การตรวจลำไส้ใหญ่โดยสวนสารละลายทึบรังสีแบเรียมซัลเฟต (Barium enema)
การตรวจลำไส้ใหญ่โดยสวนสารละลายทึบรังสีแบเรียมซัลเฟต (Barium enema) อาจเรียกว่า Lower GI examination ซึ่งเป็นการตรวจระบบทางเดินอาหารส่วนล่าง โดยส่วนแป้งแบเรียมซัลเฟตเข้าในลำไส้ใหญ่ แล้วถ่ายภาพเอกซเรย์เพื่อดูผนัง ลำไส้ว่ามีแผล มีการอักเสบ หรือมีการอุดตันหรือไม่
วัตถุประสงค์
1.เพื่อวินิจฉัยมะเร็งลำไส้ใหญ่ และโรคที่เกิดจาการอักเสบของลำไส้ใหญ่และทวารหนัก
2.เพื่อดูว่ามีติ่งเนื้อ (Polyps)โรคถุงผนังลำไส้ใหญ่อักเสบ (Diverticulitis) และมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของลำไส้ใหญ่หรือไม่
การเตรียมผู้ป่วย
1.บอกผู้ป่วยถึงวัตถุประสงค์ในการตรวจ วิธีการตรวจ และความรู้สึกที่จะพบในขณะตรวจ เช่น จะรู้สึกแน่นท้อง ปวดถ่วง ๆ บริเวณทวารหนักเหมือนอยากถ่ายอุจจาระ ถ้ามีอาการเหล่านี้ให้ผู้ป่วยพยายามผ่อนคลาย โดยอ้าปาก หายใจลึก ๆ การตรวจจะใช้เวลาประมาณ 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมง
2.ตอนเย็นก่อนตรวจให้รับประทานอาหารอ่อน หากเป็นไปได้ควรรับประทานอาหารอ่อน 2 วันก่อนตรวจ
3.คืนวันก่อนตรวจให้ดื่มน้ำมันละหุ่ง
4.หากตรวจตอนเช้าให้งดอาหารหลังเที่ยงคืน หากตรวจตอนบ่าย ให้รับประทานอาหารที่เป็นน้ำใส ไม่มีนมเจือปนอย่างน้อย 6 ชั่วโมงก่อนตรวจ
5.สวนอุจจาระก่อนตรวจจนสะอาด
การตรวจและการดูและหลังตรวจ
1.ให้นอนตะแคงเกือบคว่ำบนเตียงที่ปรับความเอียงลาดได้
2.ผสมแป้งแบเรียมซัลเฟต 500 กรัมต่อน้ำ 100 มิลลิลิตร สวนเข้าในลำไส้ใหญ่ช้า ๆ จนเต็ม โดยดูจากล้องฟลูออโรสโคป ขณะที่สวนจะมีการปรับเตียงให้ลาดเอียงหลาย ๆ เท่า
3.เมื่อติดตามดูด้วยเครื่องฟลูออโรสโคปเสร็จจึงถ่ายภาพเอกซเรย์
4.พยุงและพาผู้ป่วยไปขับถ่ายแป้งแบเรียมออกบางครั้งจะใส่ลมเข้าไปในลำไส้ใหญ่และถ่ายภาพเอกซเรย์อีกครั้งหนึ่ง
5.หลังจากตรวจให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารและดื่มน้ำมาก ๆ
6.ให้ผู้ป่วยพักผ่อนมาก ๆ ไม่ควรให้มีใครไปรบกวน
7.บอกผู้ป่วยว่าจะมีการถ่ายอุจจาระเป็นสีจาง ๆ หรือขาว ๆ ประมาณ 2 วันถึง 3 วันหลังตรวจ
8.สังเกตการณ์ถ่ายอุจจาระ หากไม่ถ่ายใน 2 – 3 วัน รายงานให้แพทย์ทราบเพื่อพิจารณาให้ยาระบาย
ข้อควรระวัง
1.ห้ามตรวจในผู้ที่มีภาวะหัวใจเต้นเร็ว (tachycardia) หรือมีแผลที่ลำไส้ใหญ่เพราะจะทำให้ลำไส้ใหญ่ทะลุ
2.ห้ามตรวจในหญิงตั้งครรภ์
ผลการตรวจที่เป็นปกติ
ผนังลำไส้บีบรัดแป้งแบเรียม และเยื่อบุลำไส้ใหญ่มีความสม่ำเสมอ
ผลการตรวจที่ผิดปกติ
ตรวจพบความผิดปกติ เช่น มะเร็ง (Carcinoma) โรคถุงผนังลำไส้ใหญ่อักเสบ (Diverticulitis) ลำไส้ใหญ่อักเสบ (Ulcerative colitis) เป็นต้น