เป็นการตรวจทางรังสีโดยการฉีดสารทึบรังสีเข้าไปทางสายสวนปัสสาวะจากท่อปัสสาวะ เพื่อดูความผิดปกติของท่อปัสสาวะ กระเพาะปัสสาวะ ท่อไตและกรวยไต โดยเฉพาะการวินิจฉัยภาวะผิดปกติของปัสสาวะไหลย้อนกลับจากกระเพาะปัสสาวะไปยังท่อไต
📌 ต้องเตรียมตัวลูกของท่านสำหรับ VCUG อย่างไร
ลูกของท่านควรแต่งกายด้วยเสื้อผ้าสบายๆ ถอดง่าย ไม่จำเป็นต้องเตรียมตัวก่อนการตรวจ หากผู้ป่วยมีประวัติแพ้สารทึบรังสีให้แจ้งแพทย์และเจ้าหน้าที่เนื่องจากจำเป็นต้องรับประทานยาแก้แพ้มาก่อน
📌 ระหว่างการตรวจ VCUG เป็นอย่างไร
การตรวจใช้เวลาประมาณ 15-30 นาที การตรวจนี้ลูกของท่านจะได้รับการใส่สายสวนปัสสาวะ สายสวนปัสสาวะจะต่อกับกระบอกหรือขวดใส่สารทึบรังสี ผู้ป่วยจะนอนบนเตียงที่มีเครื่องตรวจอยู่เหนือตัวผู้ป่วย ในระหว่างที่สารทึบรังสีเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะจะต้องให้ลูกของท่านร่วมมือในการกลั้นปัสสาวะ (หากเป็นเด็กวัยที่โตพอจะควบคุมการถ่ายปัสสาวะได้) และจะมีการเคลื่อนเครื่องตรวจหรือเลื่อนเตียงเพื่อถ่ายภาพ หลังจากที่สารทึบรังสีเข้าไปจนเต็มกระเพาะปัสสาวะแล้ว แพทย์จะบอกให้ลูกของท่านปัสสาวะบนเตียงตรวจเพื่อถ่ายภาพ (หากเป็นเด็กวัยที่โตพอที่จะสื่อสารและควบคุมการถ่ายปัสสาวะได้) หลังจากการตรวจเสร็จสิ้นเจ้าหน้าที่จะถอดสายสวนปัสสาวะออกให้ การตรวจนี้อาจทำให้ลูกของท่านรู้สึกไม่สบายตัว หรือหากเป็นวัยเด็กโตที่ปัสสาวะในห้องน้ำ เด็กอาจจะเกิดความรู้สึกอับอายได้ แต่ในระหว่างการตรวจท่านสามารถอยู่ข้างๆลูกของท่านได้ (ต้องเป็นผู้ปกครองที่ไม่ตั้งครรภ์)
📌ปริมาณรังสีที่ใช้ในการตรวจนี้มากแค่ไหน
โดยทั่วไปคนเราทุกคนจะได้รับรังสีจากสิ่งแวดล้อมในปริมาณเล็กน้อยทุกวัน ปริมาณรังสีที่ใช้ในการตรวจหากเทียบกับรังสีจากสิ่งแวดล้อมจะเทียบเท่ากับการได้รับรังสีจากสิ่งแวดล้อมประมาณ 9 วัน – 6 เดือน โดยขึ้นกับขนาดและรูปร่างของลูกของท่าน
📌หลังการตรวจ VCUG เป็นอย่างไร
ลูกของท่านอาจมีอาการปวดเวลาปัสสาวะ ปัสสาวะมีสีเลือดปนได้ อาการเหล่านี้จะหายได้เอง การดื่มน้ำมากๆก็มีส่วนช่วยให้หายเร็วขึ้น
ที่เคยทราบกันมาแต่เดิมและมีในตำราทุกฉบับก็คือ vesicoureteral reflux เป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งของการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ ทำให้ไตมีปัญหาในระยะยาว ต้องส่งตรวจ voiding cystourethrography และถ้าพบว่ามี vesicoureteral reflux ก็ต้องมีการรักษา โดยถ้า reflux เป็นระดับไม่รุนแรงก็ให้กินยาปฏิชีวนะแบบป้องกันการติดเชื้อ ถ้าเป็นระดับรุนแรงต้องผ่าตัด
ข้อมูลจากรายงานวิจัยในระยะหลังกลับพบว่า vesicoureteral reflux ที่ระดับ 1 ถึงระดับ 4 นั้น การให้ยาปฏิชีวนะระยะยาวเพื่อป้องกันการติดเชื้อ ไม่ได้ให้ผลดีกว่าการไม่ได้รับยาปฏิชีวนะ จึงมีหลายสถาบันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ที่ลดการตรวจ voiding cystourethrography ลงในเด็กที่มีการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะส่วนบนที่มีผลการตรวจ ultrasound KUB ปกติ
ในปลายปี พ.ศ.2554 มีการตีพิมพ์ clinical practice guideline (CPG) ของกุมารแพทย์ ว่าด้วยการวินิจฉัยและรักษาการติดเชื้อครั้งแรกของทางเดินปัสสาวะส่วนบนในทารกและเด็กเล็กที่มีไข้เกิน 38 องศาเซลเซียส (อายุช่วง 2 เดือนถึง 24 เดือน) CPG นี้ประกาศโดย American Academy of Pediatrics เนื่องจากแพทย์ไทยส่วนใหญ่ศึกษาและใช้ guideline ตามของประเทศสหรัฐอเมริกา ทำให้กุมารแพทย์ในประเทศไทยเปลี่ยนแนวทางการส่งตรวจทางรังสีวิทยาตาม CPG ของ American Academy of Pediatrics