ปวดประจำเดือน

ปวดประจำเดือน หมายถึง อาการปวดท้องขณะ มีประจำเดือน พบประมาณร้อยละ 70 ของผู้หญิงวัยที่มี ประจำเดือน ส่วนใหญ่จะปวดไม่มากและสามารถทำงานได้ตามปกติ มีส่วนน้อยที่อาจปวดรุนแรงจนต้องพักงาน

อาการปวดประจำเดือนแบ่งได้เป็น ชนิดปฐมภูมิ (หรือไม่ทราบสาเหตุ) ซึ่งพบเป็นส่วนมาก กับชนิดทุติยภูมิ (หรือมีสาเหตุ) ซึ่งพบเป็นส่วนน้อย

                   ปวดประจำเดือนชนิดปฐมภูมิ (primary dysmenorrhea) จะพบในเด็กสาว ส่วนมากจะเริ่มมีอาการ ตั้งแต่มีประจำเดือนครั้งแรก หรือไม่ก็เกิดขึ้นภายใน 3  ปีหลังมีประจำเดือนครั้งแรก จะมีอาการมากที่สุดในช่วง อายุ 15-25 ปี หลังจากวัยนี้อาจจะค่อย ๆ ลดลง บางรายอาจหายปวดหลังแต่งงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังมี บุตรแล้ว จะมีส่วนน้อยที่ยังอาจ มีอาการตลอดไปจนถึงวัยหมดประจำเดือน

ปวดประจำเดือนชนิดทุติยภูมิ secondary dysmenorrhea) จะมีอาการปวดครั้งแรกเมื่อมีอายุมากกว่า 25 ปีขึ้นไป โดยก่อนหน้านี้จะไม่เคยมีอาการปวดประจำเดือนเลย

สาเหตุ ปวดประจำเดือน

                ปวดประจำเดือนชนิดปฐมภูมิ จะไม่มีความผิดปกติของมดลูกและรังไข่แต่อย่างใด ปัจจุบันนี้เชื่อว่า มีสาเหตุมาจากเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนระหว่างมีประจำ เดือน และมีการหลั่งสารพรอสตาแกลนดิน (prostaglandins) มากผิดปกติ ทำให้มดลูกมีการบีบเกร็งตัวเกิดอาการปวดที่บริเวณท้องน้อย

ปวดประจำเดือนชนิดทุติยภูมิ มักมีความผิดปกติของมดลูกหรือรังไข่ เข่น เยื่อบุมดลูกต่างที่ เนื้องอกมดลูก มดลูกย้อยไปด้านหลังมาก ปีกมดลูกอักเสบเรื้อรัง เป็นต้น

                เชื่อว่าอารมณ์มีส่วนเสริมความรุนแรงของอาการปวดประจำเดือนทั้ง 2ชนิด เช่น พบว่าผู้ที่อารมณ์อ่อนไหวว่ายหรือมีความเครียดจะมีอาการปวดรุนแรงกว่าผู้ที่มีอารมณ์ดี

อาการ ปวดประจำเดือน

                จะเริ่มมีอาการก่อนมีประจำเดือนไม่กี่ชั่วโมง และเป็นอยู่ตลอดช่วง 2-3 วันแรกของประจำเดือน โดยมี อาการปวดบิดเป็นพัก ๆ ที่บริเวณท้องน้อย บางรายอาจมีอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน ใจคอหงุดหงิดร่วมด้วย

ถ้าปวดรุนแรงอาจมีอาการเหงื่อออก ตัวเย็น มือเท้าเย็นได้

การป้องกัน ปวดประจำเดือน

  1. ควรให้ความมั่นใจแก่เด็กสาวที่เริ่มมีอาการปวดประจำเดือนว่า โรคนี้ไม่มีอันตรายร้ายแรงแต่อย่างใด และส่วนใหญ่ เมื่ออายุมากขึ้นอาจทุเลาหรือหายได้ตลอดจนให้ความรู้ ที่ถูกต้องเกี่ยวกับประจำเดือน
  2. ในรายที่มีอาการปวดประจำเดือนรุนแรงเป็น ประจำ มักมีสาเหตุจากเยื่อบุมดลูกต่างที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในผู้หญิงที่มี บุตรยาก
  3. ผู้หญิงที่เคยมีอาการปวดประจำเดือนเป็นประจำ ถ้าหากมีอาการปวดท้องรุนแรงผิดไปจากที่เคยเป็น โดยเฉพาะ อย่างยิ่งถ้ามีอาการกดเจ็บตรงท้องน้อย ข้างขวาก็ควรจะรีบไปโรงพยาบาล อาจเกิดจากไส้ติ่งอักเสบ หรือสาเหตุที่ร้ายแรงอื่น ๆได้

การรักษา ปวดประจำเดือน

  1. ถ้าปวดไม่มากให้กินยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล ครั้งละ 1-2 เม็ด เวลาปวด ซ้ำได้ทุก 4-6 ชั่วโมง
  2. ถ้าปวดมาก ให้นอนพัก ใช้ประเป๋าน้ำร้อนประ คบหน้าท้อง และให้ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สตีรอยด์ เช่น อินโดเมทาซิน ไอบูโพรเฟน  ครั้งละ 1 เม็ด วันละ 3-4 ครั้ง ควรกินก่อนมีประจำเดือน 48 ชั่วโมง และกินทุกวันจนเลือดประจำเดือนหยุดออก หรือ ห้ยาแอนติสปาสโมดิก  เช่น
    อะโทรพีน ไฮออสซีน ครั้งละ 1-2 เม็ด บรรเทาปวด ซ้ำได้ทุก 6 ชั่วโมง
  3. ถ้าปวดจนมีอาการเหงื่อออก ตัวเย็น ให้ฉีด แอนติสปาสโมดิก เช่น อะโทรพีน หรือไฮออสซีน ½-1 หลอด เข้ากล้ามหรือเข้าหลอดเลือดดำ ถ้าไม่ทุเลาควรส่งโรงพยาบาล
  4. ในรายที่เป็นอยู่ประจำ อาจให้กินยาเม็ดคุมกำเนิด (กินแบบเดียวกับใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด คือวันละ1 เม็ด ทุกวัน) เพื่อมิให้มีอาการตกไข่ จะช่วยไม่ให้ปวดได้ ชั่วระยะหนึ่ง อาจให้ติดต่อกันนาน 3-4 เดือน แล้วลอง หยุดยา ถ้าหากมีอาการกำเริบใหม่ ก็ควรให้กินยาเม็ดคุมกำเนิดต่อไปอีกสักระยะหนึ่งจนกว่าเมื่อหยุดยาแล้ว อาการปวดประจำเดือนทุเลาไป
  5. ถ้าพบว่าอาการปวดประจำเดือนเริ่มเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในผู้หญิงอายุมากกว่า 25 ขึ้นไป หรือยังมีอาการปวดมากหลังแต่งงาน หรือมีเลือดประจำเดือนออกมากกว่าปกติ ควรแนะนำไปโรงพยาบาล อาจต้องตรวจภายใน และทำการตรวจพิเศษ เช่น อัลตราซาวนด์ การใช้กล้องส่องตรวจช่องท้อง (laparoscope) เป็นต้น เพื่อ ค้นหาสาเหตุให้แน่นอน และให้การรักษา ตามสาเหตุที่พบ
[Total: 0 Average: 0]