โรคกระดูกสันหลังคด คือ การที่แนวกระดูกสันหลังที่ผิดรูปมีการคดออกไปด้านข้าง สาเหตุที่ทำให้เกิดกระดูกสันหลังคด ได้แก่ การสร้างและการเจริญเติบโตที่ผิดปกติของกระดูกสันหลังตั้งแต่กำเนิด กล้ามเนื้อ หรือระบบประสาทผิดปกติ เกิดร่วมกับโรคท้าวแสนปม และสาเหตุอื่นๆ แต่ที่พบบ่อยที่สุด ประมาณร้อยละ 80 ของผู้ป่วยกระดูกสันหลังคดทุกชนิด คือ กระดูกสันหลังคดชนิดที่ไม่พบสาเหตุ มักพบในช่วงอายุระหว่าง 10 - 15 ปี
สาเหตุ โรคกระดูกสันหลังคด
กระดูกสันหลังคด หลักๆ แล้วจะเกิดขึ้นจาก 3 สาเหตุ คือ
- เป็นมาตั้งแต่กำเนิดมาจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรมโดยตรง
- เกิดจากอุบัติเหตุทำให้แนวกระดูกสันหลังเคลื่อนที่หรือผิดรูปออกไปจากแนวกระดูกสันหลังเดิม
- เกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด โดยมากมักจะเกิดในช่วงวัยเด็กหรือวัยรุ่น
อาการ โรคกระดูกสันหลังคด
อาการของผู้ป่วย คือ มีแนวกระดูกสันหลังไม่ตรง ระดับหัวไหล่ 2 ข้างไม่เท่ากัน ระดับเอวไม่เท่ากัน ด้านหลังนูนทำให้คิดว่าหลังโก่ง ผู้ป่วยหรือผู้ปกครองจึงมักมาพบแพทย์ด้วยความกังวลเกี่ยวกับรูปร่าง มีส่วนน้อยเท่านั้นที่อาจมีอาการปวดหลัง
นอกจากการตรวจดูลักษณะที่ผิดรูปแล้ว แพทย์จะตรวจการทำงานของระบบประสาท และส่งตรวจทางรังสีเพื่อการวินิจฉัยและประเมินระดับความรุนแรงของกระดูกสันหลังคด
การรักษา โรคกระดูกสันหลังคด
วิธีการรักษาที่เหมาะสม ซึ่งแบ่งได้เป็น 3 แนวทาง คือ การสังเกตอาการ การใส่เสื้อเกราะ และการผ่าตัด
- การสังเกตอาการ ในกรณีที่กระดูกสันหลังมีความคดน้อยกว่า 20 - 30 องศา แพทย์จะนัดตรวจติดตามอาการอย่างใกล้ชิดทุก 4 - 6 เดือน หากมีความคดมากกว่า 30 องศา ควรใส่เฝือก หรือเสื้อเกราะเพื่อดัดกระดูกสันหลัง และควบคุมไม่ให้กระดูกสันหลังคดมากขึ้น โดยใส่ประมาณ 23 ชั่วโมงต่อวัน ยกเว้นเวลาอาบน้ำหรือเล่นกีฬา
- การใส่เสื้อเกราะ จะต้องใส่จนกว่าผู้ป่วยหยุดการเจริญเติบโต และค่อย ๆ ลดจำนวนชั่วโมงที่ใส่ลงจนแน่ใจว่า กระดูกสันหลังไม่คดมากขึ้นจึงจะหยุดใส่
- ส่วนการรักษาด้วยการผ่าตัด ควรจะทำในกรณีที่ผู้ป่วยมีกระดูกสันหลังคดมากกว่า 45 องศา และยังไม่หยุดการเจริญเติบโต หรือมีความคดมากกว่า 50 - 55 องศาในผู้ป่วยที่หยุดการเจริญเติบโตแล้ว โดยการใช้โลหะดามกระดูกสันหลังในการจัดแนวกระดูกสันหลังให้ตรงขึ้นและเชื่อมข้อกระดูกสันหลังให้ติดแข็ง
ภายหลังการผ่าตัด ควรงดกิจกรรมที่มีการเคลื่อนไหวของกระดูกสันหลังมาก เช่น การก้มตัว การบิดตัว นานประมาณ 3 - 6 เดือน แล้วจึงเริ่มออกกำลังกายที่ไม่เสี่ยงต่อการบาดเจ็บ เช่น เดิน ว่ายน้ำ วิ่งเหยาะ ปั่นจักรยานอยู่กับที่ เป็นต้น