กระดูกหัก คือ การมีชิ้นส่วนของกระดูกหักหรือแตกแยกจากกัน หรือมีการร้าว การเดาะของเนื้อกระดูก สาเหตุของกระดูกหักเนื่องมาจากมีแรงมากระทำ
ชนิดของกระดูกหักของกระดูกแบ่งเป็นหลายลักษณะ ดังนี้
1. จำแนกตามบาดแผล
1.1 Closed or simple fracture กระดูกหักแบบปิด คือบริเวณที่มีกระดูกหักไม่มีทางเชื่อมกับสิ่งแวดล้อมภายนอก (ไม่มีแผลเปิด)
1.2 Open or compound fracture กระหักแบบเปิด คือการที่กระดูกหักและมีบาดแผลร่วมด้วยทำให้มีทางติดต่อระหว่างกระดูกหักและสิ่งแวดล้อมภายนอกร่างกาย
2. จำแนกตามรอยหักของกระดูกเช่น หักตามขวาง (transverse fracture) หักแบบเฉียง (oblique fracture) หักบิดเป็นเกลียว (spiral fracture) หักเป็นท่อนๆ มากกว่า 2 ท่อน (segmental fracture) แตกเป็นชิ้นหลายๆชิ้น (comminuted fracture) กระดูกที่แตกร้าวไม่เคลื่อนที่/ไม่แยกออกจากกัน (non-displaced fracture) กระดูกที่หักและเคลื่อนไปจากที่เดิม (displaced fracture) เป็นต้น
3. อื่นๆ เช่น กระดูกสันหลังแตกจากการถูกอัดจนยุบ (compression fracture) การหักที่มีการแตกกระจายออก (burst fracture) นอกจากนี้แบ่งตามตำแหน่งที่หัก เช่น ส่วนต้นของกระดูก (proximal) ส่วนตรงกลางลำกระดูก (middle หรือ shaft) ส่วนปลายของกระดูก (distal) เป็นต้น
อาการและอาการแสดงของกระดูกหัก (ธีรชัย อภิวรรธกกุล, 2557)
1. อาการแสดงทั่วไป ที่สำคัญคือการเสียเลือด อาจเกิดภาวะช็อก (shock) ได้ หรือเจ็บปวดมาก
2. อาการแสดงเฉพาะที่บริเวณกระดูกหัก ได้แก่
- Tenderness กดเจ็บตรงตำแหน่งที่กระดูกหัก
- Swelling หรือ hematoma บวมและช้ำเลือด
- Deformity ลักษณะผิดรูปได้แก่ โก่ง งอบิด
- Loss of function ไม่สามารถใช้งานได้ตามปกติ
- Abnormal movement เคลื่อนไหวผิดธรรมดาหรือเคลื่อนไหวไม่ได้
- Crepitus มีเสียงกระดูกเสียดสีกัน
- มีการหดเกร็งของกล้ามเนื้อบริเวณรอบๆ
อาการ โรคกระดูกหัก
ผู้ป่วยที่กระดูกหักจะเกิดอาการดังต่อไปนี้อาการใดอาการหนึ่ง หรือหลาย ๆ อาการร่วมกัน คือ
- อาการเจ็บปวดตรงกระดูกที่หักหรือรอบ ๆ บริเวณที่ได้รับบาดเจ็บ ซึ่งจะเป็นมากเวลาเคลื่อนไหวหรือใช้มือกดถูกอวัยวะที่ได้รับบาดเจ็บดังกล่าว แต่ถ้าไม่มีอาการเจ็บปวดให้มั่นใจได้เลยว่ากระดูกไม่หัก (ยกเว้นในคนที่ไม่มีความรู้สึกในบริเวณที่หัก เช่น ผู้ที่เป็นอัมพาต หรือเส้นประสาทที่เลี้ยงบริเวณนั้นขาด)
- อาการบวมรอบ ๆ บริเวณที่กระดูกหัก เกิดรอยเขียวช้ำ และอาจมีเลือดออกมาจากผิวหนัง (ถ้าไม่มีอาการบวมก็มั่นใจได้เลยว่ากระดูกไม่หัก แต่ถ้าเพียงร้าว ในช่วงแรกอาจบวมได้ไม่มาก หรือกระดูกบางแห่ง เช่น ข้อมือ ข้อเท้า อาจมีลักษณะบวมและปวดเพียงเล็กน้อย จนทำให้เข้าใจผิดคิดว่าเป็นเพียงข้อเคล็ดข้อแพลงได้)
