ปลอกหุ้มเอ็นอักเสบ

ปลอกหุ้มเอ็นอักเสบ คือ โรคที่พบได้ค่อนข้างบ่อย พบมากในวัยกลางคน ผู้สูงอายุ นักกีฬา และผู้ที่ทำกิจกรรมอยู่ในท่าเดิมซ้ำ ๆ ประจำ เป็นโรคที่ไม่มีอันตรายร้ายแรง แต่อาจเป็นเรื้อรัง และทำให้ทำงานหรือเคลื่อนไหวไม่ถนัด การอักเสบของปลอกหุ้มเส้นเอ็นร่วมด้วย เส้นเอ็นบางครั้งที่พบว่าเกิดการอักเสบได้บ่อย ได้แก่ เส้นเอ็นที่ข้อไหล่ ข้อศอก ข้อมือ นิ้วมือ ข้อสะโพก และเส้นเอ็นร้อยหวาย (เอ็นส้นเท้า)

มีชื่อเรียกเฉพาะสำหรับการอักเสบของเส้นเอ็นตามตำแหน่งต่าง ๆ เช่น

  • โรคข้อศอกนักเทนนิส (tennis elbow) เป็นการอักเสบของเส้นเอ็นบริเวณข้อศอก (epicondylitis) พบบ่อยในนักกีฬาเทนนิส นักกอล์ฟ ช่างไม้ ช่างทาสี
  • โรคข้อไหล่นักว่ายน้ำ (swimmer’s shoulder) เป็นการอักเสบของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นบริเวณไหล่ (rotator cuff tendinitis) พบบ่อยในนักว่ายน้ำ นักเทนนิส นักยกน้ำหนัก
  • โรคเดอเกอร์แวง (de Quervain’s disease) หรือโรคปลอกเอ็นหุ้มข้อมืออักเสบ เป็นการอักเสบของเส้นเอ็นและปลอกหุ้มที่ควบคุมการเคลื่อนไหวนิ้วหัวแม่มือ พบบ่อยในนักกีฬา นักดนตรี แม่บ้าน คนงาน และผู้ที่ต้องเคลื่อนไหวข้อมือ หรือใช้นิ้วหัวแม่มือซ้ำ ๆ เป็นประจำ
  • โรคนิ้วล็อก (trigger finger) เป็นการอักเสบของเส้นเอ็นที่บังคับการงอนิ้วมือ (digital flexor ten-dosynoitis) ทำให้เวลางอนิ้วแล้วเหยียดคืนให้ตรงไม่ได้ เนื่องเพราะเส้นเอ็นที่อักเสบบวมเกิดการล็อกกับปลอกหุ้มทำให้ไม่สามารถเคลื่อนนิ้วได้ พบบ่อยในนักกีฬาเทนนิส แบคมินตัน กอล์ฟ คนทำสวน และผู้ที่ใช้มือหยิบกำของแข็ง ๆ เป็นประจำ

สาเหตุ | อาการ | การป้องกัน | การรักษา

สาเหตุ ปลอกหุ้มเอ็นอักเสบ

การอักเสบของเส้นเอ็น (tendon) และปลอกหุ้ม (sheat) มักมีสาเหตุจากการได้รับบาดเจ็บ ทำงานหนัก หรือทำกิจกรรมที่มีการใช้เส้นเอ็นส่วนนั้นซ้ำ ๆ ประจำ (บาดเจ็บเรื้อรัง)

อาการ ปลอกหุ้มเอ็นอักเสบ

มีการเจ็บปวดตรงเส้นเอ็นที่อักเสบ โดยเฉพาะ อย่างยิ่งเวลาเคลื่อนไหวไปในทิศทางที่ทำให้เส้นเอ็นส่วนนั้นถูกยืดและดึงรั้ง อาการมักจะเป็นอยู่นานเป็นสัปดาห์ ๆ หรือเป็นเดือน ๆ เช่น

  • โรคเดอเกอร์แวง จะมีอาการเจ็บข้อมือด้านนิ้วหัวแม่มือเวลาเหยียดหรืองอหัวแม่มือ กวาดพื้น ยกขันน้ำบิดผ้า เป็นต้น
  • โรคนิ้วล็อก จะมีอาการงอนิ้วแล้วเหยียดออกเอง ไม่ได้ ต้องใช้มืออีกข้างจับเหยียดขึ้น

การป้องกัน ปลอกหุ้มเอ็นอักเสบ

  1. ขณะที่มีอาการเจ็บปวดเส้นเอ็น ควรพักการใช้งานให้เต็มที่และหลีกเลี่ยงการเคลื่อนไหวในท่าที่ทำให้ปวด แต่เมื่อเริ่มทุเลาแล้ว ควรหมั่นบริหารข้อ (ตามคำแนะนำของแพทย์หรือนักกายภาพบำบัด) เพื่อป้องกันไม่ให้ยึดติดและคืนสภาพปกติโดยเร็ว
  2. ควรป้องกันโดยการหลีกเลี่ยงการใช้งานของข้ออย่างหนัก (เช่น การบิดข้อมือ หรือกำมือแรง ๆ การ เล่นกีฬาที่รุนแรง) หมั่นบริหารข้อเป็นประจำ เวลาเล่นกีฬาควรทำการอบอุ่นร่างกายก่อนเสมอ

การรักษา ปลอกหุ้มเอ็นอักเสบ

  1. ควรหยุดพักการใช้ข้อที่ปวด ใช้น้ำอุ่นจัด ๆ ประคบ (ในรายที่เกิดจากการบาดเจ็บเฉียบพลัน ควรใช้ น้ำแข็งหรือน้ำเย็นประคบทันที และทำซ้ำทุก 3-4 ชั่วโมง จนพ้น 48 ชั่วโมง จึงเปลี่ยนมาประคบด้วยน้ำอุ่น) ทานวดด้วยขี้ผึ้งน้ำมันระกำหรือยาหม่อง ใช้ผ้าพันแผลชนิด ยืดพันให้พอแน่น (ในที่ ๆ ทำเฝือกได้ ควรใส่เฝือก) และ ให้กินยาต้านอักเสบที่ใช่สตีรอยด์ เมื่อทุเลาปวด ให้ค่อย ๆ เคลื่อนไหว บริหารข้อนั้นให้คืนสู่สภาพปกติ
  2. ถ้าอาการไม่ดีขึ้นใน 2 สัปดาห์ หรือเป็นรุนแรงหรือเป็นอาการนิ้วล็อก ควรแนะนำไปโรงพยาบาล หรือ ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ  ซึ่งอาจต้องให้การรักษาด้วย การทำกายภาพบำบัดและใส่เฝือก บางรายอาจต้องเอกซเรย์ดูว่ามีหินปูนหรือแคลเซียมเกาะที่เส้นเอ็นหรือไม่ในรายที่เป็นมาก อาจต้องฉีดสตีรอยด์ ตรงบริเวณที่ปวด (การฉีดยาชนิดนี้ อาจทำให้ปวดมาก  บางครั้งอาจต้องผสมยาชา) ซึ่งเป็นวิธีรักษาที่ได้ผลดี แต่ไม่ควรฉีดเกินปีละ 2-3 ครั้ง อาจทำให้เส้นเอ็นเปื่อย ฉีกขาด เกิดภาวะแทรกซ้อนยุ่งยากตามมาได้

ในรายที่เป็นเรื้อรังหรืเส้นเอ็นมีหินปูนเกาะ มีข้อจำกัดในการเคลื่อนไหว อาจต้องแก้ไขด้วยการผ่าตัด


    [Total: 0 Average: 0]