว่าเกิดจากหลอดเลือดอุดตันที่แขนขาหรือไม่
5.เพื่อประเมินว่ายาแก้อาการปวดเค้นหัวใจ หรือยาแก้อาการหัวใจเต้นผิดจังหวะได้ผลดีมากน้อยเพียงใดเพื่อประเมินการทำงานของหัวใจ ภายหลังการรักษาด้วยการใส่ขดลวด (stent) ถ่างขยายหลอดเลือดกล้ามเนื้อหัวใจ หรือการผ่าตัดทำหลอดเลือดต่อคร่อม (bypass)
6.เพื่อตรวจสอบว่าหัวใจของผู้ป่วยในขณะที่รับการตรวจสอบด้วย ESTจะปรากฏอาการของโรคหัวใจหรือไม่

การเตรียมผู้ป่วย การตรวจสมรรถภาพของหัวใจขณะออกกำลังกาย

1.แพทย์ผู้ตรวจจะอธิบายวิธีการตรวจโดยสรุปให้ผู้ป่วยฟังก่อนตรวจ
2.ให้ผู้ป่วยงดอาหาร เครื่องดื่มที่มีกาเฟอีน (เช่น ชา กาแฟ) และงดสูบบุหรี่ 2 ชั่วโมงก่อนตรวจ
3.ควรให้ผู้ป่วยสวมเสื้อผ้าที่ใส่สบาย และเหมาะกับการออกกำลังกาย รวมทั้งสวมใส่รองเท้าที่สามารถเดินหรือวิ่งได้คล่องตัวโดยไม่หลุด
4.ควรงดยากลุ่มที่ทำให้หัวใจเต้นชา เช่น ยากลุ่ม beta – blockers ก่อนตรวจ
5.ควรงดยากลุ่มที่รักษากล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดก่อนตรวจ ยกเว้นกรณีทำการตรวจเพื่อดูผลการรักษาและการพยากรณ์โรค
6.ให้ผู้ป่วยเซ็นยินยอมให้แพทย์ตรวจทุกครั้ง

การตรวจและการดูแลภายหลังตรวจ สมรรถภาพของหัวใจขณะออกกำลังกาย

1.แพทย์จะประเมินหาข้อห้ามในการตรวจก่อน
2.เจ้าหน้าที่จะติดเครื่องวัดความดันโลหิตและชีพจรแบบอัตโนมัติ และสายติดคลื่นไฟฟ้าหัวใจบริเวณหน้าอก และจัดหาเครื่องกระตุ้นหัวใจด้วยไฟฟ้าไว้สำหรับกรณี ฉุกเฉิน
3.แพทย์จะบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจก่อนการตรวจทั้งท่านอน และท่ายืน และขณะกำลังออกกำลังตามเกณฑ์มาตรฐานที่ตั้งไว้ โดยปกติถ้าใช้ BRUCE protocol จะใช้เวลาในการเดินสายพานประมาณ 7 – 8 นาที
4.ในขณะตรวจจะมีการวัดความดันโลหิตและชีพจรเป็นระยะ ๆ และแพทย์จะติดตามดูการเปลี่ยนแปลงของคลื่นไฟฟ้าหัวใจจากห้าจอเครื่องตรวจ