- ส่วนที่หักอาจมีลักษณะผิดรูปผิดร่างหลังการบาดเจ็บ เช่น แขนขาโก่งงอ สั้นยาวกว่าข้างที่ปกติ หรือหักบิดในลักษณะที่ผิดปกติ ซึ่งมั่นใจได้เลยว่ามีกระดูกหัก
- ผู้ป่วยบางรายอาจเกิดกระดูกที่หักทิ่มแทงทะลุออกมานอกเนื้อ
- ไม่สามารถขยับหรือใช้งานส่วนที่มีการหักของกระดูกได้ หรือรู้สึกเคลื่อนไหวส่วนนั้นได้ลำบากหรือเคลื่อนไหวแล้วจะเจ็บปวดมาก
- อาจได้ยินเสียงกระดูกหักตอนประสบอุบัติเหตุ และบางครั้งถ้าลองจับหรือกดเบา ๆ ลงบนกระดูกบริเวณที่หัก อาจได้ยินเสียงกระดูกสีกัน หรือรู้สึกกรอบแกรบ
วิธีป้องกัน โรคกระดูกหัก
1. รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมและวิตามินดีสูง อย่างสม่ำเสมอ
2. ออกกำลังกายเป็นประจำ( weight-bearing and muscle-strengthening exercise )เช่น การเดิน การวิ่ง เต้นแอโรบิก กระโดดเชือก รำมวยจีน เต้นรำ เป็นต้น ร่วมกับการยกน้ำหนัก จะช่วยเพิ่มความแข็งแรง ทั้งกระดูกและกล้ามเนื้อ
3. รับแสงแดด ช่วยให้ร่างกายสังเคราะห์วิตามินดี ควรจะออกไปรับแสงแดดอ่อนๆ ยามเช้าหรือยามเย็น วันละ 10-15 นาที
4. รักษาน้ำหนักตัวอย่าให้ต่ำกว่าเกณฑ์
5. หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการเกิดภาวะกระดูกพรุน เช่น
- ไม่ดื่มน้ำอัดลมปริมาณมาก เพราะกรดฟอสฟอริกในน้ำอัดลมทำให้เกิดการสลายแคลเซียมออกจากกระดูกมากขึ้น
- หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ ในปริมาณมาก เพราะแอลกอฮอล์จะขัดขวางการดูดซึมแคลเซียมของลำไส้เล็ก
- งดการสูบบุหรี่ เพราะบุหรี่กระตุ้นให้เกิดการสลายแคลเซียมออกจากกระดูกมากขึ้น
6.ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจกรองโรคกระดูกพรุน ในผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกพรุนหรือกระดูกหัก
การรักษา กระดูกหัก
การรักษากระดูกหักมีจุดมุ่งหมายเพื่อทำให้กระดูกที่หักเมื่อหายแล้วกลับมาอยู่ในสภาพที่ใกล้เคียงปกติมากที่สุด มีผลข้างเคียงน้อยที่สุด และผู้ป่วยสามารถลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้โดยเร็วที่สุด ซึ่งในการรักษากระดูกหักนั้นจะมีอยู่ด้วยกันหลายวิธี ขึ้นอยู่กับตำแหน่งและลักษณะของกระดูกที่หัก กระดูกหักมากหรือน้อยอย่างไร อายุของผู้ป่วย สภาพร่างกายของผู้ป่วย (แข็งแรงดีหรือมีโรคประจำตัวหรือไม่) รวมถึงอาชีพที่แตกต่างกันไปของผู้ป่วยแต่ละราย ส่วนการจะเลือกรักษาด้วยวิธีใดนั้นก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจร่วมกันของแพทย์และผู้ป่วย โดยแพทย์จะเป็นผู้อธิบายให้ผู้ป่วยและญาติเข้าใจถึงเหตุผลและวิธีการรักษาต่าง ๆ ซึ่งผู้ที่จะตัดสินใจเลือกแนวทางรักษาในขั้นสุดท้ายก็คือตัวผู้ป่วยเอง