หากสงสัยให้ส่งโรงพยาบาลด่วน ถ้ามีอาการชักให้ไดอะซีแพม ฉีดเข้าหลอดเลือดดำหรือเหน็บทางทวารหนักเพื่อลดอาการชักเกร็ง ถ้ามีภาวะขาดน้ำหรือช็อก ให้น้ำเกลือไประหว่างทางด้วย
มักวินิจฉัยโดยการเจาะหลัง (lumbar puncture) ซึ่งจะพบความผิดปกติของน้ำไขสันหลัง เช่น ความดันน้ำไขสันหลังสูงกว่าปกติน้ำไขสันหลังขุ่น (ถ้าเกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดเป็นหนอง) มีการเปลี่ยนแปลงของชนิดและปริมาณของเม็ดเลือดขาว มีการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำตาลและโปรตีน ตรวยพบเชื้อก่อโรคจากการนำน้ำไขสันหลังไปตรวจย้อมสี (smear and stain) หรือเพาะเชื้อ (culture) เป็นต้น ความผิดปกติของน้ำไขสันหลังจะมีลักษณะจำเพาะตามสาเหตุของโรค จึงนำมาใช้ในการแยกแยะสาเหตุ
นอกจากนี้ อาจจำเป็นต้องทำการตรวจพิเศษอื่น ๆเช่น ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ ตรวจอุจาระ ถ่ายภาพรังสีปอดและไซนัส ถ่ายภาพสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ การทดสอบทางน้ำเหลืองเพื่อหาระดับสารภูมิต้านทานต่อเชื้อไวรัส เป็นต้น เพื่อค้นหาสาเหตุ และประเมินความรุนแรงของโรค
การรักษา แพทย์จะให้การรักษาตามอาการ (เช่นยาลดไข้ ยากันชัก ปรับดุลสารน้ำและอิเล็กโทรไลต์ เจาะหลังเพื่อลดความดันน้ำไขสันหลัง เจาะคอช่วยหายใจในรายที่หมดสติ ให้อาการทางสายยางในรายที่กินไม่ได้ เป็นต้น) และให้ยารักษาเฉพาะตามสาเหตุ เช่น
- ถ้าเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย จะให้ยาปฏิชีวนะตามชนิดของเชื้อต้นเหตุ
- ถ้าเกิดจากเชื้อวัณโรค จะให้ยารักษาวัณโรค นาน 6 เดือน
- ถ้าเกิดจากเชื้อรา จะให้ยาฆ่าเชื้อ ได้แก่ แอมโฟเทอริซินบี (amphotericin B) ฟลูโคนาโซล (fluconazole)ไอทราโคนาโซล
- ถ้าเกิดจากเชื้อไวรัส ไม่มียารักษาโดยเฉพาะจะให้การรักษาตามอาการ ซึ่งอาการมักจะดีขึ้นภายใน 2-3 สัปดาห์
- ถ้าเกิดจากพยาธิ ไม่มียารักษาโดยเฉพาะ จะให้การรักษาตามอาการและทำการเจาะหลังซ้ำบ่อยๆ เพื่อลดความดันน้ำไขสันหลังให้กลับสู่ปกติ หลังเจาะหลังผู้ป่วยจะรู้สึกอาการดีขึ้นอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ แพทย์อาจพิจารณาให้เพร็ดนิโซโลน ผู้ใหญ่ให้ขนาด 60มก./วัน นาน 2 สัปดาห์ จะช่วยลดระยะเวลาของการปวดศีรษะ และลดจำนวนครั้งของการเจาะหลังลง
- ถ้าเกิดจากเชื้ออะมีบา จะให้ยาแอมโฟเทอริซินบีร่วมกับยาอื่นๆ เช่น ไม่โคนาโซล (miconazole)ไรแฟมพิซิน เตตราไซคลีน เป็นต้น
ผลการรักษา ถ้าอาการไม่รุนแรง และได้รับการ รักษาแต่เนิ่น ๆ มักจะดีขึ้นภายในไม่กี่วัน และหายเป็นปกติภายใน 1-3 สัปดาห์ แต่ถ้าผู้ป่วยมีอาการรุนแรง (เช่น หมดสติ ความดันโลหิตต่ำ) หรือได้รับการรักษาล่าช้าไป หรือพบในทารกแรกเกิดหรือผู้สูงอายุ ก็อาจเสีย ชีวิตหรือมีความพิการทางสมองตามมาได้ บางรายอาจมีโรคลมชักแทรกซ้อน ซึ่งจำเป็นต้องให้ยากันชักเช่น ฟีโนบาร์บิทาล เฟนิโทอิน รักษาอย่างต่อเนื่อง