เอ็นอักเสบ

โรคเอ็นอักเสบ คือการอักเสบของเอ็นกล้ามเนื้อซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน โดยบริเวณที่พบบ่อย ได้แก่ หัวไหล่ ข้อศอก ข้อมือ ข้อเข่า และข้อเท้า เมื่อเอ็นกล้ามเนื้ออักเสบจะมีอาการปวดและบวม เคลื่อนไหวเอ็นกล้ามเนื้อได้ลำบาก มีอาการฟกช้ำ มีก้อนบวมนูนตามกล้ามเนื้อ

สาเหตุ เอ็นอักเสบ

สาเหตุของอาการบาดเจ็บสามารถเกิดได้ทั้งจากแรงกระทบภายนอก และบาดเจ็บจากการหดตัวของกล้ามเนื้อ ซึ่งการบาดเจ็บจากแรงภายนอก เช่น แรงปะทะของนักฟุตบอลที่คู่ต่อสู้ยกเท้ามายันที่ต้นขาอย่างแรง ซึ่งมีกล้ามเนื้อต้นขาอยู่จนเกิดการฟกช้ำ เวลาถูกกระแทกฟกช้ำจะทำให้หลอดเลือดฝอยต่างๆ ฉีกขาด มีเลือดออกมาในชั้นกล้ามเนื้อ หรือหากกระแทกรุนแรงก็อาจมีการฉีกขาดของเส้นใยกล้ามเนื้อ มีเลือดออกมากขึ้น จึงเกิดอาการบวมภายใน 48 - 72 ชั่วโมงแรก

โดยผู้ที่มีความเสี่ยงต่อเอ็นกล้ามเนื้ออักเสบ ได้แก่

  1. ผู้ที่มีอายุมากจะยิ่งมีโอกาสเกิดภาวะเอ็นอักเสบเนื่องจากเอ็นกล้ามเนื้อเริ่มมีความยืดหยุ่นน้อยลง
  2. มีการเคลื่อนไหวร่างกายบางส่วนผิดท่าบ่อยครั้ง
  3. เกิดจากการเล่นกีฬาบางชนิดที่เอ็นกล้ามเนื้อต้องทำงานซ้ำๆ เช่น ฟุตบอล ตะกร้อ แบดมินตัน ว่ายน้ำ และวิ่ง

อาการ เอ็นอักเสบ

เอ็นกล้ามเนื้อในบริเวณใด ๆ ของร่างกายล้วนแต่เกิดการอักเสบขึ้นได้ทั้งนั้น แต่บริเวณที่เป็นบ่อยคือ หัวไหล่ ข้อศอก ข้อมือ ข้อเข่า และข้อเท้า ซึ่งจะส่งผลให้บริเวณดังกล่าวมีอาการ ดังนี้

  • รู้สึกปวดตื้อ ๆ บ่อยครั้ง โดยเฉพาะเมื่อมีการเคลื่อนไหวที่ใช้แขนขาหรือข้อต่อนั้น ๆ
  • ใช้การเคลื่อนไหวเอ็นกล้ามเนื้อได้ลำบาก
  • มีอาการฟกช้ำ
  • มีอาการบวม บางครั้งอาจรู้สึกอุ่น ๆ หรือมีอาการแดงร่วมด้วย
  • มีก้อนบวมนูนตามเอ็นกล้ามเนื้อนั้น ๆ

อาการของเอ็นอักเสบส่วนใหญ่มักดีขึ้นเองภายใน 2-3 วัน ด้วยการพักและดูแลรักษาตนเอง แต่หากพบว่ายังคงมีอาการรุนแรง ต่อเนื่อง กระทบต่อการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันเป็นเวลานานกว่า 2-3 วัน หรือคิดว่าเอ็นกล้ามเนื้ออาจฉีกขาด ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษา

