โรคปวดกล้ามเนื้อหลัง คือ สาเหตุที่พบได้บ่อย ที่สุดของอาการปวดหลัง พบได้ตั้งแต่วัยหนุ่มสาวเป็น ต้นไป เป็นภาวะที่ไม่มีอันตรายร้ายแรง และมักจะหายได้เอง แต่อาจเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรังได้
สาเหตุ ปวดกล้ามเนื้อหลัง
มักเกิดจากการทำงานก้ม ๆ เงย ๆ ยกของหนัก เล่นกีฬา นั่ง ยืน นอนหรือยกของในท่าทีไม่ถูกต้อง ใส่รองเท้าส้นสูงมากเกินไป หรือนอนที่นอนนุ่มเกินไป ทำให้เกิดแรงกดตรงกล้ามเนื้อสันหลังส่วนล่าง ซึ่งจะมีอาการเกร็งตัว ทำให้เกิดอาการปวดตรงกลางหลังส่วนล่าง คนที่อ้วน หรือหญิงที่กำลังตั้งครรภ์ ก็อาจมีอาการปวดหลังได้เช่นกัน
อาการ ปวดกล้ามเนื้อหลัง
ผู้ป่วยจะรู้สึกปวดตรงกลางหลังส่วนล่าง (ตรงบริเวณกระเบนเหน็บ) ซึ่งอาจเกิดขึ้นฉับพลัน หรือค่อย เป็นทีละน้อย อาการปวดอาจเป็นอยู่ตลอดเวลาหรือปวดเฉพาะในท่าบางท่า การไอ จาม หรือบิดตัวเอี้ยวตัว อาจ ทำให้รู้สึกปวดมากขึ้น โดยทั่วไปผู้ป่วยจะแข็งแรงดี และไม่มีอาการผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย
การป้องกัน ปวดกล้ามเนื้อหลัง
โรคนี้สามารถป้องกันได้โดยระวังรักษาอิริยาบถ (ท่านอน ท่านั่ง ท่ายืน ท่ายกของ) ให้ถูกต้อง หมั่นออกกำลังกล้ามเนื้อหลังเป็นประจำ บริหารร่างกายก่อนและ หลังเล่นกีฬา นอนบนเตียงที่แข็ง และควบคุมน้ำหนัก
- อาการปวดหลังแบบนี้เป็นสิ่งที่พบได้บ่อยในหมู่ชาวไร่ชาวนา กรรมกรที่ทำงานหนัก และในหมู่คนที่ทำงานนั่งโต๊ะนาน ๆ ซึ่งมักจะเข้าใจผิดว่าเป็นอาการของโรคไต โรคกษัย และซื้อยาชุดยาแก้กษัยหรือยาแก้โรคไต กินอย่างผิด ๆ ซึ่งบางครั้งอาจทำให้เกิดโทษได้ ดังนั้น จึงควรแนะนำชาวบ้านให้เข้าใจถึงสาเหตุของอาการปวดหลัง และควรใช้ยาเท่าที่จำเป็น โดยทั่วไป อาการปวดหลังเนื่องจากกล้ามเนื้อมักจะปวดตรงกลางหลัง (บริเวณกระเบนหนีบ) ส่วนโรคไตมักจะปวดที่สีข้าง (มักเป็นเพียงข้างเดียว) และอาจมีไข้สูงหนาวสั่น หรือปัสสาวะขุ่นหรือแดงร่วมด้วย
- ผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลัง อย่าลืมถามอาการปวดร้าวลงมาที่ขา ถ้ามีอาจเป็นอาการปวดตามประสาท ไซแอติกเนื่องจากรากประสาทถูกกด
- ในผู้ที่มีอายุ 10-30 ปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน ผู้ชาย หากมีอาการปวดหลังเรื้อรังทุกวันนานเกิน 3 เดือน ควรคิดถึงโรคข้อสันหลังอักเสบเรื้อรังมากกว่าอาการปวดกล้ามเนื้อหลังหรือปวดยอกหลัง
การรักษา ปวดกล้ามเนื้อหลัง
- สังเกตว่ามีสาเหตุจากอะไร แล้วแก้ไขเสีย เช่น ถ้าปวดหลังตอนตื่นนอน ก็อาจเกิดจากที่นอนนุ่มไปหรือ นอนเตียงสปริง ก็แก้ไขโดยนอนที่แข็งและเรียบแทน ถ้าปวดหลังตอนเย็น ก็มักจะเกิดจากการนั่งตัวงอตัวเอียง หรือใส่รองเท้าส้นสูง ก็พยายามนั่งให้ถูกท่า หรือเปลี่ยนเป็นรองเท้าธรรมดาแทน ถ้าอ้วนไป ควรพยายามลดน้ำหนัก
- ถ้ามีอาการปวดมาก ให้นอนหงายบนพื้น แล้วใช้เท้าพาดบนเก้าอี้ให้เข่างอเป็นมุมฉาก สักครู่หนึ่งก็อาจทุเลาได้ หรือจะใช้ยาหม่องหรือน้ำมันระกำทานวด หรือใช้น้ำอุ่นจัด ๆ ประคบได้ ถ้าไม่หาย ก็ให้ยาแก้ปวด เช่น แอสไพริน พาราเซตามอล ครั้งละ 1-2 เม็ด จะกินควบกับไดอะซีแพม ขนาด 2 มก.ด้วยก็ได้ ถ้ายังไม่หาย อาจใช้ยาคลายกล้ามเนื้อ เช่น เมโทคาร์บามอล คาริโซโพรดอล ครั้งละ 1 เม็ด ซ้ำได้ทุก 6-8 ชั่วโมง ผู้ป่วยควรนอนที่นอนแข็ง และหมั่นฝึกกาย บริหารให้กล้ามเนื้อหลังแข็งแรง
- ถ้าเป็นเรื้อรัง หรือมีอาการปวดร้าวลงมาที่ขาหรือชาที่ขา ขาไม่มีแรง หรือน้ำหนักลด อาจเกิดจาก สาเหตุอื่น ควรแนะนำผู้ป่วยไป โรงพยาบาล อาจต้อง เอกซเรย์และ/หรือตรวจพิเศษอื่น ๆ และให้การรักษาตามสาเหตุที่พบ ในกรณีที่มีอาการปวดหลังเรื้อรัง โดยตรวจไม่พบสาเหตุชัดเจนอาจมีสาเหตุจากภาวะวิตกกังวล ความเครียดหรือซึมเศร้า ถ้าผู้ป่วยมีประวัติอาการทางด้านจิตใจ และอารมณ์ ก็ควรให้การรักษาภาวะเหล่านี้ด้วย