ขณะนี้ยังไม่มีวิธีการรักษาใดที่จะทำให้โรคพาร์กินสันหายขาดได้ เนื่องจากไม่สามารถหยุดยั้งความเสียหายที่เกิดกับเซลล์สมอง อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีหลายวิธีในการบำบัดรักษาเพื่อควบคุมอาการหรือชะลอไม่ให้โรคเลวลงเร็วนัก เมื่อวินิจฉัยได้แล้วว่าผู้ป่วยเป็นโรคพาร์กินสัน แพทย์จำเป็นต้องวางแผนการรักษา ติดตามอาการ และประเมินผลการรักษาเป็นระยะๆ แตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย
- รักษาด้วยยา ซึ่งแม้ว่ายาจะไม่สามารถทำให้เซลล์สมองที่ตายไปแล้วฟื้นตัวหรือกลับมางอกทดแทนเซลล์เดิมได้ แต่ก็จะทำให้สารเคมีโดปามีนในสมองมีปริมาณเพียงพอกับความต้องการของร่างกายได้ สำหรับยาที่ใช้ในปัจจุบัน คือ ยากลุ่ม LEVODOPA และยากลุ่ม DOPAMINE AGONIST เป็นหลัก (การใช้ยาแต่ละชนิดขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยจากแพทย์ ตามความเหมาะสม)
- ทำกายภาพบำบัด จุดมุ่งหมายของการรักษาก็คือ ให้ผู้ป่วยกลับคืนสู่สภาพชีวิตที่ใกล้เคียงคนปกติที่สุด สามารถเข้าสังคมได้อย่างดี มีความสุขทั้งกายและใจ ซึ่งมีหลักวิธีปฏิบัติง่าย ๆ คือ
- ฝึกการเดินให้ค่อย ๆ ก้าวขาแต่พอดี โดยเอาส้นเท้าลงเต็มฝ่าเท้า และแกว่งแขนไปด้วยขณะเดินเพื่อช่วยในการทรงตัวดี นอกจากนี้ควรหมั่นจัดท่าทางในอิริยาบถต่าง ๆ ให้ถูกสุขลักษณะ รองเท้าที่ใช้ควรเป็นแบบส้นเตี้ย และพื้นต้องไม่ทำมาจากยาง หรือวัสดุที่เหนียวติดพื้นง่าย
- เมื่อถึงเวลานอน ไม่ควรให้นอนเตียงที่สูงเกินไป เวลาจะขึ้นเตียงต้องค่อย ๆ เอนตัวลงนอนตะแคงข้างโดยใช้ศอกยันก่อนยกเท้าขึ้นเตียง
- ฝึกการพูด โดยญาติจะต้องให้ความเข้าอกเข้าใจค่อย ๆ ฝึกผู้ป่วย และควรทำในสถานที่ที่เงียบสงบ
- การผ่าตัด โดยมากจะได้ผลดีในผู้ป่วยที่มีอายุน้อย และมีอาการไม่มากนัก หรือในผู้ที่มีอาการแทรกซ้อนจากยาที่ใช้มาเป็นระยะเวลานาน ๆ เช่น อาการสั่นที่รุนแรง หรือมีการเคลื่อนไหวแขน ขา มากผิดปกติจากยา ปัจจุบันมีการใช้วิธีกระตุ้นไฟฟ้าที่สมองส่วนลึกโดยผ่าตัดฝังไว้ในร่างกาย พบว่ามีผลดี แต่ค่าใช้จ่ายสูงมาก ผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน จำเป็นต้องได้รับการดูแลเอาใจใส่จากคนรอบข้างในการพัฒนาฟื้นฟูด้านร่างกาย รวมถึงจิตใจ ดังนั้นหากท่านมีคนใกล้ชิดที่เป็นโรคชนิดนี้ จึงควรรีบนำมาพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยโรคอันจะนำไปสู่การรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสมต่อไป
[Total: 0 Average: 0]