การรักษา เอ็นอักเสบ

การรักษาภาวะเอ็นอักเสบในเบื้องต้นทำได้ด้วยการหยุดพักกิจกรรมที่ต้องใช้การเคลื่อนไหวของเอ็นบริเวณที่อักเสบจนกว่าจะหายดี รวมถึงการดูแลรักษาด้วยตนเองซึ่งทำได้ดังนี้

  • ประคบเย็นด้วยผ้าห่อน้ำแข็งบริเวณที่อักเสบนาน 20 นาที ทำซ้ำทุก ๆ 2-3 ชั่วโมง
  • ใช้ผ้าพันแผลพันรอบ ๆ เพื่อรองรับข้อต่อและเอ็นกล้ามเนื้อบริเวณนั้น ๆ
  • พยายามยกส่วนของร่างกายที่มีอาการให้อยู่ในระดับสูง โดยใช้หมอนหนุนไว้เมื่อนั่งหรือนอนลง
  • ป้องกันการบวมของบริเวณที่อักเสบในช่วง 2-3 วันแรกด้วยการหลีกเลี่ยงความร้อน เช่น น้ำอุ่น หรือถุงน้ำร้อน รวมทั้งการดื่มแอลกอฮอล์และการนวดบริเวณดังกล่าว
  • เมื่อเริ่มเคลื่อนไหวเอ็นกล้ามเนื้อได้โดยไม่รู้สึกเจ็บ ให้พยายามออกการเคลื่อนไหวบ่อย ๆ ป้องกันการฝืดติดของเอ็นที่เกิดขึ้นจากการไม่ได้เคลื่อนไหว
  • อาจรับประทานยาหรือทาเจลบรรเทาการอักเสบที่หาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป

ทั้งนี้ หากอาการยังไม่ดีขึ้นภายใน 2-3 วัน หรือยังคงมีอาการรุนแรงอย่างต่อเนื่อง ผู้ป่วยควรรับการตรวจรักษาโดยแพทย์ ซึ่งวิธีการรักษาที่อาจนำมาใช้ มีดังต่อไปนี้

การรักษาด้วยยา 

ยาที่แพทย์แนะนำสำหรับผู้มีอาการเอ็นอักเสบ ได้แก่

  • ยาบรรเทาอาการปวด เช่น แอสไพริน (Aspirin) นาพรอกเซน (Naproxen) ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) อาจช่วยลดอาการเจ็บปวดที่เกิดขึ้นจากการอักเสบของเอ็นกล้ามเนื้อได้
  • คอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) ในบางครั้งแพทย์อาจรักษาด้วยการฉีดสเตียรอยด์ชนิดนี้รอบ ๆ บริเวณเอ็นที่มีการอักเสบ เพื่อลดการอักเสบและบรรเทาอาการเจ็บไปด้วย ทั้งนี้ไม่แนะนำให้ใช้คอร์ติโคสเตียรอยด์ในกรณีที่มีการอักเสบเรื้อรังหรือการอักเสบที่นานกว่า 3 เดือน เนื่องจากการฉีดยาชนิดนี้ซ้ำ ๆ อาจส่งผลให้เอ็นกล้ามเนื้ออ่อนแอลงและเพิ่มความเสี่ยงต่อการฉีกขาดของเอ็นกล้ามเนื้อ

การทำกายภาพบำบัด 

เป็นวิธีบำบัดรักษาโดยใช้การออกกำลังกาย เพื่อช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นและความแข็งแรงของเอ็นกล้ามเนื้อที่อักเสบ รวมถึงกล้ามเนื้อบริเวณรอบ ๆ เช่น การเพิ่มความต้านทานของกล้ามเนื้อที่เน้นการเกร็งตัวในขณะที่มีการยืดตัว ซึ่งพิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพในการรักษาการอักเสบเรื้อรังของเอ็นกล้ามเนื้อ

การผ่าตัด 

กรณีที่ภาวะเอ็นอักเสบมีอาการรุนแรงและนำไปสู่การฉีกขาดของเอ็น อาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัด โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เอ็นกล้ามเนื้อฉีกขาดออกจากกระดูก

[Total: 0 Average: 0]