Ventriculostomy คือการผ่าตัดใส่ท่อซิลิโคนหรือพลาสติกใสขนาดเล็กผ่านเนื้อสมองเข้าสู่ ventricle ตำแหน่งที่นิยม คือ anterior (frontal) horn ของ lateral ventricle
ประโยชน์ของการผ่าตัด ventriculostomy ได้แก่ ใช้วัดความดันในกะโหลกศีรษะ (intracranial pressure; ICP) และการระบาย CSF จึงจัดอยู่ในกลุ่มการรักษาที่เรียกว่า external ventricular drainage (EVD) เช่นเดียวกับการใส่สายระบายเอว (lumbar drainage)
จุดเด่นของการสายระบายโพรงสมองนี้ ได้แก่ วัด ICP ได้อย่างมีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับเครื่องมือทันสมัยรูปแบบอื่น สามารถปรับเครื่องเข้าสู่ภาวะมาตรฐานใหม่ได้ (recalibration) และราคาถูกกว่าเครื่องมืออื่นมาก
ข้อห้ามการผ่าตัด ventriculostomy
- มีความผิดปกติในการแข็งตัวของเลือด
- ติดเชื้อบริเวณช่องทางการผ่าตัด (trajectory site) เช่น หนังศีรษะ กะโหลกศีรษะ และสมอง เป็นต้น
ข้อบ่งชี้การผ่าตัด ventriculostomy
1. โพรงสมองคั่งน้ำเฉียบพลัน (acute hydrocephalus) ซึ่งมักเป็นภาวะแทรกซ้อนจากโรคสมอง เช่น
- เนื้องอกสมอง ที่กดเบียดหรืออุดตันระบบหมุนเวียน CSF
- โรคหลอดเลือดสมอง เช่น aneurysmal subarachnoid hemorrhage,
intraventricular hemorrhage, cerebellar hemorrhage เป็นต้น
2. ผู้บาดเจ็บสมองที่มีภาวะความดันในกะโหลกศีรษะสูง (increased intracranial pressure; IICP) หรือผู้บาดเจ็บสมองที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะ IICP มีข้อบ่งชี้ 2 กรณี คือ
- ระดับ Glasgow coma scale 3-8 ร่วมกับ CT brain ผิดปกติ
- ระดับ Glasgow coma scale 3-8 ร่วมกับ CT brain ปกติ
และมีปัจจัยอย่างน้อย 2 ใน 3 ข้อ ต่อไปนี้
i. อายุ > 40 ปี
ii. SBP < 90 mmHg
iii. Motor posturing
3. การติดเชื้อของสายระบายโพรงสมองแบบถาวร เช่น ventriculoperitoneal shunt เป็นต้น โดยเป็นการใส่ EVD ชั่วคราวระหว่างรอรักษาภาวะติดเชื้อ