หากสงสัยควรส่งโรงพยาบาล แพทย์มักให้วินิจฉัยจากอาการแสดงเป็นหลัก ในรายที่ไม่แน่ใจแพทย์อาจทำการตรวจพิเศษ เช่น ถ่ายภาพสมองด้วยคลื่นแม่เหล็ก ไฟฟ้าหรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เพื่อแยกสาเหตุร้ายแรง เช่น เนื้องอกสมอง หลอดเลือดสมองโป่งพอง (aneurysm) เป็นต้น
การรักษา แพทย์จะให้การรักษาดังนี้
- ขณะที่มีอาการปวดกำเริบเฉียบพลัน ให้การรักษาเพื่อบรรเทาปวดโดยให้ออกซิเจนบริสุทธิ์ (100%) ทางจมูกด้วยด้วยอัตรา 6 - 8 ลิตร/นาที ทันทีที่เริ่มปวด จะช่วยให้ทุเลาได้ภายใน 15 นาที หรือฉีดซูมมาทริปแทน 6 มก.เข้าใต้ผิวหนัง หรือไดไฮโดรเออร์โกตามีน 1 - 2 มก. เข้ากล้ามหรือหลอดเลือดดำ
- ในรายที่มีอาการปวดทุกวันแพทย์จะให้ยากินป้องกัน สำหรับผู้ป่วยที่เพิ่งเป็นหรือปวดไม่บ่อย แพทย์จะให้ยากินระยะสั้นๆ เช่น เพร็ดนิโซโลน 40-60 มก.วันละครั้งทุกวันนาน 5 วัน หลังจากนั้นค่อยลดยาลงทีละน้อยจนหยุดยาภายใน 2 - 4 สัปดาห์ หรือในรายที่ปวดตอนกลางคืนแพทย์จะให้เออร์โกตามีน 0.5–1 มก.ส่วนทางทวารหนักก่อนนอนหรือให้กินขนาด 2 มก./วัน
- ส่วนในรายที่ต้องให้ยากินป้องกันระยะยาวแพทย์จะให้เวราพามิล (verapamil) 240 - 480 มก./วัน หรือให้ยากลุ่มอื่น เช่น ลิเทียมคาร์บอเนต อะมิทริปไทลีน ฟลูออกซีทีน โพรพราโนลอล ไซโพรเฮปตาดีน ไดวาลโพรเอต (divalproate)โทพิราเมต (topiramate) คาร์บามาซีพีน (carbamazepine) เป็นต้น ซึ่งมักจะต้องใช้ยาร่วมกันอย่างน้อย 2 ชนิดจึงจะได้ผลดี
- ในรายที่ปวดเรื้อรังที่เป็นอยู่ข้างเดิมตลอดมาและใช้ยากินไม่ได้ผล แพทย์อาจให้การรักษาด้วยการผ่าตัดทำลายเส้นประสาทที่เป็นต้นเหตุซึ่งมีอยู่หลายวิธี เช่น การใช้ความร้อนจากคลื่นวิทยุ (percutaneous radiofrequency ablation) การผ่าตัดด้วยรังสีแกมมา(gamma-knife radioxurgery) การผ่าตัดฝังรังสีอิเล็กโทรด กระตุ้นด้วยไฟฟ้าไว้ในสมองส่วนไฮโพทาลามัส (hypothalamus stimulators implantation) เป็นต้น
[Total: 0 Average: 0]