ข้อควรระวัง การตรวจสมรรถภาพของหัวใจขณะออกกำลังกาย

1.ห้ามตรวจผู้ป่วยที่มีผนังหัวในโป่งพอง (ventricular aneurysm) ภาวะการเซาะแยกชั้นของผนังหลอดเลือดแดงใหญ่เอออร์ตาโป่งพอง (dissecting aortic aneurysm) หัวใจเต้นผิดจังหวะที่ไม่สามารถควบคุมได้ (uncontrolled arrhythmias) เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ (pericarditis) กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (myocarditis) ซีดรุนแรง (severe anemia) มีความดันโลหิตสูงที่ควบคุมไม่ได้ (uncontrolled hypertension) เจ็บหน้าอก (unstable angina) หรือหัวใจวาย (heart failure)
2.หยุดตรวจทันทีเมื่อ ECG มี PVC 3 ตัว หรือเกิดขึ้นในตำแหน่งที่ผิดปกติ ความดันเลือดตัวบนตกลงในระยะพัก อัตราการเต้นของหัวใจตกลง 10 ครั้ง / นาที หรือ ผู้ป่วยเหนื่อย ซึ่งขึ้นกับสภาวะของผู้ป่วย จะต้องหยุดตรวจ ECG เมื่อพบสิ่งต่อไปนี้ ผู้ป่วยมีภาวะที่มีการปิดกั้นหรือช้าลงของการนำไฟฟ้าในหัวใจ (bundle branch block) ST – segment depression มากว่า 1.5 มิลลิเมตร ST – segment elevation ตลอด เวลา หรือพบ PVC บ่อยหรือซับซ้อน มีความดันเลือดตกหรือสูงขึ้นในขณะพัก มีความ ดันเลือดตัวบน (systolic pressure) มากกว่า 220 มม.ปรอท หรือผู้ป่วยมีอาการเจ็บหน้าอก

ผลการตรวจที่เป็นปกติ การตรวจสมรรถภาพของหัวใจขณะออกกำลังกาย

EST: P wave และ T wave, QRS complex และ ST segment
เปลี่ยนไปเล็กน้อย โดย ST segment ต่ำลงเล็กน้อย มักพบในผู้ป่วยบางราย โดยเฉพาะในผู้หญิง อัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้นเมื่อต้องออกแรงและเมื่อร่างกายต้องการออกซิเจน เช่น ความดันเลือดสูงขึ้นในขณะที่ต้องออกแรงเพิ่มขึ้น

ไม่มีการเปลี่ยนแปลงของกราฟหัวใจ ที่แสดงว่ากล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดแสดงว่าไม่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ หรืออาจเป็นแต่ยังเป็นน้อยอยู่ คือตีบไม่มากพอที่จะทำให้เกิดความผิดปกติให้ตรวจพบได้ หรืออาจมีหลอดเลือดฝอยจากเส้นอื่นมาช่วย เพียงพอ การตรวจนี้จะพบตรวจพบความผิดปกติจากการเดินสายพานเมื่อมีหลอดเลือดตีบอย่างน้อยร้อยละ 70

หากผู้ป่วยสามารถเดินจนหัวใจเต้นเร็วถึงระดับที่ต้องการโดยที่ไม่มีอาการเจ็บแน่นหน้าอกและรูปร่างของคลื่นไฟฟ้าหัวใจปกติแสดงว่าการตรวจเป็นปกติ

ผลการตรวจที่ผิดปกติ การตรวจสมรรถภาพของหัวใจขณะออกกำลังกาย

มีการเปลี่ยนแปลงของกราฟหัวใจที่แสดงว่า กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดให้เห็นขณะที่ผู้ป่วยเดินสายพาน แสดงว่าผู้ป่วยมีโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ หากพบว่ารูปร่างของคลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ และ / หรือผู้ป่วยมีอาการเจ็บแน่นหน้าอกร่วมด้วย ในกรณีนี้แพทย์จะแนะนำให้ตรวจหารอยตีบของหลอดเลือดหัวใจ ด้วยการฉีดสารทึบรังสีเข้าไปในหลอดเลือดหัวใจ เพื่อยืนยันการวินิจฉัยและให้การรักษาที่เหมาะสมต่อไป

ไม่สามารถแปลผลได้แน่ชัด : อาจเกิดจากผู้ป่วยไม่สามารถเดินได้ถึงระดับอัตราการเต้นของหัวใจที่ต้องการ หรือรูปร่างของคลื่นไฟฟ้าหัวใจมีความผิดปกติเล็กน้อยในกรณีนี้แพทย์จะแนะนำให้ตรวจด้วยวิธีอื่นเพิ่มเติม

[Total: 1 Average: 5]