อัณฑะบิดตัว

อัณฑะบิดตัว คือ ภาวะที่สายรั้งอัณฑะ (spermatic cord) มีการบิดตัวหมุนรอบตัวเอง ทำให้ขาดเลือดไปเลี้ยงอัณฑะเกิดอาการปวดอัณฑะ หากไม่ได้รับการรักษาได้ทันท่วงที ก็อาจทำให้เนื้อเยื่ออัณฑะตายได้มักเป็นที่อัณฑะ ข้างซ้ายมากกว่าข้างขวา

พบได้ในผู้ชายทุกช่วงอายุ พบบ่อยในช่วงอายุ 12-18 ปี พบน้อยในคนอายุมากกว่า 25 ปี บางครั้งอาจพบในทารกช่วงขวบแรกได้

สาเหตุ อัณฑะบิดตัว

เกิดจากพัฒนาการที่ผิดปกติของสายรั้งอัณฑะและเนื้อเยื่อที่ปกคลุมอัณฑะทำให้ถุงอัณฑะหลวมกว่าปกติ ทำให้อัณฑะสามารถบิดหมุนรอบตัวเมื่ออายุมากขึ้นได้

อาการ อัณฑะบิดตัว

ผู้ป่วยมักมีอาการปวดอัณฑะข้างหนึ่งอย่างรุนแรงซึ่งเกิดขึ้นฉับพลันภายในไม่กี่ชั่วโมง บางรายอาจมีอาการปวดที่ตรงกลาง ท้องน้อย อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนด้วย

บางรายอาจมีอาการปวดเกิดขึ้นตอกลางคืนจนทำให้ผู้ป่วยสะดุ้งตื่น หรือขณะออกกำลังกาย หรือขณะทำกิจกรรมต่าง ๆ ผู้ป่วยมักถ่ายปัสสาวะได้เป็นปกติ ไม่มีอาการแสบขัดหรือถ่ายกะปริดกะปรอย

การป้องกัน อัณฑะบิดตัว

อาการอัณฑะบวมอาจมีสาเหตุจากไส้เลื่อน ถุงน้ำที่ถุงอัณฑะ  อัณฑะอักเสบ มะเร็งอัณฑะ และอัณฑะบิดตัว

ผู้ที่อยู่ ๆ มีอาการอัณฑะข้างหนึ่งปวดและบวมซึ่ง เกิดขึ้นฉับพลันและอย่างต่อเนื่องไม่ทุเลา และอัณฑะข้างที่ปวดยกสูงกว่าข้างปกติ ควรนึกถึงโรคอัณฑะบิดตัว และรีบไปพบแพทย์ทันที่

การรักษา อัณฑะบิดตัว

หากสงสัย ควรส่งโรงพยาบาลทันที

แพทย์มักจะวินิจฉัยจากอาการและสิ่งตรวจพบ บางรายอาจต้องทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น ตรวจอัลตราซาวนด์ การรักษา แพทย์จะทำการผ่าตัดอย่างเร่งด่วนเพื่อ แก้ไขภาวะบิดตัวของอัณฑะ และป้องกันไม่ให้กำเริบซ้ำในภายหลังอีก การผ่าตัดจะต้องทำภายใน 6-8 ชั่วโมงหลังเกิดอาการ หากปล่อยทิ้งไว้จนอัณฑะตาย ก็อาจต้องผ่าตัดอัณฑะออกไป

[Total: 0 Average: 0]