การลดอุณหภูมิของร่างกาย (Therapeutic Hypothermia)

Therapeutic Hypothermia คือวิธีการรักษาที่แพทย์ใช้ในการรักษาเซลล์สมองจากการขาดออกซิเจน หรือการขาดเลือดในผู้ป่วยที่มีภาวะสมองขาดออกซิเจนหรือขาดเลือดจากการเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้น หรือ Cardiac Arrest เนื่องจากไม่มีกรรมวิธีใดที่จะช่วยให้เลือดไปเลี้ยงสมองได้ดีเท่ากับหัวใจของมนุษย์ เพราะฉะนั้นเมื่อหัวใจหยุดเต้น ไม่ว่าจะมีการปั๊มหัวใจ หรือมีอุปกรณ์ดีแค่ไหน ก็จะต้องมีสมองบางส่วนขาดเลือดและออกซิเจนอย่างแน่นอน ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่แม้ว่าจะปั๊มให้หัวใจกลับมาเต้นได้แล้ว แต่ก็ไม่สามารถนำการทำงานของสมองกลับมาได้ ทำให้เกิดภาวะเจ้าหญิงนิทรา หรือเจ้าชายนิทรา แต่ปัจจุบันมีเทคนิคในการช่วยเหลือผู้ที่ภาวะหัวใจหยุดเต้น ซึ่งนอกจากจะทำให้หัวใจกลับมาเต้นอีกครั้งแล้ว ยังช่วยคงสภาพของสมองให้กลับมาทำงานได้ ด้วยเทคนิคการลดอุณหภูมิร่างกาย Therapeutic Hypothermia ถือเป็นนวัตกรรมทางการแพทย์ที่สามารถรักษาเซลล์สมองตายเนื่องจากภาวะหัวใจหยุดเต้น

ขั้นตอนการรักษาด้วย Therapeutic Hypothermia

แพทย์จะเริ่มขั้นตอนโดยการลดอุณหภูมิของร่างกายให้ต่ำกว่าปกติอยู่ที่อุณหภูมิแกนกลางประมาณ 33 องศาเซลเซียส และควบคุมให้คงที่ตลอดเวลาประมาณ 24 ชั่วโมง โดยก่อนการเข้ารับการรักษาด้วยวิธีนี้ แพทย์จะต้องประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดผลแทรกซ้อนจากการรักษา เช่น โอกาสการติดเชื้อรุนแรงในกระแสเลือด เป็นต้น รวมทั้งเตรียมป้องกันอาการร่วมบางอย่าง เช่น อาการหนาวสั่น เป็นต้น เพื่อให้ได้ผลตอบสนองที่ดีต่อการรักษาด้วยการลดอุณหภูมิ และหลังจากควบคุมอุณหภูมิได้ตามระยะเวลาที่กำหนดจะดำเนินการปรับสภาพร่างกายของผู้ป่วยให้กลับมาอยู่ในสภาวะปกติ โดยตลอดขั้นตอนการรักษาจะใช้เวลาประมาณ 3 วัน

การควบคุมอุณหภูมิใน Therapeutic Hypothermia มี 3 เฟสใหญ่ ๆ คือ Induction, Sustainment และ Rewarming โดยมีคำจำกัดความคือ Fast Induction, Smooth Sustainment and Slow Rewarming แม้ว่าในอดีตจะควบคุมอุณหภูมิได้ยาก แต่ปัจจุบันสามารถทำได้ง่ายขึ้นด้วยเทคนิคที่มีการพัฒนามากขึ้น ได้แก่ Surface cooling แผ่นแปะไฮโดรเจล ซึ่งมีข้อดีคือแนบสนิทกับผิวหนังทำให้การคุมอุณหภูมิทำได้ดีมาก โดยจะแปะตามจุดที่ระบายความร้อนของร่างกาย ได้แก่ รักแร้ ขาหนีบ คอ ขาพับ เป็นต้น และ Intravascular Hypothermic Machine แพทย์สามารถควบคุมอุณหภูมิได้เพียงแค่เซตไปที่ตัวเครื่อง ตัววัดอุณหภูมิจะใช้สายสอดไปที่หลอดอาหารเพื่อวัดอุณหภูมิแกนกลาง ไม่ใช่อุณหภูมิผิวนอก ทำให้วัดอุณหภูมิได้แม่นยำมากขึ้น

สำหรับการรักษาด้วย Therapeutic Hypothermia นอกเหนือจากรักษาในกรณีของผู้ที่มีภาวะหัวใจหยุดเต้นแล้ว ยังสามารถใช้รักษากับผู้ที่ปัญหาของโรคหลอดเลือดสมองอุดตัน สมองบวมได้อีกด้วย เนื่องจากใช้หลักการเดียวกันกับสมองขาดเลือด เพียงแต่วิธีการจะยุ่งยากกว่า ส่วนใหญ่การรักษาได้ผลดี แต่ยังมีบางส่วนที่ยังไม่สามารถคาดเดาและควบคุมได้ 

[Total: 1 Average: 5]