โพรงกระดูกสันหลังตีบแคบ

โพรงกระดูกสันหลังตีบแคบบริเวณเอว คือ ภาวะที่พบได้บ่อย และเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยทุกข์ทรมาณ และเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดของภาวะกระดูกสันหลังเสื่อมที่ทำให้ผู้ป่วยต้องมารักษาโดยการผ่าตัด

โรคนี้มักทำให้ผู้ป่วยเกิดมีอาการปวดหลังโดยอาจพบร่วมกับอาการปวดลงขาข้างเดียวหรือ 2 ข้างพร้อมๆกันก็ได้ ,  neurogenic claudication (เดินแล้วมีอ่อนแรงหรือปวดต้องหยุดเป็นพัก ๆ)  ซึ่งเกิดจากการกดทับเส้นประสาทหรือภาวะการขาดเลือดของเส้นประสาท (ischemia of nerve roots)  โรคนี้เป็นหนึ่งในกลุ่มของโรคความผิดปกติของกระดูกสันหลังที่พบได้บ่อยใน

  • คนที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป
  • คนอ้วน
  • โรคเบาหวาน และ
  • ในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน

โรคโพรงกระดูกสันหลังตีบแคบสามารถแบ่งได้เป็น 2 ชนิดหลัก ๆ ดังนี้

  1. โพรงกระดูกสันหลังตีบแคบบริเวณคอ (Cervical stenosis)
  2. โพรงกระดูกสันหลังตีบแคบบริเวณเอว (Lumbar stenosis)

สาเหตุ โพรงกระดูกสันหลังตีบแคบ

ภาวะตีบแคบพบได้บ่อยที่สุดจากสาเหตุภาวะกระดูกสันหลังเสื่อมตามอายุ  ซึ่งมักจะพบความผิดปกติในการตรวจทางรังสีที่สามารถอธิบายอาการของผู้ป่วยได้ อย่างไรก็ตามมีรายงานการตรวจพบความผิดปกติทางรังสี  ในคนทั่วไปที่ไม่มีอาการผิดปกติใดๆเลยเป็นจำนวนมาก ( 5-7 ) ดังนั้นการตรวจพบว่ามีช่องโพรงกระดูกตีบแคบอย่างเดียวไม่ได้หมายความว่าผู้นั้นจะเป็นโรคนี้เสมอไป

สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคโพรงกระดูกสันหลังตีบแคบ ที่พบได้ คือ

  • จากความผิดปกติแต่กำเนิดของโพรงกระดูกสันหลัง
  • จากการเสื่อมตามอายุ
  • จากโรค/ภาวะอื่นๆ เช่น อุบัติเหตุบริเวณหลัง และโรคกระดูกต่างๆ (เช่น โรคกระดูกพรุน) และ
  • บางครั้งแพทย์หาสาเหตุไม่พบ

อาการ โพรงกระดูกสันหลังตีบแคบ

อย่างที่ได้กล่าวไป ผู้ป่วยบางรายอาจไม่ปรากฏอาการใด ๆ ที่ทำให้สังเกตถึงความผิดปกติของร่างกาย แต่ในรายที่มีอาการ อาการเหล่านั้นอาจแตกต่างกันไปตามตำแหน่งของบริเวณที่โพรงกระดูกตีบ และอาจค่อย ๆ ปรากฏอาการและรุนแรงขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป โดยอาการของโรคโพรงกระดูกสันหลังตีบแคบอาจมี ดังนี้

  1. ปวดตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะหลังและคอ
  2. เหน็บ ชา หรืออ่อนแรงตามแขน ขา และเท้า
  3. เป็นตะคริวเมื่อเดินหรือยืนนาน ๆ
  4. เสียการทรงตัว

ในบางรายที่มีอาการรุนแรงอาจทำให้เกิดภาวะลำไส้หรือกระเพาะปัสสาวะทำงานผิดปกติ หรือมีปัญหาในการมีเพศสัมพันธ์ได้ อย่างไรก็ตาม หากพบอาการใด ๆ ที่บ่งบอกถึงความผิดปกติ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยอย่างถูกต้อง

การรักษา โพรงกระดูกสันหลังตีบแคบ

วิธีการที่ใช้รักษาโรคอาจมีได้ ดังนี้

  1. การออกกำลังกาย
    การออกกำลังกายเป็นอีกวิธีหนึ่งที่แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยทำ เพื่อเสริมความแข็งแรงให้กับหน้าท้องและหลัง ซึ่งอาจช่วยให้เคลื่อนไหวร่างกายได้ดีขึ้น
  2. การใช้ยาเนื่องจากโรคโพรงกระดูกสันหลังตีบแคบอาจส่งผลให้เกิดอาการปวดได้ การใช้ยาจึงมุ่งเน้นไปที่การบรรเทาอาการปวด อย่างยาแก้ปวด ยาต้านเศร้า ยากันชัก คอร์ติโซน และโอปิออยด์ ซึ่งยาเหล่านี้จะช่วยลดการทำงานของเส้นประสาทที่ส่งผลให้เกิดอาการปวด
  3. การผ่าตัด
    การผ่าตัดเพื่อรักษาโรค Spinal Stenosis อาจทำเพื่อขยายโพรงกระดูกสันหลัง ลดการกดทับในโพรงกระดูก หรือเชื่อมกระดูกสันหลัง ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์
  4. การลดการกดทับ
    การลดการกดทับเป็นวิธีการที่ใช้ลดการกดทับเส้นประสาท ด้วยการใช้อุปกรณ์ที่คล้ายเข็มสอดเข้าไปยังกระดูกสันหลังเพื่อลดขนาดของกระดูกที่หนาผิดปกติจนกดทับเส้นประสาท
  5. การรักษาด้วยแพทย์ทางเลือก
    แพทย์ทางเลือก อย่างการฝังเข็ม การนวด และไคโรแพรคติก (Chiropractic) หรือการจัดกระดูก เป็นการรักษาแบบแพทย์ทางเลือกที่อาจช่วยรักษาหรือบรรเทาอาการของโรค Spinal Stenosis ได้ แต่ควรได้รับความเห็นจากแพทย์แผนปัจจุบันก่อน

ในเบื้องต้นหากมีอาการปวดอาจใช้วิธีการประคบร้อนหรือประคบเย็นเพื่อบรรเทาอาการก่อนไปพบแพทย์ และหากมีอาการปวดขณะเดินหรือเสียการทรงตัวอาจใช้ไม้เท้าหรืออุปกรณ์ช่วยเดินในการประคองตัว

[Total: 1 Average: 5]